backup og meta

อาการแบบไหนเข้าข่าย โรคชันนะตุ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 26/02/2024

    อาการแบบไหนเข้าข่าย โรคชันนะตุ

    โรคชันนะตุ เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งบนหนังศีรษะ มักทำให้เกิดอาการคันศีรษะอย่างรุนแรง ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ หนังศีรษะตกสะเก็ด เป็นไข้ ต่อมน้ำเหลืองบวม ทั้งนี้ หากสังเกตเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นและรีบทำการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที ก็จะสามารถกลับมามีหนังศีรษะและเส้นผมสุขภาพดีดังเดิมได้

    โรคชันนะตุ (Tinea capitis)

    โรคชันนะตุ  เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งของหนังศีรษะและเส้นผม เป็นโรคติดต่อที่มักเกิดจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งหรือติดต่อกันโดยใช้ของร่วมกัน เช่น หวี ผ้าเช็ดตัว หมอน สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่มักพบในช่วงเด็กหัดเดินและเด็กวัยเรียน ผู้ป่วยมักมีอาการคัน ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ หนังศีรษะตกสะเก็ด

    สาเหตุของโรคชันนะตุ

    โรคชันนะตุเกิดจากการติดเชื้อราชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “เดอร์มาโทไฟต์ (Dermatophytes)” เชื้อราชนิดนี้อาศัยอยู่บนผิวชั้นนอกหนังศีรษะและเส้นผม โดยสาเหตุการติดเชื้อรา เกิดจากพฤติกรรมดังต่อไปนี้

    • การสัมผัสผิวหนังคนที่ติดเชื้อ ร่างกายอาจได้รับเชื้อโรคชันนะตุจากการไปสัมผัสผิวหนังของผู้ติดเชื้อ
    • การสัมผัสสัตว์ที่ติดเชื้อ ซึ่งสัตว์ที่พบโรคชันนะตุ ได้แก่ วัว แพะ ม้า หมู โดยเฉพาะลูกสุนัขและแมว ผู้ที่ใกล้ชิดชอบสัมผัสสัตว์เลี้ยงอาจติดเชื้อจากการสัมผัส
    • การสัมผัสสิ่งของ เชื้อโรคสามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสกับวัตถุที่มีเชื้อจากมนุษย์หรือสัตว์ที่ติดเชื้อติดอยู่ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน หวี

     อาการที่บ่งบอกว่า เสี่ยงเป็นโรคชันนะตุ

    • ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ เส้นผมขาดง่าย เปราะบางหลุดง่าย
    • เส้นผมที่หลุดออกจากหนังศีรษะจะเห็นเป็นจุดสีดำ ๆ
    • หนังศีรษะตกสะเก็ด พื้นที่ตกสะเก็ดมีสีเทาหรือแดง
    • คันศีรษะอย่างแรง
    • รู้สึกเจ็บปวดหนังศีรษะ
    • มีไข้ต่ำ 37.5-38 องศาเซลเซียส
    • ต่อมน้ำเหลืองบวม

    วิธีการรักษาโรคชันนะตุ

    โรคชันนะตุสามารถรักษาได้ อาจลองปฏิบัติตัวตามคำแนะนำ ดังต่อไปนี้

    รับประทานยาต้านเชื้อรา

    การรับประทานยาฆ่าเชื้อรา คุณหมอจะแนะนำยา กริซีโอฟูลวิน (Griseofulvin) และเทอร์บินาฟีน (Terbinafine) ซึ่งต้องรับประทานยาติดต่อกันประมาณ 6 สัปดาห์ ยาทั้ง 2 ชนิดนี้มีผลข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่ ปวดท้อง ท้องเสีย เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน โดยคุณหมอจะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาร่วมกับอาหารที่มีไขมันสูงเพื่อลดผลข้างเคียงจากยาด้วย เช่น เนยถั่ว ไอศกรีม

    ใช้แชมพูกำจัดเชื้อรา

    คุณหมอจะแนะนำแชมพูยาเพื่อกำจัดเชื้อราและป้องกันการแพร่กระจายของการติดเชื้อ แชมพูที่มีส่วนผสมของคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) หรือซีลีเนียมซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) คุณหมออาจแนะนำให้ใช้แชมพูสระผม 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 1 เดือน วิธีใช้คือชโลมแชมพูทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีแล้วล้างออกให้สะอาด  แชมพูยาช่วยป้องกันเชื้อราแพร่กระจาย แต่ไม่อาจกำจัดเชื้อราให้หมดไป ต้องรักษาร่วมกับการรับประทานยาต้านเชื้อราด้วย

    หากพบว่ามีอาการคันศีรษะ ผมร่วง รังแค หรือความผิดปกติอื่น ๆ ที่เกิดบนหนังศีรษะ ควรปรึกษาคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจทำให้อาการของโรคลุกลามได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 26/02/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา