backup og meta

ขนคุด การรักษาและวิธีป้องกันด้วยตัวเอง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

    ขนคุด การรักษาและวิธีป้องกันด้วยตัวเอง

    ขนคุด คือ เส้นขนที่งอกโผล่พ้นผิวหนังแล้ว แต่งอกลับลงไปใต้ผิวหนังอีกครั้ง หรือเส้นขนที่งอกออกมาจากรูขุมขน หรือ ปุ่มรากผม ที่อยู่ใต้ผิวหนัง แต่ไม่โผล่พ้นผิวหนังตามปกติ กลับม้วนงออยู่ใต้ผิวหนัง หรือม้วนกลับลงไปในรูขุมขน ขนคุดอาจทำให้เสียความมั่นใจ หรืออาจสร้างความรำคาญใจเมื่อพบเห็นและสัมผัส นอกจากนี้ หากดูแลรักษาขนคุดไม่ถูกวิธี ก็อาจทำให้ตุ่มเล็ก ๆ ติดเชื้อ และลุกลามเป็นปัญหาผิวร้ายแรงได้เช่นกัน

    ขนคุด คืออะไร

    ขนคุด คือ เส้นขนที่งอกโผล่พ้นผิวหนังแล้ว แต่งอกลับลงไปใต้ผิวหนังอีกครั้ง หรือเส้นขนที่งอกออกมาจากรูขุมขน หรือปุ่มรากผม (Hair Follicle) ที่อยู่ใต้ผิวหนัง แต่ไม่โผล่พ้นผิวหนังตามปกติ กลับม้วนงออยู่ใต้ผิวหนัง หรือม้วนกลับลงไปในรูขุมขน ส่งผลให้ผิวหนังบริเวณนั้นมีลักษณะเป็นตุ่มนูน บางครั้งอาจมองเห็นเส้นขนอยู่ใต้ผิวหนัง และมักเกิดบริเวณเดียวกันเป็นหย่อม ๆ หากขนคุดเกิดการติดเชื้อหรืออักเสบ อาจเกิดเป็นตุ่มแดง หรือตุ่มหนอง ลักษณะคล้ายสิว

    ขนคุดสามารถเกิดได้ทุกที่ โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดขนคุด คือ การกำจัดขนด้วยการโกน การถอน และการแว็กซ์ โดยบริเวณที่มักเกิดขนคุด ได้แก่ ใบหน้า ลำคอ รักแร้ อวัยวะเพศ และขา

    ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดขนคุด

    ขนคุดสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ซึ่งผู้ที่มีแนวโน้มที่จะเกิดขนคุดอาจได้แก่

    • เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วหรือน้ำมันอุดตันรูขุมขน
    • ผิวแห้ง
    • ขนหยิกหนา หรือขนเส้นใหญ่
    • โกนขนชิดผิวหนังเกินไป หรือโกนขนย้อนแนวขน
    • ขัดผิวแรงเกินไป หรือใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ทำให้ผิวระคายเคือง

    การรักษาขนคุด

    ขนคุดส่วนใหญ่อาจหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา เพียงแต่ต้องใช้เวลาประมาณ 1-6 เดือน หากอยากให้ขนคุดหายเร็วขึ้น วิธีเหล่านี้อาจช่วยได้

    • หยุดกำจัดขนในบริเวณที่มีขนคุด
    • อย่าพยายามบีบหรือแกะเกาขนคุด เพราะเชื้อแบคทีเรียอาจเข้าไปในบาดแผลที่เกิดขึ้น เพิ่มความเสี่ยงให้ผิวหนังติดเชื้อ และอาจทำให้เป็นแผลเป็นได้
    • ประคบร้อนในบริเวณที่มีขนคุด
    • สวมเสื้อผ้าหลวม ๆ จนกว่าขนคุดจะหาย
    • ไม่ขัดผิวระหว่างมีขนคุด

    หากทำวิธีข้างต้นหรือปล่อยไว้แล้วขนคุดไม่หาย อาจปรึกษาคุณหมอเพื่อทำการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ดังนี้

    รักษาด้วยยา

    • ทายาสเตียรอยด์เพื่อช่วยลดการบวม อักเสบ และระคายเคือง
    • ทายาที่มีส่วนประกอบของสารอนุพันธ์ของวิตามินเอ หรือเรตินเอ (Retinoids หรือ Retin A) เพื่อช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว และอาจช่วยไม่ให้สีผิวคล้ำลงเพราะขนคุด
    • ทาหรือกินยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยรักษาอาการติดเชื้อ

    รักษาด้วยเลเซอร์

    • อาจช่วยกำจัดขนในระดับลึกกว่า และยับยั้งไม่ให้ขนงอกขึ้นมาอีกครั้ง แต่วิธีนี้อาจทำให้เกิดตุ่มพอง แผลเป็น หรือผิวหนังสีเข้มขึ้นได้

    วิธีป้องกันขนคุด

    • ขัดผิวเป็นประจำ และทำให้ผิวชุ่มชื้นอยู่เสมอ
    • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่อุดตันรูขุมขน
    • ทาครีมที่มีส่วนผสมของกรดอัลฟาไฮดรอกซี หรือเอเอชเอ (Alpha Hydroxy Acid หรือ AHA) หรือกรดไกลโคลิค (Glycolic Acid) ระหว่างกำจัดขน เพื่อให้ผิวเรียบเนียนและลดโอกาสเกิดขนคุด
    • รักษาความสะอาดของผิวหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่มีแนวโน้มเกิดขนคุดได้ง่าย ไม่ควรให้เหงื่อหมักหมม
    • หากจำเป็นต้องโกนขน ควรใช้มีดโกนใบเดี่ยว เพราะมีดโกนใบคู่อาจทำให้เหลือตอขนลึกลงไปใต้ผิวหนัง โดยโกนขนตามแนวขน และไม่โกนขนชิดผิวหนังมากเกินไป นอกจากจะช่วยป้องกันขนคุดแล้ว ยังอาจช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ผิวผ่านรอยโกนขนได้ด้วย
    • หลีกเลี่ยงการกำจัดขน หากเลี่ยงไม่ได้ ควรเลือกวิธีกำจัดขนที่ลดความเสี่ยงการเกิดขนคุด อย่าง การเลเซอร์กำจัดขน การกำจัดขนด้วยกระแสไฟฟ้า (Electrolysis) หรือการทายาที่ช่วยชะลอการงอกใหม่ของขน เช่น ยาอีฟลอร์นิทีน (Eflornithine)

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา