backup og meta

Thermage คืออะไร ช่วยยกระชับผิวหนังได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 26/10/2022

    Thermage คืออะไร ช่วยยกระชับผิวหนังได้อย่างไร

    Thermage หรือเทอร์มาจ เป็นวิธีกระชับผิวหนังและลดริ้วรอยแห่งวัย ด้วยการส่งคลื่นวิทยุซึ่งเป็นพลังงานความร้อนผ่านอุปกรณ์เฉพาะไปยังผิวหนัง เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างโปรตีนคอลลาเจน ช่วยให้ผิวหนังเต่งตึงขึ้น ทั้งนี้ ผลลัพธ์ของเทอร์มาจจะเริ่มเห็นชัดภายใน 3-6 เดือนหลังเข้ารับบริการ จุดเด่นของเทอร์มาจคือ มักเห็นผลได้จากการทำเพียงครั้งเดียว ไม่เกิดแผลหลังทำ และไม่ต้องพักฟื้น แต่ราคาค่อนข้างสูง ก่อนตัดสินใจเข้าทำเทอร์มาจ จึงควรศึกษาข้อมูล ความเสี่ยง และข้อควรระวังให้ดีเสียก่อน

    Thermage คืออะไร

    เทอร์มาจ เป็นเทคโนโลยีกระชับผิว ด้วยการส่งพลังงานความร้อนจากคลื่นวิทยุความถี่สูงไปยังชั้นผิวหนังส่วนลึก เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างคอลลาเจนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยลดริ้วรอยแห่งวัย และทำให้ผิวหนังที่หย่อนคล้อยเต่งตึงขึ้น

    ทั้งนี้ ผิวหนังบริเวณที่สามารถทำเทอร์มาจได้ ประกอบด้วย ใบหน้า คอ แขน หัวเข่า สะโพก และหน้าท้อง

    ขั้นตอนการทำ 

    ขั้นตอนการกระชับผิวด้วยเทคโนโลยีเทอร์มาจ มีดังต่อไปนี้

  • คุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่ต้องการทำเทอร์มาจ
  • คุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญทาหรือสเปรย์ยาชาบนใบหน้าเพื่อลดความเจ็บปวด
  • คุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญแนบเครื่องมือเฉพาะบนใบหน้า เพื่อส่งคลื่นวิทยุความถี่สูงลงไปยังชั้นผิวหนังส่วนลึก ทั้งนี้ ระหว่างการทำเทอร์มาจ ผิวหนังชั้นที่อยู่ลึกลงไปบริเวณที่สัมผัสกับเครื่องจะรู้สึกร้อนเป็นช่วงสั้น ๆ
  • คุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญมักใช้เวลาทำเทอร์มาจประมาณ 30 นาที-2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับสภาพผิวหนังของแต่ละราย
  • เมื่อทำเทอร์มาจเสร็จแล้ว ผู้เข้ารับบริการสามารถกลับบ้านได้เลย
  • Thermage มีผลข้างเคียงหรือไม่

    หลังทำเทอร์มาจ ผิวหนังอาจมีอาการข้างเคียงที่มักหายได้เองภายใน 1-2 วัน ได้แก่

    1. ผิวหนังรอบ ๆ บริเวณที่ทำอาจแดงหรือบวมได้ แต่มักหายไปภายใน 24 ชั่วโมง
    2. อาจเกิดสีผิวเข้มขึ้นในบางราย
    3. อาจเกิดอาการคันยิบ ๆ ในบางราย

    ใช้เวลานานเท่าไหร่จึงจะเห็นผล

    ผลลัพธ์ของเทอร์มาจ มักเริ่มเห็นภายในช่วง 3-6 เดือนแรกหลังทำ และคงอยู่เป็นเวลาประมาณ 1-2 ปี โดยขึ้นอยู่กับสภาพผิวหรือสุขภาพของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ของเทอร์มาจอย่างเต็มประสิทธิภาพ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

    • หากเคยเข้ารับบริการเพื่อกระชับผิวหน้าหรือลดเลือนริ้วรอยมาแล้ว ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม ควรเว้นระยะ 4 สัปดาห์หรือมากกว่านั้นก่อนทำเทอร์มาจ เพราะหากเว้นระยะน้อยกว่านั้น ผิวหนังอาจเสี่ยงเกิดความเสียหายได้
    • ดื่มน้ำในปริมาณมาก และอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง
    • พักผ่อนให้เพียงพอและหลีกเลี่ยงความเครียด
    • ดูแลและปกป้องผิวจากแสงแดด ด้วยการทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไป ก่อนออกจากบ้านหรือเมื่อต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง

    ข้อดีของการทำเทอร์มาจ

    • ไม่ก่อให้เกิดแผลหลังทำ
    • ไม่รู้สึกเจ็บระหว่างทำ เพราะใช้ยาชา
    • ไม่ต้องพักฟื้น หรือใช้เวลาพักฟื้นน้อยมาก
    • เห็นผลดีขึ้นระดับหนึ่งหลังทำเพียง 1 ครั้ง

    ข้อเสียของการทำเทอร์มาจ

    • ราคาค่อนข้างสูง
    • ใช้เวลานานประมาณ 6 เดือนจึงจะเห็นผลลัพธ์ชัดเจนที่สุด

    Thermage ไม่เหมาะกับใคร

    ส่วนใหญ่ คนทั่วไปสามารถเข้ารับการกระชับผิวด้วยเทคโนโลยีเทอร์มาจได้ ยกเว้นกลุ่มบุคคลเหล่านี้

    • หญิงตั้งครรภ์ หรือหญิงในระยะให้นมบุตร
    • ผู้ที่ฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจในร่างกาย
    • ผู้ที่ฝังเครื่องกระตุกสัญญาณไฟฟ้าหัวใจ
    • ผู้ที่เป็นโรคลมชัก
    • ผู้ที่มีการฝังเหล็กหรืออวัยวะเทียม
    • ผู้ป่วยโรคมะเร็ง

    ต่างกับ Ulthera อย่างไร

    เทอร์มาจและอัลเทอรา (Ulthera หรือ Ultherapy) เป็นเทคโนโลยีกระชับผิวหนังที่หย่อนคล้อยและลดริ้วรอยเหมือนกัน โดยเทอร์มาจใช้คลื่นวิทยุ ขณะที่อัลเทอราใช้คลื่นอัลตราซาวด์เพื่อกระตุ้นให้ผิวหนังสร้างคอลลาเจนเพิ่มขึ้น

    นอกจากนี้ เทอร์มาจใช้กระชับผิวได้เกือบทุกส่วนทั่วทั้งร่างกาย ส่วนอัลเทอราสามารถใช้เพื่อกระชับบริเวณใบหน้า ใต้คาง คอ และหน้าอกเท่านั้น

    สำหรับระยะเวลาเห็นผลลัพธ์และระยะเวลาที่ผลลัพธ์คงอยู่ อัลเทอรามักเห็นผลชัดเจนเร็วกว่าเทอร์มาจ คือภายใน 2-3 เดือน หลังเข้ารับบริการแต่ผลลัพธ์จะคงอยู่เพียงประมาณ 1 ปีเท่านั้น

    อย่างไรก็ตาม ทั้งเทอร์มาจและอัลเทอรามีจุดเด่นคล้าย ๆ กัน คือเห็นผลได้ตั้งแต่การทำครั้งแรก ไม่ทำให้หน้าเป็นแผล และไม่ต้องพักฟื้นหลังเข้ารับบริการ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 26/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา