backup og meta

ครีมทาฝ้า ประกอบด้วยตัวยาอะไร และควรทาครีมตอนไหน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    ครีมทาฝ้า ประกอบด้วยตัวยาอะไร และควรทาครีมตอนไหน

    ฝ้า เป็นปัญหาผิวหนังลำดับต้น ๆ ของสาวไทย มีสาเหตุจากรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดดกระตุ้นให้ร่างกายผลิตเม็ดสีผิวที่มากเกินไป หรืออาจเกิดจากพันธุกรรม การรับประทานยาคุมกำเนิด หนึ่งในวิธีรักษาฝ้าที่ได้รับความนิยมคือการทา ครีมทาฝ้า เพื่อช่วยให้ฝ้าดูจางลง โดยในครีมดังกล่าวมักมีตัวยาอย่างไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) ซึ่งมีคุณสมบัติลดการผลิตเม็ดสีผิว หรือเตรทติโนอิน (Tretinoin) ซึ่งช่วยเร่งการผลัดเซลล์ผิว ทำให้ผิวหนังบริเวณที่เป็นฝ้ามีสีอ่อนลงหรือสีใกล้เคียงกับผิวหนังโดยรอบมากขึ้น

    ฝ้าคืออะไร

    ฝ้าเป็นจุดหรือปื้นบนผิวหนัง มีสีดำหรือน้ำตาล และมักปรากฏบริเวณใบหน้า สันจมูก แก้ม หน้าผาก คาง และเหนือริมฝีปากบน โดยจัดเป็นปัญหาผิวหนังที่พบได้ทั่วไป โดยเฉพาะในผู้ที่มีบอายุระหว่าง 20-40 ปี และผู้หญิงมักเป็นฝ้ามากกว่าผู้ชายในอัตราสูงถึง 9 ต่อ 1

    สาเหตุการเกิด ฝ้า

    ฝ้าเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังต่อไปนี้

    • การเผชิญกับแสงแดดมากเกินไป เนื่องจากรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดดมักไปกระตุ้นการผลิตเม็ดสีผิวหรือเมลานิน (Melanin) ทำให้ผิวหนังที่โดนแสงแดดมีสีเข้มกว่าส่วนอื่นหรือเป็นฝ้าได้
    • การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนเพศและฮอร์โมนกระตุ้นเซลล์ผลิตเมลานิน (Melanocyte-stimulating Hormone) ระหว่างไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ทำให้หญิงตั้งครรภ์อาจมีฝ้ามากกว่าช่วงเวลาปกติ
    • การใช้ยาคุมกำเนิด เนื่องจากตัวยาซึ่งเป็นฮอร์โมนอาจกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการสร้างเม็ดสีผิวมากขึ้นกว่าปกติ
    • ความเครียดอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายทำงานผิดปกติและกระตุ้นให้เกิดฝ้าได้

    วิธีรักษาฝ้าด้วยครีมทา ฝ้า

    หนึ่งในวิธีรักษาฝ้าที่ได้รับความนิยม คือการใช้ครีมทาฝ้าเพื่อช่วยลดการสร้างเม็ดสีผิว รวมทั้งเพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลัดเซลล์ผิวใหม่ บรรเทาฝ้าให้ดูจางลง ทั้งนี้ ควรทาครีมทาฝ้าบาง ๆ ให้ทั่วบริเวณที่เป็นวันละ 1 ครั้งก่อนนอน นอกจากนั้น ก่อนออกจากบ้านทุกครั้งควรทาครีมกันแดดสำหรับผิวหน้าที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไป และอาจทาทับด้วยครีมหรือเครื่องสำอางปกปิดริ้วรอย รวมทั้งการใส่แว่นตา หมวก หรือกางร่ม เพื่อปกป้องผิวหนังจากรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดดที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดฝ้า

    ครีมทาฝ้า ประกอบด้วยตัวยาอะไร

    ครีมทาฝ้า อาจช่วยให้ฝ้าดูจางลง ผิวหน้ากระจ่างใสขึ้น ซึ่งมักประกอบด้วยตัวยาหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

    • ไฮโดรควิโนน เป็นตัวยาหลักที่ใช้ในการรักษาฝ้า มีคุณสมบัติลดการผลิตเม็ดสีผิว จึงช่วยทำให้ฝ้าดูจางลงหรือมีโทนสีที่ใกล้เคียงกับผิวหนังโดยรอบมากขึ้น ทั้งนี้ การทาครีมที่ผสมไฮโดรควิโนนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ ทำให้ผิวหนังมีอาการแดง แสบเล็กน้อย หรือผิวแห้ง ทั้งนี้ หากมีอาการข้างเคียงเป็นเวลานานโดยไม่หายไปหลังใช้ครีมทาฝ้า ควรหยุดใช้ทันที และควรไปพบคุณหมอหรือเภสัชกร
    • เตรทติโนอิน เป็นสารสังเคราะห์ในกลุ่มวิตามินเอ มีคุณสมบัติเร่งวัฏจักรของเซลล์ผิวหนัง ขจัดเซลล์ผิวหนังเก่าให้หลุดลอกออกเร็วกว่าปกติและผลัดเซลล์ผิวหนังใหม่ที่สุขภาพดีกว่าหรือสีอ่อนกว่าให้เกิดขึ้นแทนที่ โดยทั่วไป การใช้ครีมที่ผสมเตรทติโนอินมักมีอาการข้างเคียงโดยทำให้ผิวหนังระคายเคืองในช่วงแรก ๆ หลังใช้ แต่อาการข้างเคียงนี้จะค่อย ๆ ทุเลาลงเมื่อผิวหนังปรับตัวเข้ากับตัวยาได้ แต่หากใช้แล้วอาการข้างเคียงไม่หายไป ควรหยุดใช้ทันที
    • ซีสตีอามีน (Cysteamine) เป็นส่วนประกอบในครีมทาฝ้าที่มีคุณสมบัติทำให้ฝ้าดูจางลง ด้วยการยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิว ผลข้างเคียงของซีสตีอามีนคือ เมื่อทาลงบนผิวหนังแล้ว มักทำให้ผิวแดงและมีอาการแสบร้อนเป็นเวลาประมาณ 30 นาที หากอาการดังกล่าวเกิดขึ้นนานกว่านั้น ให้หยุดใช้ และควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกร
    • กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid) มีคุณสมบัติกระตุ้นให้เกิดการผลัดผิวใหม่เช่นเดียวกับเตรทติโนอิน และยังช่วยกำจัดอนุมูลอิสระ จึงช่วยทำให้ผิวหน้าโดยรวมหายหมองคล้ำหรือดูสดใสยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การใช้กรดอะซีลาอิกในรูปแบบครีม มักมีผลข้างเคียงทำให้ผู้ใช้มีอาการแสบร้อนหรือคันในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของการใช้ ส่วนใหญ่แล้วอาการดังกล่าวมักหายไปเอง แต่หากยังคงเป็นต่อเนื่อง ควรหยุดใช้ยา และปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำสำหรับครีมทาฝ้าตัวอื่นหรือการรักษาฝ้าแบบอื่น

    วิธีรักษาฝ้าแบบอื่น ๆ

    บางรายที่เป็นฝ้ารุนแรง การทาครีมทาฝ้าเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้ผล อาจปรึกษาคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อเลือกรับการรักษาด้วยวิธีต่อไปนี้

    • การลอกผิวด้วยกรดเพื่อกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวใหม่
    • การฉายแสงเลเซอร์
    • กระตุ้นการผลิตคอลลาเจนในผิวหนังด้วยเข็มขนาดเล็ก (Microneedling)
    • การแยกพลาสมาออกจากเลือดแล้วฉีดเข้าสู่ผิวหนัง (Platelet-rich Plasma)

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา