backup og meta

Priapism หรือ ภาวะองคชาตแข็งค้าง อาการและวิธีรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/04/2023

    Priapism หรือ ภาวะองคชาตแข็งค้าง อาการและวิธีรักษา

    Priapism หรือ ภาวะองคชาตแข็งค้าง อาจเกิดขึ้นเมื่อเลือดไหลเวียนจากองคชาตกลับสู่หัวใจไม่ได้และคั่งค้างอยู่ในองคชาต ส่งผลให้องคชาตแข็งค้างเป็นเวลาหลายชั่วโมง โดยทั่วไปภาวะนี้ไม่ได้เกิดจากการกระตุ้นทางเพศ แต่อาจเกิดจากโรคเลือด การใช้ยารักษาโรค การใช้แอลกอฮอล์และสารเสพติด การบาดเจ็บที่องคชาต เป็นต้น ภาวะนี้เป็นภาวะอันตราย หากสังเกตว่าตัวเองมีอาการองคชาตแข็งค้างนานเป็นเวลาหลายชั่วโมง ร่วมกับมีอาการปวดมาก จึงควรไปพบคุณหมอเพื่อรับความช่วยเหลือให้เร็วที่สุด

    Priapism คืออะไร

    ไพรอาพิซึม คือ ภาวะองคชาตแข็งค้าง หรือ ภาวะอวัยวะเพศแข็งตัวค้าง หมายถึง ภาวะที่อวัยวะเพศชายบางส่วนหรือทั้งหมดแข็ง เกร็ง หรือค้างนานกว่าปกติ ไม่เข้าสู่ระยะอ่อนตัว เนื่องจากเลือดไม่สามารถไหลเวียนออกจากองคชาตกลับสู่หัวใจได้ ส่งผลให้รู้สึกเจ็บบริเวณองคชาต ความผิดปกติดังกล่าวสามารถพบได้ในผู้ชายทุกวัย ส่วนใหญ่จะพบในเด็กผู้ชายอายุ 5-10 ขวบ หรือในผู้ชายอายุ 20-50 ปี การแข็งตัวขององคชาตในลักษณะนี้ไม่ได้มาจากความต้องการทางเพศหรือการกระตุ้นทางเพศ และมักไม่สามารถทำให้ผ่อนคลายลงได้ด้วยการถึงจุดสุดยอด หากพบว่าองคชาตแข็งค้างติดต่อกันนานกว่า 4 ชั่วโมง ควรรีบไปพบคุณหมอทันที เพราะหากปล่อยไว้ อาจทำให้ขาดเลือด อักเสบ และเป็นอันตรายร้ายแรงได้

    Priapism เกิดจากสาเหตุใด

    ตามปกติแล้ว เมื่อถูกกระตุ้นทางเพศ หรือมีความต้องการทางเพศ องคชาตจะแข็งตัวและขยายใหญ่ขึ้น เนื่องจากมีเลือดดำคั่งอยู่ภายในองคชาต เมื่อการกระตุ้นจบลง เลือดจะไหลเวียนออกจากองคชาตและส่งผลให้องคชาตกลับมาอ่อนตัวลงตามปกติ

    ในกรณีของภาวะองคชาตแข็งค้าง อาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดในบางบริเวณ เช่น หลอดเลือด กล้ามเนื้อเรียบ เส้นประสาท เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และส่งผลให้องคชาตแข็งตัวค้าง ทั้งนี้ สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดภาวะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ แต่อาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงหรือสิ่งกระตุ้นต่อไปนี้

    โรคเลือด (Blood disorders)

    โดยทั่วไป โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle-cell disease หรือ SCD) ซึ่งเป็นภาวะที่เม็ดเลือดแดงมีรูปทรงผิดปกติจึงหยืดหยุ่นได้ไม่ดี และอุดตันในเส้นเลือดตามบริเวณต่าง ๆ ถือเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็กผู้ชายที่เกิดภาวะนี้ นอกจากนี้ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) โรคเกี่ยวกับความผิดปกติทางเม็ดเลือดอย่างโรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) และโรคมัลติเพิลมัยอีโลม่า (Multiple Myeloma) ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะ Priapism ได้เช่นกัน

    ยารักษาโรคตามคำสั่งแพทย์

    ภาวะองคชาตแข็งค้างอาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาต่อไปนี้

    • ยาชนิดฉีดเข้าไปในองคชาตโดยตรงเพื่อรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เช่น อัลพรอสตาดิล (Alprostadil) ปาปาเวอรีน (Papaverine) เฟนโทลามีน (Phentolamine)
    • ยาต้านเศร้า (Antidepressant) เช่น ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) บูโพรพิออน (Bupropion) ทราโซโดน (Trazodone) เซอทราลีน (Sertraline)
    • ยากลุ่มแอลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha blockers) ที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูง เช่น พราโซซิน (Prazosin) เทราโซซิน (Terazosin) โดซาโซซิน (Doxazosin) แทมซูโลซิน (Tamsulosin)
    • ยารักษาโรควิตกกังวลหรือโรคจิตเวช เช่น ไฮดรอกซีซีน (Hydroxyzine) ริสเพอริโดน (Risperidone) โอลันซาปีน (Olanzapine) ลิเธียม (Lithium) โคลซาพีน (Clozapine) คลอโปรมาซีน (Chlorpromazine) ไธโอริดาซีน (Thioridazine)
    • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) เฮพาริน (Heparin)
    • ฮอร์โมนบางชนิด เช่น เทสโทสเตอโรน (Testosterone) โกนาโดโทรปิน รีลิสซิ่ง (Gonadotropin releasing hormone หรือ GnRH)
    • ยาที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้น เช่น เมทิลเฟนิเดต (Methylphenidate) อะโทม็อกซีทีน (Atomoxetine)

    แอลกอฮอล์และยาเสพติด

    การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงการใช้สารเสพติด เช่น กัญชา โคเคน อาจทำให้เกิดภาวะองคชาตแข็งค้างได้ โดยเฉพาะอาการองคชาตแข็งค้างชนิดขาดเลือดซึ่งเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด

    การบาดเจ็บ

    การบาดเจ็บขององคชาต หรือฝีเย็บ (อยู่ระหว่างทวารหนักและอัณฑะ) อาจทำให้เนื้อเยื่อหลอดเลือดฉีกขาด  จนทำให้มีอาการองคชาตแข็งค้างชนิดไม่ขาดเลือด ส่งผลให้องคชาตมีอาการแข็งเกร็ง และค้างอยู่เช่นนั้นเป็นเวลาหลายชั่วโมง

    ปัจจัยอื่น ๆ เช่น

    • แมลงกัดต่อย
    • โรคเกาต์
    • โรคอะไมลอยด์โดสิส (Amyloidosis) เป็นโรคที่ร่างกายสร้างโปรตีนบางชนิดมากเกินไปทำให้อวัยวะทำงานผิดปกติ
    • ความผิดปกติของระบบประสาท เช่น ไขสันหลังบาดเจ็บ การติดเชื้อซิฟิลิส
    • โรคมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณองคชาต

    การของPriapism

    อาการของภาวะองคชาตแข็งค้าง อาจแตกต่างกันไปตามประเภท ดังนี้

    องคชาตแข็งค้างชนิดขาดเลือด (Ischemic Priapism) เกิดขึ้นเมื่อเลือดไม่สามารถไหลเวียนออกจากองคชาตได้และคั่งอยู่ภายในจนองคชาตแข็งค้าง เป็นประเภทที่ควรได้รับการรักษาทันทีเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการขาดออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อองคชาต ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศถาวรได้

    สัญญาณและอาการที่พบ เช่น

  • องคชาตแข็งตัวนานกว่า 4 ชั่วโมง หรือการแข็งตัวไม่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นทางเพศ
  • แกนกลางขององคชาตแข็ง แต่ส่วนปลายคลายตัว
  • อาการปวดองคชาตแย่ลงเรื่อย ๆ
  • องคชาตแข็งค้างชนิดไม่ขาดเลือด (Nonischemic Priapism) เกิดขึ้นเมื่อการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดแดงขององคชาตผิดปกติ หรือองคชาตไม่สามารถหดตัวได้ แต่ยังคงมีเลือดและออกซิเจนไหลเวียนบริเวณองคชาตได้อยู่บ้าง มักเกิดจากการบาดเจ็บบริเวณองคชาต

    สัญญาณและอาการที่พบ เช่น

  • องคชาตแข็งตัวนานกว่า 4 ชั่วโมง หรือการแข็งตัวไม่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นทางเพศ
  • แกนองคชาตตั้งตรงแต่ไม่แข็งตัวเต็มที่
  • โดยทั่วไปแล้วไม่ทำให้มีอาการเจ็บ
  • การรักษา Priapism

    การรักษาภาวะนี้อาจขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว โดยทั่วไป คุณหมอจะมุ่งเน้นไปที่การลดอาการแข็งตัวขององคชาตและรักษาความสามารถในการแข็งตัวขององคชาตในอนาคต หากพบคุณหมอภายใน 4 ชั่วโมงแรก อาจรักษาด้วยการใช้ยาหดหลอดเลือด (Decongestant) ซึ่งอาจช่วยลดการไหลเวียนของเลือดไปยังองคชาตได้

    นอกจากนี้ยังอาจรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น

    • การเจาะเอาเลือดที่คั่งอยู่ในองคชาตออก คุณหมอจะฉีดยาชาที่องคชาตก่อน แล้วใช้เข็มเจาะระบายเลือดที่คั่งค้างอยู่ในองคชาตออก เพื่อลดแรงดันและอาการบวม
    • การฉีดยาองคชาต คุณหมอจะฉีดยาที่ช่วยคลายกล้ามเนื้อและช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว โดยอาจใช้วิธีนี้หลังเจาะเอาเลือดออกแล้ว ส่วนใหญ่จะช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
    • การผ่าตัด ใช้ในกรณีที่หลอดเลือดแดงแตก คุณหมอจะมัดหลอดเลือดแดงที่แตกจนเป็นสาเหตุให้ลิ่มเลือดอุดตัน เพื่อให้การไหลเวียนของเลือดกลับสู่ภาวะปกติ

    สำหรับผู้ที่มีอาการเล็กน้อย เช่น อาการบาดเจ็บที่อวัยวะเพศหรือขาหนีบ คุณหมออาจวินิจฉัยด้วยการอัลตราซาวด์เพื่อยืนยันสาเหตุ หากพบว่าเป็นภาวะองคชาตแข็งค้างชนิดไม่ขาดเลือดจากการบาดเจ็บ อาจให้กลับบ้านโดยไม่ต้องรับการรักษาที่เฉพาะเจาะจงเหมือนกับภาวะองคชาตแข็งค้างชนิดขาดเลือด

    หากองคชาตแข็งตัวนานผิดปกติ ในช่วงแรกอาจลองสังเกตอาการของตัวเองไปก่อน พร้อมกับดูแลตัวเองเบื้องต้นด้วยวิธีต่อไปนี้ โดยทั่วไป อาการจะดีขึ้นภายใน 2 ชั่วโมง

    • ถ่ายปัสสาวะ
    • อาบน้ำอุ่น
    • ดื่มน้ำมาก ๆ
    • เดินเบา ๆ
    • กินยาแก้ปวด
    • ไม่ประคบน้ำแข็งเพราะอาจทำให้อาการแย่ลง
    • ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่หรือใช้ยาเสพติด ขณะมีอาการองคชาตแข็งค้าง
    • ไม่มีเพศสัมพันธ์และช่วยตัวเอง ขณะมีอาการองคชาตแข็งค้าง

    ทั้งนี้ หากมีอาการองคชาตแข็งค้างนานเกิน 2 ชั่วโมง ควรไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด

    ภาวะนี้สามารถป้องกันได้หรือไม่

    ภาวะองคชาตแข็งค้างมักเกิดขึ้นฉับพลันและไม่อาจป้องกันได้ 100% แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงหรือสิ่งกระตุ้นดังที่กล่าวไปข้างต้น อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะนี้ได้

    ‘Priapism’ ภาวะที่ควรไปพบคุณหมอโดยด่วน

    ภาวะ Priapism เป็นภาวะที่ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้หรือรักษาด้วยตัวเอง เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมจากคุณหมอ อาจเสี่ยงเกิดแผลเป็นและภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศถาวรได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา