backup og meta

ตรวจมะเร็งปากมดลูก ควรตรวจเมื่อไร ใครคือกลุ่มเสี่ยง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 08/02/2024

    ตรวจมะเร็งปากมดลูก ควรตรวจเมื่อไร ใครคือกลุ่มเสี่ยง

    ตรวจมะเร็งปากมดลูก เป็นการตรวจสุขภาพของปากมดลูกโดยนำเซลล์เนื้อเยื่อไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการเพื่อดูว่าเซลล์ดังกล่าวมีความผิดปกติหรือมีโอกาสเกิดมะเร็งมากน้อยเพียงใด รวมทั้งการตรวจหาเชื้อเอชพีวี (Human Papillomavirus หรือ HPV) อันเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก ทั้งนี้ ผู้หญิงอายุ 25-65 ปี ควรเข้ารับการตรวจมะเร็งปากมดลูกที่สถานพยาบาล เพื่อหาวิธีรับมือและรักษาหากตรวจพบเซลล์ที่ผิดปกติและป้องกันความเสี่ยงจากโรคมะเร็งที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

    มะเร็งปากมดลูก คืออะไร มีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง

    มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่เกิดบริเวณปากมดลูก หรือส่วนล่างของมดลูก ที่เชื่อมต่อกับช่องคลอด

    สาเหตุของมะเร็งชนิดนี้ คือการติดเชื้อเอชพีวี ซึ่งติดต่อกันได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าทางอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก

    ทั้งนี้ อาการของโรคมะเร็งปากมดลูกที่พบได้ ประกอบด้วย

  • ช่องคลอดมีเลือดออก หลังจากมีเพศสัมพันธ์ ระหว่างมีรอบเดือน หรือขณะอยู่ในช่วงวัยทอง
  • ตกขาวใส มีเลือดปน บางครั้งมีปริมาณมากผิดปกติ หรือมีกลิ่นเหม็น
  • ประจำเดือนมามากหรือนานกว่าปกติ
  • ปวดท้องน้อยระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ท้องน้อยบวม
  • ตรวจมะเร็งปากมดลูก มีกี่รูปแบบ

    การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มักช่วยให้ตรวจเจอเซลล์มะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งยังไม่เป็นอันตราย และง่ายต่อการรักษาโดยรูปแบบการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่พบได้ตามสถานพยาบาล ประกอบด้วย

    • การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test) หรือ การตรวจเซลล์วิทยาของปากมดลูก (cervical cytology) คือ การสอดอุปกรณ์ทางการแพทย์เฉพาะเข้าไปในช่องคลอด เพื่อเก็บตัวอย่างเซลล์จากพื้นผิวปากมดลูก รวมถึงบริเวณโดยรอบ แล้วนำไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็งหรือเซลล์ที่ผิดปกติ ที่ยอมรับว่าเป็นวิธีมาตรฐาน มี 2 วิธี ได้แก่ การตรวจแบบดั้งเดิม (conventional cytology หรือ Papanicolaou smear) และการตรวจแบบการป้ายเซลล์จากปากมดลูกใส่ในของเหลว (liquid-based cytology)
    • การตรวจหาเชื้อเอชพีวี คือ การเก็บตัวอย่างเซลล์จากปากมดลูก แล้วนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี เช่นเดียวกับการตรวจแปปสเมียร์ อย่างไรก็ตาม การตรวจหาเชื้อเอชพีวี อาจทำพร้อมกับการตรวจแปปสเมียร์ หรือทำแยกต่างหากก็ได้

    ผู้ที่เข้ารับการตรวจมะเร็งปากมดลูก จะทราบผลตรวจภายใน 2-3 สัปดาห์ ซึ่งหากผลตรวจพบความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก คุณหมอมักแนะนำให้คนไข้เข้ารับการรักษาตามระยะของโรค

    นอกจากนี้ ในบางกรณี คุณหมออาจขอตรวจภายในเพิ่มเติม โดยการใช้กล้องขยายช่องคลอด (Colposcopy) ส่องหาความผิดปกติบริเวณปากมดลูก และหากพบชิ้นเนื้อหรือก้อนเนื้อตำแหน่งที่สงสัยว่าผิดปกติ คุณหมอมักตัดชิ้นเนื้อไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อนำไปวินิจฉัยและหาวิธีรักษาที่เหมาะสมต่อไป

    การเตรียมตัวก่อนตรวจมะเร็งปากมดลูก

    ตรวจมะเร็งปากมดลูก มักตรวจในช่วงที่ไม่มีรอบเดือน ยกเว้นบางกรณีที่ร่างกายผิดปกติ เช่น เกิดเลือดไหลออกทางช่องคลอดไม่หยุด สำหรับผู้ที่ต้องการเข้ารับการตรวจ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมดังต่อไปนี้ประมาณ 2 วันก่อนเข้ารับการตรวจ

    • ทำความสะอาดช่องคลอด ด้วยการสวนล้าง
    • ใช้ผ้าอนามัยแบบสอด
    • มีเพศสัมพันธ์
    • ใช้ยาคุมกำเนิดแบบครีม หรือเจล
    • ใช้ยาปฏิชีวนะหรือครีมทาบริเวณช่องคลอด

    กลุ่มเสี่ยงและกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นการตรวจมะเร็งปากมดลูก

    ผู้หญิงที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรได้รับการตรวจมะเร็งปากมดลูก โดยสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำว่า

  • เริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงที่อายุ ≥ 21 ปี แต่เนื่องจากมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงอายุน้อยกว่า 25 ปีในประเทศไทยนั้นพบได้น้อย ดังนั้นการเริ่มตรวจคัดกรองเร็วเกินไปจึงไม่จำเป็น
  • แนะนำให้เริ่มตรวจคัดกรองสตรีที่เคยมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุ ≥ 25 ปี หรือถ้าไม่เคยมีเพศสัมพันธ์พิจารณาตรวจเมื่ออายุ ≥ 30 ปี
  • ผู้หญิงอายุ 25-65 ปี ไม่ว่าได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวีแล้วหรือยังไม่เคย ควรรับการตรวจมะเร็งปากมดลูกโดยวิธีแปปสเมียร์ทุก ๆ 23 ปี และการตรวจหาเชื้อเอชพีวีทุก ๆ 5 ปี
  • ผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 25 ปีไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรอง ยกเว้น ผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ติดเชื้อเอชไอวี มีคู่นอนหลายคน เป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น
  • ผู้หญิงซึ่งผ่าตัดนำมดลูกและปากมดลูกออกจากร่างกายแล้ว (Hysterectomy) ไม่ต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอีกต่อไป ยกเว้นการผ่าตัดดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการรักษาโรคมะเร็ง สำหรับผู้หญิงที่เคยผ่าตัดมดลูกเพื่อผ่าคลอดหรือรักษาโรคอื่น ๆ ยังควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกต่อไป
  • ผู้หญิงอายุ 65 ปี ขึ้นไป ซึ่งไม่พบประวัติเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกจากการตรวจคัดกรองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่จำเป็นต้องตรวจคัดกรองอีกต่อไป
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 08/02/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา