backup og meta

โรคหนังศีรษะ มีอะไรบ้าง มีวิธีรักษาอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/06/2022

    โรคหนังศีรษะ มีอะไรบ้าง มีวิธีรักษาอย่างไร

    โรคหนังศีรษะ หมายถึง โรคผิวหนังต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบริเวณหนังศีรษะและเส้นผม อาทิ โรคเหา โรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน โรคสะเก็ดเงิน โรคผื่นแพ้สัมผัส โรคผมร่วงเป็นหย่อม ทำให้รู้สึกคัน มีขุย อักเสบ บวมแดง โดยปกติแล้ว โรคหนังศีรษะมักรักษาด้วยการทาครีม ร่วมกับการใช้แชมพู และสามารถป้องกันได้ด้วยการไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น และหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ทำผมที่ใช้ความร้อน

    โรคหนังศีรษะ

    โรคหนังศีรษะที่อาจพบได้ทั่วไป มีดังนี้

    โรคเหา

    โรคเหา เป็นโรคหนังศีรษะที่ติดต่อจากเหาซึ่งเป็นแมลงปรสิตขนาดเล็กกินเลือดมนุษย์เป็นอาหาร โดยทั่วไปเหามักอาศัยอยู่บนศีรษะ แต่ในบางกรณีอาจพบตามลำตัวหรือบริเวณหัวเหน่า

    ผู้ที่เป็นเหา อาจมีอาการคันยิบ ๆ บริเวณหนังศีรษะ มีไข่เหาตามเส้นผม และมีความรู้สึกว่าเหาเดินอยู่บนศีรษะในกรณีรุนแรง อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ทำให้หนังศีรษะหรือบริเวณที่ติดเชื้อมีตุ่มสีแดงและอักเสบ

    โรคเหาติดต่อได้ผ่านการสัมผัสใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของบางอย่างร่วมกัน อาทิ หมอน หมวก ผ้าปูที่นอน หวี ทั้งนี้ เหาตัวเมีย 1 ตัวจะวางไข่ 6-9 ฟองต่อวัน และตัวอ่อนจะใช้เวลา 6-9 วันเพื่อฟักตัวก่อนจะโตเต็มที่ภายใน 7 วัน

    วิธีการรักษาโรคเหา

    โรคเหาสามารถรักษาได้หลายวิธี อาทิ

    • ใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดเหา เช่น แชมพู โลชั่น หรือยาใส่ผม ซึ่งมีส่วนผสมของตัวยาสำหรับกำจัดแมลงอย่าง มาลาไทออน (Malathion) เบนซิลแอลกอฮอล์ (Benzyl Alcohol) สปินโนแซด (Spinosad) ลินเดน (Lindane)
    • สางผมด้วยหวีเสนียด เป็นเวลา 10-30 นาทีต่อเนื่องประมาณ 10 วัน เพื่อให้ไข่เหาติดมากับซี่ของหวี และหลุดออกจากเส้นผม เป็นการลดปริมาณเหาที่จะโตขึ้น
    • รับประทานยาเม็ด เช่น ไอเวอร์เมคติน (Ivermectin) โดยคุณหมอจะจ่ายยาให้ผู้ป่วยในกรณีที่การรักษาด้วยวิธีรักอื่นไม่ได้ผล หรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น เช่น คันรุนแรง หนังศีรษะเป็นแผล

    โรคผมร่วงเป็นหย่อม

    ผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) เป็นโรคหนังศีรษะชนิดหนึ่ง เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ รากผมถูกทำลาย รูขุมขนเล็กลงไม่สามารถผลิตเส้นผมใหม่ขึ้นมาเกิดอาการผมร่วงเป็นหย่อม ๆ จนเห็นหนังศีรษะเป็นวงขาว

    ผมร่วงเป็นหย่อมเกิดได้ทั้งกับชายและหญิง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในช่วงอายุ 30 ปี และอัตราพบโรคคือ ผู้ป่วย 1 คนต่อประชากร 1,000 คน

    สำหรับสาเหตุของโรคยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่โรคนี้มักเป็นร่วมกับโรคต่อมไทรอยด์อักเสบและด่างขาว นอกจากนี้ ผู้ป่วยผมร่วงเป็นหย่อมราว 20 เปอร์เซ็นต์มักมีบุคคลในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้มาก่อน ทางการแพทย์จึงเชื่อว่าเป็นโรคที่อาจส่งผ่านทางพันธุกรรมได้ อย่างไรก็ตาม ผมร่วงรักษาได้ เมื่อหายแล้ว รูขุมขนของผู้ป่วยจะเปิดกว้างและกลับมาสร้างเส้นผมตามปกติ

    วิธีการรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อม

    คุณหมออาจใช้วิธีการต่อไปนี้ เพื่อกระตุ้นให้เส้นผมของคนไข้งอกไวขึ้น

    • ฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) หรือฮอร์โมนสเตียรอยด์สังเคราะห์ เข้าที่หนังศีรษะโดยตรง หรือให้ทาคอร์ติโคสเตียรอยด์แบบครีมที่ศีรษะ เพื่อกระตุ้นให้เส้นผมงอก
    • รับประทานยาเม็ดหรือทายา เช่น ไมน็อกซิดิล (Minoxidil) ซึ่งโดยปกติใช้สำหรับกระตุ้นการงอกของเส้นผมในกรณีของคนที่ศีรษะล้าน

    โรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน

    โรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน (Seborrheic Dermatitis) เป็นโรคหนังศีรษะที่เรียกสั้น ๆ ว่า “เซบเดิร์ม” เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ เชื้อรามาลาสเซเซีย (Malassezia) การทำงานผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ความเครียด อุณหภูมิ การแปรปรวนของฮอร์โมน

    โรคนี้พบได้ในบุคคลทุกวัย โดยเฉพาะในทารกมักพบช่วงอายุ 3 เดือนแรก อาจมีอาการคัน ผื่นแดง ผิวหนังเป็นขุย

    นอกจากโรคผื่นแพ้ต่อมไขมันจะเกิดขึ้นได้บริเวณหนังศีรษะแล้ว ยังอาจเกิดบริเวณอื่นของร่างกายได้ด้วย เช่น ใบหน้า แผ่นหลัง ขาหนีบ รักแร้ หน้าอก

    วิธีการรักษาโรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน

    ในทารกแรกเกิด ผื่นแพ้ต่อมไขมันจะหายเองเมื่ออายุราว 6-12 เดือน อย่างไรก็ตาม ในกรณีของผู้ที่โตกว่า อาจเป็นแบบเรื้อรัง หรือเป็น ๆ หายๆ  คุณหมอมักรักษาด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • กำจัดเชื้อรา ด้วยผลิตภัณฑ์ต้านเชื้อรา เช่น แชมพู ครีม ขี้ผึ้ง รวมถึงยาเม็ดสำหรับรับประทาน ทั้งนี้ คุณหมอจะสั่งยาเม็ดเป็นตัวเลือกสุดท้าย เนื่องจากตัวยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้  อาเจียน ตับอักเสบ
    • ควบคุมการอักเสบ ด้วยการใช้แชมพู ครีม หรือขี้ผึ้ง ซึ่งมีส่วนผสมของยาต่าง ๆ สระผมหรือทาบริเวณหนังศีรษะ อาทิ ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ฟลูโอซิโนโลน (Fluocinolone) ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบที่ผิวหนัง

    โรครูขุมขนอักเสบ

    โรครูขุมขนอักเสบ เป็นโรคหนังศีรษะที่พบได้ทั่วไป ไม่อันตราย มักมีอาการคัน ผื่นแดง เป็นฝีฝักบัว และตุ่มหนองบนหนังศีรษะ

    สาเหตุของรูขุมขนอักเสบ มีหลายประการ คือ

    • เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนังศีรษะ เช่น สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus)
    • ขนคุด หรือเส้นผมที่อุดตันอยู่ใต้ผิวหนัง อาจก่อให้เกิดการอักเสบได้
    • การใช้ยาบางอย่าง อาทิ คอร์ติโคสเตียรอยด์ ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงทำให้เป็นสิวบริเวณผิวหนังที่บอบบางได้
    • ติดเชื้อราบางชนิด ซึ่งอาจปะปนอยู่ตามพื้นผิวของสิ่งของรอบตัว รวมถึงในน้ำและอากาศ

    วิธีการรักษาโรครูขุมขนอักเสบ

    โรครูขุมขนอักเสบ รักษาได้ด้วย

    • การทำความสะอาดร่างกาย ด้วยผลิตภัณฑ์ต้านเชื้อราหรือแบคทีเรีย ในรูปของแชมพูหรือสบู่
    • การผ่าตัดตุ่มหนองหรือฝีฝักบัว เพื่อดูดหนองออก ก่อนปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ
    • การทาครีม เพื่อลดอาการคันหรือบวมของหนังศีรษะ
    • การรับประทานยาเม็ด เพื่อรักษาอาการติดเชื้อ โดยคุณหมออาจจ่ายยาเม็ดให้ในกรณีที่เห็นว่าคนไข้อาการรุนแรง

    โรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ

    สะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ เป็นโรคหนังศีรษะซึ่งพบในผู้ป่วยสะเก็ดเงินเกินกว่าครึ่ง อาจมีอาการผิวหนังตกสะเก็ดเป็นสีเงินหรือเหลืองตามแนวไรผม มีรังแค มีรอยแดงตามแนวสะเก็ดเงิน รวมถึงมีอาการแสบร้อนและอาการคันหนังศีรษะ

    สาเหตุของสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่คาดว่าเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งทำให้เซลล์ผิวหนังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว

    ทั้งนี้ โรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะเป็นโรคทางพันธุกรรมแต่ไม่ใช่โรคติดต่อ จึงไม่แพร่กระจายไปยังผู้ที่อยู่ใกล้ชิด นอกจากนี้ อาจเป็นพร้อมกับโรคผื่นแพ้ต่อมไขมันได้ เรียกว่า โรคสะเก็ดเงินที่คาบเกี่ยวโรคเซ็บเดิร์ม (Sebopsoriasis)

    วิธีรักษาโรคสะเก็ดเงินที่ศีรษะ

    โรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะรักษาได้ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • รับประทานยา เช่น ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบของเซลล์ที่ผิดปกติ และยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) ซึ่งออกฤทธิ์กดภูมิต้านทานของร่างกาย โดยยาทั้ง 2 ชนิดนี้ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินที่บริเวณอื่นของร่างกายด้วย
  • บำบัดด้วยการส่องไฟ (Phototherapy) หรือการฉายแสงอัลตราไวโอเล็ต เพื่อลดการเพิ่มจำนวนของเซลล์ผิวที่ผิดปกติ
  • ฉีดยาชีววัตถุ (Biologics) อาทิ อะดาลิมูแมบ (Adalimumab) โบรดาลูมาบ (Brodalumab) อีทาเนอเซ็ป (Etanercept) เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย เพื่อลดการเพิ่มจำนวนของเซลล์ผิวหนังที่มากผิดปกติ
  • การป้องกันโรคหนังศีรษะ

    คำแนะนำต่อไปนี้ อาจช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหนังศีรษะได้

    • หมั่นทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะ ด้วยการสระผมเป็นประจำ และหวีผมเพื่อบำรุงรากผมให้แข็งแรง
    • หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ทำผมที่ใช้ความร้อน เนื่องจากความร้อนที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดแผลบริเวณหนังศีรษะ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคบริเวณหนังศีรษะ
    • ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น หวี หมอน หมวก เพื่อลดความเสี่ยงติดโรคหนังศีรษะ
    • สางผมด้วยหวีเสนียดเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะในเด็กเพราะอาจพบไข่เหา และขณะเดียวกันเป็นการป้องกันเหาเพิ่มจำนวนบนหนังศีรษะ
    • ลดความเครียด ด้วยการทำงานอดิเรก หาเวลาว่างผ่อนคลาย ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ นั่งสมาธิ เนื่องจากความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งของโรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน
    • รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคหนังศีรษะควรเลือกรับประทานอาหารที่มีสารอาหารและแร่ธาตุอย่างสังกะสี ธาตุเหล็ก และวิตามินบี เพื่อช่วยบำรุงเส้นผม รากผม และหนังศีรษะ เช่น ถั่ว ธัญพืช ผักใบเขียว

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา