backup og meta

ทำเล็บ ข้อดีและข้อเสียที่ควรรู้เพื่อสุขภาพเล็บที่ดี

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 13/06/2023

    ทำเล็บ ข้อดีและข้อเสียที่ควรรู้เพื่อสุขภาพเล็บที่ดี

    การ ทำเล็บ มีรูปแบบและสีสันให้เลือกมากมาย จึงทำให้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะทำให้เล็บสวยงาม และเพิ่มความมั่นใจแล้ว การทำเล็บยังอาจช่วยทำให้เล็บดูสะอาดและมีสุขภาพดี อย่างไรก็ตาม สารเคมีในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำเล็บ เช่น ยาทาเล็บ น้ำยาล้างเล็บ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ต่อเล็บ อาจมีข้อเสียบางประการที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเล็บและสุขภาพผิวได้ ดังนั้น จึงควรทราบถึงข้อดีและข้อเสียของการทำเล็บก่อนตัดสินใจเข้ารับบริการ

    ทำเล็บ มีข้อดีอะไรบ้าง

    การทำเล็บอาจมีข้อดีที่ส่งผลดีต่อสุขภาพเล็บ ดังนี้

    • อาจช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย การทำเล็บถือเป็นการพักผ่อนหย่อนใจที่อาจส่งผลดีต่อสุขภาพจิต เนื่องจากการทำเล็บในบางครั้งอาจมีการนวดมือหรือใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีกลิ่นหอม ซึ่งอาจช่วยบำบัดอาการเหนื่อยล้าและช่วยให้ผ่อนคลายมากขึ้น
    • อาจช่วยเพิ่มความสวยงามและความมั่นใจ เล็บอาจถือเป็นเครื่องประดับชนิดหนึ่งบนร่างกาย การทำเล็บให้สะอาด มีสุขภาพดีและมีสีสันสวยงาม จึงอาจช่วยเพิ่มความมั่นใจได้

    ข้อเสียของการทำเล็บ

    การทำเล็บที่มากเกินไปหรือผิดวิธีอาจส่งผลเสียต่อเล็บได้ ดังนี้

    • อาจเกิดความระคายเคืองและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เครื่องมือทำเล็บหากไม่ได้ทำความสะอาดอย่างถูกต้องอาจเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรคและแพร่กระจายเชื้อได้ รวมทั้งสารเคมีในน้ำยาล้างเล็บอาจทำให้เล็บแห้ง ระคายเคือง และอาจทำให้ผิวหนังอักเสบและติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ส่งผลทำให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบได้
    • อาจทำให้เล็บบาง เล็บเหลือง แห้ง เปราะและอ่อนแอ น้ำยาทาเล็บมีสารเคมีหลายชนิด เช่น โทลูอิน (Toluene) ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) ที่อาจทำให้เล็บแห้ง บาง เหลืองและแตกได้ โดยเฉพาะการทำเล็บเจลที่ก่อนทำเล็บจำเป็นต้องตะไบหน้าเล็บออกเพื่อให้สียึดเกาะได้ดีขึ้น ส่วนขั้นตอนการล้างเล็บเจลนั้นจำเป็นต้องนำเล็บไปแช่ในน้ำยาล้างเล็บ เพื่อให้สีพองตัวและต้องขูดสีเจลออก ซึ่งสารเคมีและขั้นตอนเหล่านี้อาจทำให้หน้าเล็บถูกทำลาย ส่งผลให้เล็บเหลือง เล็บบาง เล็บอ่อนแอ เปราะ ฉีกและแห้งแตกได้ง่ายขึ้น
    • อาจเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนัง สารเคมีในน้ำยาทาเล็บทั้งแบบธรรมดาและแบบสีเจลอาจมีสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะการทำเล็บเจลที่จำเป็นต้องอบเล็บด้วยเครื่องฉายแสงอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวี ซึ่งหากสัมผัสซ้ำ ๆ เป็นเวลานานก็อาจเสี่ยงในการเป็นมะเร็งผิวหนังได้

    สารเคมีในยาทาเล็บอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ

    ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการทำเล็บอาจมีส่วนผสมของสารเคมีที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยสารเคมีต่าง ๆ อาจมีดังนี้

    • โทลูอีน เป็นส่วนผสมในยาทาเล็บมีคุณสมบัติช่วยให้สีเรียบเนียนและสีไม่แยกชั้นกัน หากสูดดมเป็นระยะเวลานานอาจเป็นอันตรายต่อระบบประสาทส่วนกลางและทำลายอวัยวะสืบพันธุ์ได้ นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น ปวดหัว ชา ระคายเคืองตาและลำคอ
    • ฟอร์มาลดีไฮด์ มีคุณสมบัติทำให้สีที่ใช้ทาเล็บแข็งตัวและติดทนนาน หากใช้เป็นระยะเวลานานอาจเป็นสารก่อมะเร็งได้
    • ไดบิวทิลพทาเลต (Dibutyl Phthalate) มีคุณสมบัติทำให้สีทาเล็บเหนียวข้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อระบบสืบพันธุ์ได้
    • การบูร (Camphor) มีคุณสมบัติทำให้สีเล็บเงางามและแข็งแรง หากสูดดมเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ปวดหัว
    • อะซิโตน (Acetone) เป็นสารที่อยู่ในน้ำยาล้างเล็บ อาจทำให้เล็บแห้ง ในบางคนอาจมีอาการแพ้อย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบได้

    วิธีการดูแลเล็บให้สุขภาพดี

    การทำเล็บอาจมีข้อดีมากมาย อย่างไรก็ตาม ควรดูแลเล็บอยู่เสมอเพื่อให้เล็บสวยและสุขภาพดีมากขึ้น โดยวิธีการดูแลอาจทำได้ดังนี้

  • ควรพักเล็บ โดยเว้นการทำสีเล็บอย่างน้อย 1-3 เดือน เพื่อให้เล็บได้ซ่อมแซมตัวเอง แต่ในกรณีที่เล็บฉีก เปราะหรือบางจากการทำเล็บควรพักเล็บอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้เล็บใหม่งอกออกมา
  • ทำความสะอาดร่างกาย มือและเล็บเป็นประจำทุกวัน เพื่อขจัดเชื้อแบคทีเรียในซอกเล็บและควรใส่ถุงมือยางเมื่อต้องสัมผัสน้ำหรือสารเคมีเป็นเวลานาน เช่น การล้างจาน ทำความสะอาดบ้าน ล้างห้องน้ำ
  • ควรทาครีมบำรุงมือและเล็บมือเป็นประจำทุกวัน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและบำรุงจมูกเล็บให้แข็งแรง
  • ควรตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอในช่วงเวลาที่พักเล็บ เพื่อขจัดเอาเล็บส่วนที่อ่อนแอออก
  • รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยซิงค์ (Zinc) และไบโอติน (Biotin) เช่น ตับหมู เนื้อวัว ปลา ไข่แดง น้ำมันปลา ข้าวกล้อง ข้าวโพด รำข้าวสาลี เมล็ดพืช ธัญพืช ไข่ น้ำนม เนย โยเกิร์ต กะหล่ำปลี เห็ด แครอท ผลไม้ ที่อาจช่วยเสริมความแข็งแรงของเล็บ ลดปัญหาเล็บบาง แตกและเปราะง่าย
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 13/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา