backup og meta

ถอดเล็บ ขั้นตอนการรักษาและการดูแล

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/02/2024

    ถอดเล็บ ขั้นตอนการรักษาและการดูแล

    ถอดเล็บ เป็นวิธีรักษาทางการแพทย์โดยการตัดเล็บบางส่วนหรือถอดเล็บ ที่มีการติดเชื้อ หรือได้รับบาดเจ็บบริเวณเล็บอย่างรุนแรงออกทั้งหมด เช่น เล็บฉีกขาด เล็บขบ ซึ่งจะใช้เวลาไม่นานในการรักษา แต่สำหรับเล็บที่งอกใหม่ตามธรรมชาติอาจใช้เวลานานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน

    ทำไมต้องถอดเล็บ

    การถอดเล็บ เป็นวิธีการรักษารูปแบบหนึ่งหากผู้ป่วยมีอาการปวดหรือติดเชื้อรุนแรงบริเวณเล็บ คุณหมออาจต้องรักษาด้วยการถอดเล็บ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้เล็บงอกใหม่และแข็งแรงขึ้น

    สาเหตุที่อาจต้องรักษาด้วยการถอดเล็บ มีดังนี้

    • เล็บขบ
    • เกิดการบาดเจ็บที่เล็บ หรือเล็บฉีกขาดอย่างรุนแรง
    • เล็บเกิดการติดเชื้อ โดยมีอาการบวมแดง มีหนอง มีกลิ่นเหม็น เจ็บปวด และมีไข้
    • เล็บหนา (Onychogryphosis) ที่อาจเกิดจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด โรคสะเก็ดเงิน หรือการใส่รองเท้าที่คับแน่นเกินไป

    ขั้นตอนการถอดเล็บ

    ก่อนเริ่มการรักษาด้วยวิธีถอดเล็บ คุณหมอจะฉีดยาชาเฉพาะที่เพื่อทำให้บริเวณที่ต้องการรักษาชา และล้างทำความสะอาดบริเวณที่ต้องทำการรักษาด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ

    จากนั้น เมื่อบริเวณเล็บเริ่มชา คุณหมอจะทำการถอดเล็บออกทั้งหมดหรืออาจถอดเล็บเพียงบางส่วน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและการพิจารณาของคุณหมอ

    หลังจากถอดเล็บเรียบร้อย คุณหมอจะทายาปฏิชีวนะชนิดขี้ผึ้ง และปิดแผลด้วยผ้าพันแผล นอกจากนี้ คุณหมออาจสั่งยาปฏิชีวนะให้ผู้ป่วยเพื่อใช้รักษาแผลที่บ้าน

    ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการถอดเล็บ

    ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังจากการถอดเล็บได้ ดังนี้

  • การติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งป็นการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นหลังหรือระหว่างการรักษา
  • การติดเชื้อราที่เล็บ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในผิวหนังใต้เล็บเมื่อเล็บงอกมาใหม่
  • ผื่นแพ้สัมผัส (Allergic Contact Dermatitis) ซึ่งอาจเกิดจากการแพ้ยาที่ใช้ในการรักษา
  • เล็บเท้าผิดรูป ในบางคนเล็บเท้าอาจงอผิดรูป หรือเล็บอาจไม่งอกใหม่
  • ผู้ป่วยที่เป็นเล็บขบ หลังจากการักษาอาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีก
  • การดูแลแผลหลังถอดเล็บ

    หลังจากการถอดเล็บ ผู้ป่วยควรทำตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด และใช้ยาตามใบสั่งแพทย์เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ดังนี้

    • ล้างแผลด้วยน้ำเกลือชนิดนอร์มัลซาไลน์ (Normal saline solution หรือ NSS) ซึ่งเป็นสารละลายปราศจากเชื้อความเข้มข้น 0.9%
    • กินยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หากมีอาการปวดหรือบวม
    • ทายาปฏิชีวนะตามใบสั่งแพทย์ และในช่วงสัปดาห์แรกหลังการรักษาให้ปิดแผลด้วยผ้าพันแผล จนกว่าแผลจะสมานตัว
    • เมื่อแผลเริ่มสมานตัว ผู้ป่วยอาจเปิดผ้าพันในเวลานอน เพื่อไม่ให้แผลอับชื้น
    • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ออกกแรงกดบริเวณเล็บ
    • สวมรองเท้าเปิดนิ้วเท้า หรือรองเท้าที่ไม่รัดแน่น

    ส่วนใหญ่หลังจากการถอดเล็บภายในไม่กี่สัปดาห์ แผลจะสมานตัวและอาการเจ็บปวดบริเวณแผลจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่สำหรับเล็บที่งอกใหม่อาจต้องใช้ระยะเวลาหลายเดือน ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/02/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา