backup og meta

Chancroid (แผลริมอ่อน) คืออะไร มีวิธีป้องกันอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/10/2022

    Chancroid (แผลริมอ่อน) คืออะไร มีวิธีป้องกันอย่างไร

    Chancroid (แผลริมอ่อน) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยที่ส่งผลให้เกิดแผลบริเวณอวัยวะเพศและรอบ ๆ แผลพุพองเป็นหนอง รวมถึงอาจมีอาการปวดเมื่อเสียดสี หากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายต่อสุขภาพได้ ดังนั้น จึงควรเข้าพบคุณหมอและรับการรักษาอย่างรวดเร็วเมื่อสังเกตพบอาการตุ่มนูนหรือแผลในบริเวณอวัยวะเพศ

    Chancroid คืออะไร

    Chancroid หรือโรคแผลริมอ่อน คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียฮีโมฟิลัส ดูเครย์ (Haemophilus Ducreyi) โดยมีสาเหตุมาจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ป้องกัน หรือการสัมผัสบริเวณที่มีแผลหนองโดยตรงและนำมือไปสัมผัสดวงตา ปาก หรือร่างกายของผู้อื่น ส่งผลให้เชื้อโรคแพร่กระจายติดต่อกัน แผลริมอ่อนมักพบได้บ่อยในผู้ชาย อีกทั้งยังอาจแสดงอาการมากกว่าในผู้หญิง

    อาการของ Chancroid

    อาการของแผลริมอ่อนอาจปรากฏขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยสังเกตได้จากอาการดังต่อไปนี้

  • ตุ่มนูนปรากฏในบริเวณปากช่องคลอด ทวารหนัก ขาหนีบ หนังหุ้มปลายองคชาต อัณฑะ ปลายองคชาต และริมฝีปาก โดยอาจมีขนาด 1-2 นิ้ว
  • อาจมีเลือดคั่งในตุ่ม ขอบแผลชัดเป็นสีเหลืองและเทา
  • มีอาการปวดบริเวณที่เป็นตุ่มเมื่อถูกเสียดสี
  • มีแผลพุพอง เป็นหนอง
  • ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบบวม ทำให้มีอาการปวด
  • ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจาก Chancroid

    แผลริมอ่อนอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้บริเวณที่เชื่อมต่อกับท่อปัสสาวะเป็นรู มีรอยแผลเป็นบนหนังหุ้มปลายองคชาต ทำให้หนังหุ้มปลายไม่สามารถกลับมาห่อหุ้มองคชาตได้เหมือนเดิม และอาจจำเป็นต้องผ่าตัดขลิบหนังหุ้มปลาย นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเอดส์ที่เป็นแผลริมอ่อนอาจใช้ระยะเวลารักษานานกว่าปกติ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ส่งผลให้มีปัญหาในการสมานแผล

    การวินิจฉัยและการรักษา Chancroid

    การวินิจฉัยและการรักษาแผลริมอ่อน อาจทำได้ดังนี้

    การวินิจฉัย Chancroid

    เนื่องจากแผลริมอ่อนมีอาการคล้ายกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น ซิฟิลิส เริม คุณหมอจึงอาจเก็บตัวอย่างของเหลวหรือชิ้นเนื้อบริเวณแผลไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการเพื่อหาชนิดแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ

    การรักษา Chancroid

    การรักษาแผลริมอ่อนทำได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดแผลริมอ่อน ช่วยให้แผลที่เกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศหายไวขึ้น และอาจช่วยป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น โดยใช้ยาดังต่อไปนี้

    • ยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ขนาด 1 กรัม ควรรับประทาน 1 ครั้ง หรือตามดุลพินิจของคุณหมอ
    • ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ขนาด 500 มิลลิกรัม ควรรับประทาน 3 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 7 วัน ติดต่อกัน
    • ยาซิโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) ขนาด 500 มิลลิกรัม ควรรับประทาน 2 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 3 วัน และไม่แนะนำให้ใช้กับสตรีตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงระหว่างให้นมบุตร เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกในครรภ์
    • ยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ขนาด 250 มิลลิกรัม เป็นยาในรูปแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1 ครั้ง

    นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการต่อมน้ำเหลืองบวม คุณหมออาจเจาะหรือกรีดต่อมน้ำเหลือง เพื่อระบายของเหลวออก ซึ่งอาจช่วยลดอาการปวดบวมได้ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการรักษาแผลริมอ่อน ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้าพบคุณหมอภายใน 3-7 วัน หรือตามนัดหมาย เพื่อตรวจอาการและการตอบสนองของยาว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอที่ช่วยรักษาแผลริมอ่อนหรือไม่

    วิธีป้องกัน Chancroid

    การป้องกันแผลริมอ่อนอาจทำได้ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยหรือมีคู่นอนหลายคน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อที่ก่อให้เกิดแผลริมอ่อนหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์
  • หลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น เซ็กส์ทอย ผ้าขนหนู ช้อนส้อม แก้วน้ำ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ที่มีแผลเปิดบนผิวหนังและในช่องปาก
  • งดการมีเพศสัมพันธ์หากมีแผลบริเวณขาหนีบและอวัยวะเพศ ควรรอจนกว่าแผลจะหายสนิท เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • สอบถามประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของคู่นอน
  • สำหรับผู้ที่เป็นแผลริมอ่อน ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด รับประทานยาให้ครบกำหนดจนกว่าจะหาย เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ และลดโอกาสการแพร่กระจายไปยังผู้อื่น
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา