backup og meta

HPV คือ โรคอะไร และป้องกันได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 25/08/2023

    HPV คือ โรคอะไร และป้องกันได้อย่างไร

    HPV คือ ไวรัสฮิวแมนแพพพิลโลมา (Human papillomavirus) เป็นเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน และการสัมผัสผิวหนัง ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น หูดหงอนไก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งองคชาต มะเร็งทวารหนัก

    HPV คืออะไร

    HPV คือ เชื้อไวรัสฮิวแมนแพพพิลโลมา ที่มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ บางชนิดอาจทำให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศ ทวารหนัก ปาก หรือลำคอ และบางชนิดอาจทำให้เกิดมะเร็ง เช่น HPV16, HPV18, HPV31, HPV33, HPV35 เป็นต้น โดยกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส HPV คือผู้ที่มีระบบมิคุ้มกันอ่อนแอ มีคู่นอนหลายคน มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน และผู้ที่มีแผลเปิดที่อาจทำให้ได้รับเชื้อเมื่อถูกสัมผัส

    HPV แพร่กระจายอย่างไร

    เชื้อไวรัส HPV สามารถแพร่กระจายผ่านทางสารคัดหลั่งเมื่อมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันทางช่องคลอด ทางปาก และทวารหนัก หรืออาจแพร่กระจายผ่านทางรอยถลอกหรือแผลเปิดบนผิวหนัง รวมถึงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น กางเกงชั้นใน เซ็กทอยส์ ผ้าขนหนู

    สำหรับสตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ HPV และหูดขึ้นในบริเวณอวัยวะเพศ อาจแพร่กระจายเชื้อไปสู่ทารกขณะคลอด และอาจส่งผลให้ทารกมีหูดขึ้นในกล่องเสียง

    อาการของการติดเชื้อ HPV

    การติดเชื้อ HPV อาจส่งผลให้เกิดหูดในบริเวณต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ดังนี้

    • หูดที่อวัยวะเพศ อาจปรากฏเป็นแผลหรือตุ่มเล็ก ๆ คล้ายดอกกะหล่ำ บริเวณปากช่องคลอด ในช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก องคชาต หรือถุงอัณฑะ และอาจมีอาการคันทำให้รู้สึกไม่สบายตัว
    • หูดที่มือและนิ้ว มีลักษณะเป็นตุ่มนูนและหยาบกร้าน พบได้บ่อยบริเวณนิ้วมือและฝ่ามือ บางคนอาจรู้สึกเจ็บปวดเมื่อสัมผัส และอาจมีเลือดออก
    • หูดที่ฝ่าเท้า มีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ และแข็ง ในบริเวณส้นเท้า และฝ่าเท้า ที่อาจทำให้รู้สึกไม่สบายเท้าขณะเดิน
    • หูดแบน มีลักษณะเป็นแผลแบนราบกับผิว และมีขอบนูนเล็กน้อย สามารถปรากฏได้ทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า

    นอกจากนี้ การติดเชื้อ HPV ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด แต่อาจใช้ระยะเวลานานกว่า 20 ปี ขึ้นไปในการพัฒนาเป็นโรคมะเร็ง ซึ่งอาจไม่มีอาการที่ปรากฏออกมาชัดเจน ดังนั้น จึงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองทุก ๆ 3-5 ปี

    โรคมะเร็งที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากการติดเชื้อ HPV มีดังนี้

    • มะเร็งปากมดลูก
    • มะเร็งช่องคลอด
    • มะเร็งทวารหนัก
    • มะเร็งอัณฑะ
    • มะเร็งศีรษะและคอ

    HPV รักษาหายไหม

    สำหรับเชื้อไวรัส HPV อาจไม่สามารถรักษาให้หายได้ ซึ่งจะยังคงเหลือไวรัสภายในร่างกายที่อาจปรากฏขึ้นอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม สามารถบรรเทาอาการหูดที่เกิดจากการติดเชื้อ HPV ได้ ดังนี้

    • กรดซลิไซลิก (Salicylic acid) ออกฤทธิ์กระตุ้นการผลัดเซลล์ผิว ใช้เพื่อช่วยขจัดหูดออกทีละชั้น เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นหูดทั่วไป กรดซาลิไซลิกอาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง จึงไม่ควรใช้กับใบหน้า
    • ยาอิมิควิโมด (Imiquimod) เป็นยาในรูปแบบครีมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับการติดเชื้อ HPV ผลข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่ รอยแดงและอาการบวมบริเวณที่ใช้
    • กรดไตรคลอโรอะซิติก (Trichloroacetic acid) เป็นยาใช้รักษาภายนอกที่มีในรูปแบบครีม เจล ที่ช่วยกระตุ้นให้ผิวหนังหลุดลอกจนหูดหลุดออก เหมาะสำหรับใช้กำจัดหูดที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอวัยวะเพศ อาจทำให้เกิดการระคายเคืองเฉพาะที่
    • ยาโพโดฟิลอกซ์ (Podofilox) ใช้เพื่อช่วยทำลายเนื้อเยื่อหูดที่อวัยวะเพศ แต่อาจทำให้เกิดอาการแสบร้อน หรือคันบริเวณที่ทา

    การผ่าตัดและหัตถการอื่น ๆ

    หากใช้ยารักษาหูดไม่ได้ผล คุณหมออาจแนะนำให้กำจัดหูดออกด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    • การเลเซอร์ที่ใช้ลำแสงที่มีความเข้มข้นสูงจี้เอาหูดออก
    • การผ่าตัดหูดออกโดยตรง
    • การจี้ด้วยกระแสไฟฟ้า เพื่อให้เซลล์หูดตายและหลุดออก
    • การแช่แข็งด้วยไนโตรเจนเหลว เพื่อทำให้หูดแข็งตัวและหลุดลอกออกหรืออาจผ่าตัดออก

    การป้องกัน HPV

    วิธีการป้องกันไวรัส HPV มีดังนี้

    • หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนหลายคน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับหูดของตัวเองหรือผู้อื่น และล้างมือให้สะอาดหลังสัมผัสหูดทุกครั้ง อีกทั้งยังไม่ควรกัดเล็บเพราะเชื้อไวรัสอาจอยู่ในซอกเล็บ
    • สวมรองเท้าทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะ เช่น ห้องอาบน้ำ ห้องน้ำสาธารณะ เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ HPV
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ HPV และหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
    • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ
    • ฉีดวัคซีน HPV เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อที่นำไปสู่การเกิดหูดที่อวัยวะเพศและอาจช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูก โดยแนะนำให้ฉีดตั้งแต่อายุ 11-12 ปี ขึ้นไป ให้ครบทั้ง 2 โดส แต่ละโดสห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน สำหรับวัยรุ่นที่มีอายุ 15-26 ปี ขึ้นไป ไม่เกิน 45 ปี ควรได้รับวัคซีน 3 โดส โดยฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1-2 เดือน และเว้นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ก่อนจะฉีดเข็มที่ 3 ซึ่งเป็นเข็มสุดท้าย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 25/08/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา