backup og meta

เล็บ ขาดสารอาหาร เป็นอย่างไร แบบไหนเรียกว่าผิดปกติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 3 สัปดาห์ก่อน

    เล็บ ขาดสารอาหาร เป็นอย่างไร แบบไหนเรียกว่าผิดปกติ

    เล็บ ขาดสารอาหาร เป็นเล็บที่อาจมีสี รูปร่าง ลักษณะที่ผิดปกติ อาจเกิดจากการขาดเคราติน (Keratin) หรือโปรตีนที่ทำให้เล็บแข็งแรง รวมถึงขาดสารอาหารบางชนิด เช่น แมกนีเซียม แคลเซียม ธาตุเหล็ก สังกะสี โซเดียม ทองแดง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพ โรคเรื้อรัง การติดเชื้อ การบาดเจ็บ สารพิษหรือการใช้ยาบางชนิด ดังนั้น การดูแลสุขภาพร่างกายและสุขภาพเล็บจึงอาจช่วยส่งเสริมความแข็งแรงของเล็บให้สุขภาพดีได้

    เล็บ ขาดสารอาหาร คืออะไร

    เล็บ ขาดสารอาหาร คือ ความผิดปกติของเล็บที่อาจเกิดจากปัญหาโรคผิวหนังซึ่งส่งผลต่อเคราตินเยื่อบุผิว โดยเคราตินเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้น เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับเล็บ ผิว ผมให้แข็งแรงและสุขภาพดี นอกจากนี้ การขาดสารอาหารอื่น ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของเล็บ เช่น แมกนีเซียม แคลเซียม ธาตุเหล็ก สังกะสี โซเดียม ทองแดง ก็อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเล็บ ลักษณะ รูปร่าง พื้นผิวและสีของเล็บได้

    อาการของ เล็บ ขาดสารอาหาร

    อาการของเล็บที่ขาดสารอาหารอาจสังเกตได้จากลักษณะของเล็บ ดังนี้

  • เล็บสีซีด บางครั้งอาจเป็นสัญญาณของโรคโลหิตจาง โรคหัวใจล้มเหลว โรคตับ ภาวะทุพโภชนาการ
  • เล็บสีขาวมีขอบสีเข้ม เล็บสีขาวครึ่งเล็บ เล็บสีขาว 2 ใน 3 ของเล็บ เล็บสีขาวเป็นแถบขวาง อาจเป็นสัญญาณของปัญหาตับ เช่น โรคตับอักเสบ โรคไตวายเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคตับแข็ง หัวใจวาย โรคโปรตีนในร่างกายต่ำ
  • เล็บสีเหลือง เล็บหนาและแตก อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อราหรือปัญหาสุขภาพ เช่น โรคไทรอยด์ที่รุนแรง โรคปอด โรคเบาหวาน โรคสะเก็ดเงิน
  • เล็บสีม่วง อาจเป็นสัญญาณว่าร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับปอด เช่น ถุงลมโป่งพอง ปัญหาหัวใจ
  • เล็บเป็นหลุม เป็นคลื่นหรือเป็นรูพรุน ผิวหนังใต้เล็บเป็นสีน้ำตาลแดง อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรคสะเก็ดเงิน โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน
  • เล็บแตก หัก แห้ง เปราะ มีสีเหลือง อาจเป็นสัญญาณของโรคไทรอยด์ การติดเชื้อรา
  • โคนเล็บมีสีแดงและมีเส้นเลือดผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณของโรคลูปัสหรือความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน
  • ปลายเล็บร่อน อาจเป็นสัญญาณของโรคสะเก็ดเงิน โรคไทรอยด์ โรคเชื้อรา โรคผดผื่นผิวหนังอักเสบ
  • รอยดำใต้เล็บ อาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งผิวหนัง
  • การกัดเล็บจนเล็บกุด อาจเป็นสัญญาณของความวิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ
  • สาเหตุของเล็บ ขาดสารอาหาร

    เล็บขาดสารอาหารอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุที่ส่งผลต่อลักษณะ รูปร่างและสีของเล็บ ดังนี้

    • การบาดเจ็บ เช่น การถูกทุบ ถูกหนีบ เล็บถูกดึงออก การใช้น้ำยาทายาเล็บหรือสัมผัสกับความชื้นเป็นเวลานาน อาจทำให้เล็บเสียรูป แห้ง เปราะและลอกออก
    • การติดเชื้อ เช่น เชื้อราหรือยีสต์ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส อาจทำให้สี เนื้อสัมผัส และรูปร่างของเล็บเปลี่ยนแปลง อาจทำให้มีอาการเจ็บปวดและเล็บหลุดได้
    • ปัญหาสุขภาพและโรคบางชนิด เช่น โรคหัวใจ โรคปอด มะเร็ง การติดเชื้อ โรคไตเรื้อรัง โรคต่อมไทรอยด์ การขาดวิตามินเค โรคลูปัส (Systemic Lupus Erythematosus หรือ SLE) โรคไลเคนพลานัส (Lichen Planus)
    • การได้รับสารพิษ เช่น การได้รับธาตุเงินอาจทำให้เล็บเป็นสีฟ้า สารหนูอาจทำให้เกิดเส้นสีขาวบนเล็บ
    • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาเคมีบำบัด ที่อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเล็บและอาจทำให้เล็บหลุดจากฐานเล็บได้

    การดูแลเล็บ ขาดสารอาหาร

    การรักษาเล็บที่ขาดสารอาหารอาจต้องรักษาจากสาเหตุหลักของโรคก่อนจึงจะช่วยให้เล็บกลับมามีสุขภาพดีได้ แต่การดูแลเล็บด้วยวิธีเหล่านี้อาจเสริมความแข็งแรงและสุขภาพของเล็บ โดยมีวิธีดังนี้

    • ทำความสะอาดเล็บเป็นประจำทุกวันและควรรักษาเล็บให้แห้งสนิทอยู่เสมอ
    • ตัดเล็บให้ตรง ไม่ตัดเข้าไปในมุมเล็บหรือข้างเล็บและควรตะไบเล็บให้เสมอกันหลังตัดเล็บ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและลดโอกาสที่จะทำให้เล็บฉีกขาด
    • หากเล็บเท้าหนาและตัดยาก ควรแช่เท้าในน้ำอุ่นผสมกับเกลือ 1 ช้อนชา ประมาณ 5-10 นาที จนเล็บอ่อนตัวลงก่อนตัด เพื่อช่วยให้ตัดเล็บง่ายขึ้นและลดอาการบาดเจ็บ
    • อาการเล็บขบควรรักษาทันที เพื่อป้องกันการติดเชื้อและความเสียหายของเล็บที่อาจลุกลามเพิ่มขึ้น
    • สวมรองเท้าให้พอดีกับเท้า ควรทำความสะอาดและเปลี่ยนรองเท้าเมื่อรองเท้าเสียหาย เพราะรองเท้าอาจช่วยปกป้องเล็บเท้าและเท้าจากการบาดเจ็บ
    • สวมรองเท้าเสมอเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะ เช่น ห้องน้ำสาธารณะ สระว่ายน้ำ ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อราที่เล็บเท้า
    • ไม่ควรกัดเล็บหรือกัดหนังกำพร้าข้างเล็บ เพราะอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ หน้าเล็บเสียหายและอาจติดเชื้อได้
    • ไม่ควรใช้เล็บเปิดของแข็ง เช่น ใช้เล็บงัดฝากระป๋อง
    • ควรใช้โลชั่นหรือมอยส์เจอร์ไรเซอร์สำหรับทามือ ทาบนเล็บและหนังกำพร้ารอบเล็บ เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับมือ และอาจช่วยให้เล็บแข็งแรงและสุขภาพดีขึ้น
    • ควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่หลากหลาย เช่น ไบโอติน (Biotin) วิตามินบี ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม โปรตีน กรดโอเมก้า 3 วิตามินซี สังกะสี ที่อาจมีคุณสมบัติช่วยบำรุงสุขภาพเล็บ พบได้ในตับ ไข่แดง ผลิตภัณฑ์จากนม ยีสต์ ปลาแซลมอน อะโวคาโด มันเทศ ถั่ว เมล็ดพืช ปลา ผักใบเขียว คีนัว อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วลิสง ถั่วแระญี่ปุ่น ถั่วดำ ส้ม สตรอว์เบอร์รี่ และกีวี่

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 3 สัปดาห์ก่อน

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา