backup og meta

Erectile Dysfunction คืออะไร และรักษาได้หรือไม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 25/01/2023

    Erectile Dysfunction คืออะไร และรักษาได้หรือไม่

    Erectile Dysfunction คือ ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือ ภาวะองคชาตไม่แข็งตัวเพียงพอ ส่งผลให้มีปัญหาเมื่อต้องการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพทางเพศของผู้ชายที่อาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ความเครียด โรคบางอย่าง ระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง การบาดเจ็บ ดังนั้น หากสังเกตพบอาการผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แน่ชัดและทำการรักษาในทันที

    Erectile Dysfunction คืออะไร

    Erectile Dysfunction คือ ปัญหาสุขภาพทางเพศของผู้ชายที่องคชาตไม่สามารถแข็งตัวได้เต็มที่หรือนานพอที่จะสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้จนพึงพอใจ ซึ่งอาจทำให้หมดอารมณ์ทางเพศ สำเร็จความใคร่เร็วเกินไป หรือไม่สามารถสำเร็จความใคร่ได้  โดยภาวะองคชาตไม่แข็งตัวอาจเกิดจากสาเหตุ ดังต่อนี้

  • ปัญหาทางด้านจิตใจ เช่น ความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า กลัวการมีเพศสัมพันธ์เนื่องจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ จึงอาจส่งผลให้ปฏิกิริยาการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศลดลง ไม่สามารถปลดปล่อยอารมณ์ทางเพศออกมาได้อย่างเต็มที่ ทำให้อวัยวะเพศของผู้ชายไม่แข็งตัวและนำไปสู่ภาวะเสื่อมสมรรถทางเพศ
  • โรคบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคพาร์กินสัน ภาวะฮอร์โมนเพศต่ำ โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง เส้นเลือดอุดตัน โรคต่อมไทรอยด์ ต่อมลูกหมากโต กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing Syndrome) โรคพีโรนี (Peyronie’s Disease) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่อาจมีความเกี่ยวข้องกับระบบประสาทและหลอดเลือด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการควบคุมการแข็งตัวขององคชาต จึงส่งผลให้องคชาตไม่แข็งตัวหรือมีความต้องการทางเพศลดลง
  • ยาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท ยาแก้แพ้ ยารักษาความดันโลหิตสูง ยาบรรเทาอาการวิตกกังวล ยาขับปัสสาวะ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการแข็งตัวขององคชาต หรืออาจส่งผลให้ความต้องการทางเพศลดลงได้
  • การสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะผู้ที่ดื่มหนักและต่อเนื่องเป็นเวลานาน ที่อาจส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของเลือดที่นำไปหล่อเลี้ยงอวัยวะสืบพันธุ์ จึงส่งผลให้องคชาตไม่แข็งตัวและนำไปสู่ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
  • การบาดเจ็บบริเวณอวัยวะเพศ เช่น การฉายรังสี การผ่าตัด รวมถึงการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ อาจทำลายเส้นประสาทและหลอดเลือดบริเวณอวัยวะเพศ ส่งผลให้องคชาติไม่แข็งตัวถึงแม้ว่าจะมีอารมณ์ทางเพศหรือถูกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ และนำไปสู่ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
  • ความผิดปกติของภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งอาจจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ความรู้สึกและความต้องการทางเพศลดลง อวัยวะเพศแข็งตัวลดลงโดยเฉพาะในตอนเช้า รู้สึกไม่มีแรง อ่อนเพลีย ความตั้งใจในการทำงานลดลง หรืออาจจะพบได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูงหรือต่ำกว่าปกติ
  • อาการของภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

    อาการของภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศอาจมีดังนี้

    • อวัยวะเพศไม่แข็งตัว
    • ความต้องการทางเพศต่ำหรือไม่มีความสนใจทางเพศ
    • มีความต้องการทางเพศในระยะเวลาสั้น และอาจหมดลงระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์
    • ไม่สำเร็จความใคร่ถึงแม้ว่าจะมีอารมณ์ทางเพศและถูกกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ
    • หลั่งเร็วเกินไป ไม่สามารถคงสภาพการแข็งตัวขององคชาตได้นาน

    ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศสามารถรักษาได้หรือไม่

    ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศที่มีสาเหตุมาจากความเหนื่อยล้า ความเครียด และความวิตกกังวล ปกติแล้วจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและสามารถหายเองได้ แต่หากมีอาการหนักขึ้น หรือเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ อาจจำเป็นต้องเข้ารับการวินิจฉัยโดยคุณหมอด้วยการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และอัลตราซาวด์ เพื่อรักษาตามความเหมาะสมด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    การรักษาด้วยยา

    • ซิลเดนาฟิล (Sildenafil) หรือไวอาก้า เป็นยาในรูปแบบรับประทาน เพื่อรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ โดยออกฤทธิ์ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะเพศชาย ทำให้องคชาตสามารถแข็งตัวได้นานขึ้น ซิลเดนาฟิลมีในรูปแบบเม็ดและสารแขวนลอย โดยควรใช้ก่อนการมีเพศสัมพันธ์ 1 ชั่วโมง สามารถทำให้อวัยวะเพศแข็งตัวได้นานประมาณ4 ชม. และไม่ควรรับประทานมากกว่า 1 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง สำหรับยาแบบสารแขวนลอยควรเขย่าก่อนรับประทาน
    • ทาดาลาฟิล (Tadalafil) เป็นยาในรูปแบบเม็ดสำหรับรับประทาน ใช้เพื่อรักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังองคชาตให้เกิดการแข็งตัว โดยควรรับประทานวันละ 1 ครั้ง และไม่ควรแบ่งหรือหักยา เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง
    • วาร์เดนาฟิล (Vardenafil) เป็นยาในรูปแบบเม็ดสำหรับรับประทาน ใช้เพื่อรักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โดยเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังองคชาตให้เกิดการแข็งตัว โดยควรรับประทานก่อนการมีเพศสัมพันธ์ 1 ชั่วโมง ไม่ควรรับประทานมากกว่า 1 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียง เช่น องคชาตแข็งตัวยาวนานกว่า 4 ชั่วโมง ท้องเสีย ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ มองเห็นเป็นภาพซ้อน หายใจลำบาก ผื่นลมพิษ
    • อวานาฟิล (Avanafil) ) เป็นยาในรูปแบบรับประทาน ใช้เพื่อช่วยรักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โดยเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังองคชาตให้เกิดการแข็งตัว โดยควรรับประทานก่อนการมีเพศสัมพันธ์ 15-30 นาที และไม่ควรรับประทานมากกว่า 1 ครั้ง/วัน เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เช่น วิงเวียนศีรษะ มีปัญหาการมองเห็น ใบหน้าและลิ้นบวม เป็นลมหมดสติ
    • ยาอัลพรอสตาดิล (Alprostadil) มีในรูปแบบฉีดบริเวณองคชาต และยาเหน็บในท่อปัสสาวะ เพื่อช่วยรักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โดยช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังองคชาตและช่วยให้องคชาตแข็งตัวจนสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้

    เครื่องปั๊มอวัยวะเพศ

    เป็นอุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นท่อยาวและมีที่ปั๊มด้วยมือหรืออาจใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ โดยการใช้ปั๊มดูดอากาศภายในท่อออกเพื่อสร้างสุญญากาศ ที่อาจช่วยกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนมาหล่อเลี้ยงบริเวณอวัยวะเพศ ทำให้องคชาตแข็งตัว ซึ่งเป็นวิธีที่อาจช่วยรักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้เพียงชั่วคราว และมักใช้เมื่อต้องการมีเพศสัมพันธ์ อีกทั้งควรศึกษาวิธีการใช้เครื่องปั๊มอวัยวะเพศอย่างถูกต้องเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง เช่น องคชาตมีอาการช้ำ เกิดการบาดเจ็บ

    การปลูกถ่ายอวัยวะเพศชาย

    คุณหมออาจผ่าตัดเพื่อฝังอุปกรณ์เทียมที่มีความยืดหยุ่นและสามารถงอได้ เพื่อช่วยควบคุมการแข็งตัวของอวัยวะเพศ การรักษา Erectile Dysfunction ด้วยวิธีนี้อาจไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เพราะแผลจากการผ่าตัดอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่อาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะสืบพันธุ์ส่วนอื่น ๆ ได้

    การบำบัดทางจิตใจ

    เป็นวิธีรักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านจิตใจ เช่น ภาวะซึมเศร้า ความเครียด วิตกกังวล และถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องและใช้เวลานาน

    การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของ Erectile Dysfunction

    ควรเข้ารับการรักษาโรคต่าง ๆ ที่กำลังเป็นอยู่ เพื่อช่วยบรรเทาอาการของภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อตรวจคัดกรองโรค

    นอกจากนี้ ยังควรรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดความเครียด เลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำ เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้อวัยวะเพศแข็งตัวได้ง่ายเมื่อมีอารมณ์ทางเพศ ที่อาจช่วยทำให้สามารถทำกิจกรรมทางเพศได้อย่างราบรื่น และอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 25/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา