backup og meta

Sex Addiction โรคติดเซ็กส์สัญญาณที่ไม่ควรมองข้าม

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/04/2023

    Sex Addiction โรคติดเซ็กส์สัญญาณที่ไม่ควรมองข้าม

    Sex Addiction เป็นโรคเสพติดเซ็กส์ที่อาจเกิดขึ้นได้จากปัญหาสุขภาพร่างกายหรือปัญหาสุขภาพจิต โดยหากจินตนาการหรือพฤติกรรมทางเพศกระทบต่อการใช้ชีวิตของตัวเองและสร้างปัญหาให้กับผู้อื่น อาจเป็นไปได้ว่ากำลังเป็นโรคเสพติดเซ็กส์ที่ควรเข้าพบคุณหมอก่อนอาการจะรุนแรงมากขึ้น

    Sex Addiction คือ

    Sex Addiction หรือ โรคเสพติดเซ็กส์ คือ โรคที่ทำให้บุคคลมีจินตนาการ ความสนใจ มีแรงกระตุ้นหรือมีกิจกรรมทางเพศที่ไม่สามารถควบคุมได้ จนทำให้เกิดความทุกข์ใจและปัญหาต่อการใช้ชีวิต เช่น อันตรายต่อสุขภาพ ความสัมพันธ์ การทำงาน การเรียน

    แบบไหนถึงจะเรียกว่าติดเซ็กส์

    คนที่ทั่วไปเมื่อมีอารมณ์ทางเพศสามารถระบายอารมณ์ได้หลายรูปแบบ เช่น ช่วยตัวเอง ดูภาพลามกอนาจาร เซ็กส์โฟน การมีคู่นอนหลายคน ซึ่งหากอยู่ในปริมาณที่ไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตก็ยังถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่หากบุคคลมีความคิดและมีกิจกรรมทางเพศที่มากเกินไปจนกระทบต่อการใช้ชีวิตของตัวเองและคู่รัก ก็อาจจะเข้าข่ายเป็นโรคเสพติดเซ็กส์ได้

    สัญญาณของโรคเสพติดเซ็กส์

    สัญญาณบางอย่างเหล่านี้อาจบ่งบอกได้ว่ากำลังเป็นโรคเสพติดเซ็กส์

    • หมกหมุ่นกับเรื่องเพศ มีจินตนาการ แรงกระตุ้น และพฤติกรรมทางเพศที่รุนแรงและเกิดขึ้นซ้ำ ๆ จนไม่สามารถควบคุมได้และกระทบต่อการใช้ชีวิต
    • ช่วยตัวเองและดูสื่ออนาจารบ่อยครั้ง
    • ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมทางเพศบางอย่างได้ โดยจะรู้สึกอยากมีเซ็กบ่อยครั้ง และรู้สึกผ่อนคลายอย่างมากหลังจากถึงจุดสุดยอด แต่ก็อาจมีความรู้สึกผิดร่วมด้วย
    • พยายามลดหรือควบคุมตัวเอง โดยจะรู้สึกพยายามควบคุมจินตนาการ แรงกระตุ้น หรือพฤติกรรมทางเพศตัวเอง แต่ไม่สามารถทำได้
    • ทำพฤติกรรมทางเพศเพื่อหลีกหนีจากปัญหา เช่น ความเหงา ความหดหู่ ความวิตกกังวล ความเครียด
    • มีส่วนร่วมในพฤติกรรมทางเพศที่อันตราย เช่น ความรุนแรงขณะมีเพศสัมพันธ์ มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันจนเสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
    • มีปัญหาในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีและมั่นคง

    ภาวะแทรกซ้อนของโรคเสพติดเซ็กส์

    โรคเสพติดเซ็กส์อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้

    • อาจเกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่างคู่รัก
    • ประสิทธิภาพการทำงานลดลง หรืออาจต้องออกจากงาน เพราะไม่สมาธิในการทำงาน
    • ผลกระทบด้านสุขภาพ เช่น การตั้งครรภ์ การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (เช่น เอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบีและซี โรคซิฟิลิส โรคหนองใน)
    • อาจต้องใช้ยาหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น เพื่อช่วยในการนอนหลับ
    • บางคนอาจเกิดปัญหาทางสุขภาพจิต เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ความคิดอยากฆ่าตัวตาย
    • บางคนอาจเสี่ยงติดคุกเพราะไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมทางเพศของตัวเองได้จนไปล่วงละเมิดทางเพศผู้อื่น
    • บางคนอาจมีความผิดปกติทางอารมณ์ รวมถึงอาจเกิดความรู้สึกผิด ความอับอาย และความสิ้นหวังหลังจากเสร็จกิจกรรมทางเพศ

    เมื่อไหร่ควรพบคุณหมอ

    ควรเข้าพบคุณหมอหากไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมทางเพศของตัวเองได้ โดยเฉพาะหากพฤติกรรมทางเพศกระทบต่อการใช้ชีวิตและสร้างปัญหาให้กับผู้อื่น นอกจากนี้ ควรเข้ารับการรักษาโดยเร็วเพราะหากปล่อยไว้ความรุนแรงอาจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา