backup og meta

เล็บเป็นโพรง สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและการป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

    เล็บเป็นโพรง สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและการป้องกัน

    เล็บเป็นโพรง เป็นปัญหาเล็บที่เกิดขึ้นเมื่อเล็บแยกตัวออกจากฐานเล็บ จนเห็นเป็นช่องว่างหรือโพรงใต้เล็บ มักพบร่วมกับการติดเชื้อราที่เล็บ โดยทั่วไปมักพบที่เล็บหัวแม่เท้ามากกว่าเล็บมือ สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาต้านเชื้อราและทายาเฉพาะที่ อาการเล็บเป็นโพรงสามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลมือและเท้าให้แห้งและสะอาดอยู่เสมอ สวมรองเท้าที่มีขนาดพอดีกับเท้า ตัดเล็บส่วนที่เป็นโพรงเกินมา เป็นต้น

    เล็บเป็นโพรง เกิดจากอะไร

    เล็บเป็นโพรง คือ อาการเล็บแยกออกจากฐานเล็บ จนเกิดเป็นโพรงหรือช่องว่างใต้เล็บ อาจพบร่วมกับการติดเชื้อราที่เล็บ พบได้ทั้งกับเล็บมือและเล็บเท้า ส่วนใหญ่พบที่เล็บหัวแม่เท้า เชื้อราก่อโรคที่ทำให้เล็บเป็นโพรงที่พบได้บ่อย ได้แก่ เชื้อแคนดิดา (Candida) เชื้อกลากแท้ (Dermatophytes) เชื้อกลากเทียม (Non-dermatophytes) และเชื้อยีสต์ (Yeast) โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการเล็บเป็นโพรง มีดังนี้

    • บาดแผลที่เล็บ เนื่องจากเล็บกระแทกกับขอบประตู เคยรักษาเล็บขบ เป็นต้น
    • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน
    • โรคน้ำกัดเท้า เป็นโรคผิวหนังติดเชื้อราบริเวณเท้า จากการโดนน้ำบ่อย ๆ เชื้อราอาจลุกลามไปยังเล็บเท้าได้
    • อายุ ผู้สูงอายุเสี่ยงเกิดเล็บเป็นโพรงได้มากกว่าคนวัยอื่น เนื่องจากเลือดไหลเวียนได้น้อยลง อีกทั้งเล็บของผู้สูงอายุยังงอกช้าลง หนาขึ้น เปราะ และแห้ง จึงอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับเล็บ เช่น เล็บเป็นโพรง ได้
    • สารเคมี เช่น น้ำยาทาเล็บ น้ำยาล้างเล็บ อาจทำให้เล็บติดเชื้อราและเกิดเป็นโพรงบริเวณเล็บได้
    • ยารักษาโรค เช่น เคมีบำบัดที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง ยาปฏิชีวนะอย่างเตตราไซคลีน (Tetracycline) ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยาเรตินอยด์แบบรับประทาน อาจทำให้เกิดเชื้อราในเล็บ และเล็บเป็นโพรงได้
    • การบาดเจ็บ ที่เกิดจากการกระแทกเล็บบ่อย ๆ เช่น สวมรองเท้าที่บีบรัดหรือคับบริเวณหัวรองเท้ามากเกินไป

    อาการเล็บเป็นโพรง

    อาการเล็บเป็นโพรง ที่พบร่วมกับการติดเชื้อรา อาจมีอาการและอาการร่วมดังต่อไปนี้

    • เล็บแยกออกจากฐานเล็บ เกิดเป็นช่องว่างระหว่างเล็บและฐานเล็บ
    • เล็บหนาขึ้น มีขุยเนื้อเยื่อก่อตัวใต้เล็บ
    • เล็บเป็นสีขาวถึงเหลืองอมน้ำตาล
    • เล็บเปราะ รูปร่างบิดเบี้ยว
    • เล็บมีสีเข้ม เนื่องจากมีสิ่งสกปรกเข้าไปสะสมอยู่ใต้เล็บ
    • เล็บส่งกลิ่นเหม็น

    วิธีรักษาเล็บเป็นโพรง

    วิธีรักษาเล็บเป็นโพรงที่มีเชื้อรา อาจทำได้ดังนี้

    • รับประทานยา เช่น อิทราโคนาโซบ (Itraconazole) เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) ซึ่งเป็นยาต้านเชื้อราที่ผิวหนัง ใช้รักษาอาการเล็บเป็นเชื้อราเป็นหลัก โดยทั่วไปจะใช้ยาประมาณ 6-12 สัปดาห์
    • ใช้ยาทาเฉพาะที่ เช่น ยากลุ่มเอโซล (Azole antifungals) ชนิดใช้ภายนอก อย่างไมโคนาโซล (Miconazole) ไบโฟนาโซล (Bifonazole) ทิโอโคนาโซล (Tioconazole) อีโคนาโซล (Econazole) เป็นต้น โดยทั่วไปให้ทายาวันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 6-12 เดือน ขึ้นอยู่กับชนิดของยาและอาการที่พบ
    • รักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การเลเซอร์ ซึ่งจะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราที่เล็บ และอาจบรรเทาอาการเล็บเป็นโพรงได้อย่างปลอดภัย

    วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกัน เล็บเป็นโพรง

    วิธีป้องกันเล็บเป็นโพรง สามารถทำได้ดังนี้

  • ดูแลนิ้วมือและนิ้วเท้าให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอ
  • ตัดเล็บให้สั้นแบบพอดีและมีรูปทรงเหมาะสม สำหรับเล็บมือควรตัดให้โค้งตามแนวเล็บ แล้วใช้ตะไบฝนเล็บเพื่อเก็บทรงและลบคมเล็บ ส่วนเล็บเท้าควรตัดเป็นแนวตรง แล้วตะไบเล็บให้หายคมและได้ทรงที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการตัดเล็บเท้าให้โค้งตามแนวเล็บ เพราะอาจทำให้เล็บที่งอกใหม่งอกไปทิ่มเนื้อด้านข้างเล็บ จนเกิดเล็บขบหรือติดเชื้อราได้ง่าย
  • สวมถุงมือหรือถุงเท้าเมื่อทำกิจกรรมหรือทำงานที่อาจทำให้เล็บมือหรือเล็บเท้าเสียหาย
  • ไม่ปล่อยให้เล็บมือและเล็บเท้ายาวเกินไป เพราะอาจทำให้มีสิ่งสกปรกสะสมและเกิดเชื้อราได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ดูแลเล็บ เช่น กรรไกรตัดเล็บ ตะไบเล็บ ร่วมกับผู้อื่น เพื่อลดความเสี่ยงในการติดและแพร่กระจายเชื้อรา
  • หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าในที่สาธารณะ เช่น ห้องล็อกเกอร์ ห้องน้ำสาธารณะ
  • สวมรองเท้าที่เหมาะสมกับขนาดเท้าและรูปเท้า รองเท้าไม่ควรรัดแน่นเกินไป หรือทำให้เท้าอับชื้น เพราะอาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อราหรือเล็บเป็นโพรงได้
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา