backup og meta

คันตามตัว เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 07/11/2022

    คันตามตัว เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

    คันตามตัว เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาจเกิดจากปัญหาสภาพผิว เช่น ผิวแห้ง กลาก ความผิดปกติของระบบประสาท ความระคายเคือง อาการแพ้ โรคจิตเวช หรืออาจเกิดจากโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคไต ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการคันตามตัวได้เช่นกัน

    คันตามตัว เกิดจากอะไร

    อาการคันตามตัวอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

    ผิวแห้ง

    ผิวแห้งโดยเฉพาะในฤดูหนาวหรือช่วงที่มีอากาศแห้ง อาจส่งผลทำให้ผิวแห้งตึง แตก ลอกเป็นขุย คันตามตัว นอกจากนี้ หากใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นในผิวอาจทำให้มีอาการเจ็บปวดผิวร่วมด้วย

    แมลงกัดต่อย

    แมลงกัดต่อยหรือปรสิตที่อาศัยอยู่ตามผิวหนัง เช่น เหา หิด โลน ยุง แมงมุม ตัวเรือด อาจก่อให้เกิดอาการคันได้ เนื่องจากเหล็กในและเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัสที่มาจากสัตว์หรือปรสิตอาจกระตุ้นให้ผิวหนังเกิดอาการแพ้ และกระตุ้นปฏิกิริยากำจัดเชื้อโรคของระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย จนอาจส่งผลทำให้คันตามตัว ผื่น บวมแดง และเป็นแผลพุพองได้

    การตั้งครรภ์และวัยหมดประจำเดือน

    ผู้หญิงตั้งครรภ์และวัยหมดประจำเดือนมักมีอาการคันตามตัวซึ่งเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายที่มากขึ้น เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจนมากขึ้น ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนต่ำลง ส่งผลต่อการตกไข่ ทำให้มีอาการร้อนวูบวาบ ช่องคลอดแห้งและคัน เมื่อเวลาผ่านไปอาการคันจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ

    โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

    ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เกิดโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง แต่มักทำให้มีอาการคันรุนแรง ผิวหนังแห้งเป็นหย่อม ตกสะเก็ด ผื่น หรืออาจมีแผลพุพอง โรคนี้อาจพบบ่อยในเด็กที่ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหอบหืดหรือภูมิแพ้อาหาร ซึ่งอาจทำให้อาการของโรคแย่ลงได้

    ลมพิษ

    ลมพิษเป็นอาการแพ้ที่เกิดจากสิ่งกระตุ้นภายนอก เช่น อาหาร เหงื่อ ความร้อน ความเครียด มักทำให้ผู้ป่วยมีอาการคันตามตัว ผื่นแดงนูน กระจายเป็นวงกว้าง อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการแพ้

    โรคสะเก็ดเงิน

    โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้การผลิตเซลล์ผิวหนังใหม่เกิดขึ้นเร็วเกินไป ในขณะที่เซลล์ผิวหนังเก่ายังไม่หลุดลอกออกตามธรรมชาติ ทำให้ผิวหนังก่อตัวหนาขึ้น จนเกิดการอักเสบที่ผิวหนัง ผิวนูน หยาบ ลอก แตกเป็นขุย และคันตามตัว

    ยาบางชนิด

    การใช้ยาบางชนิดในการรักษาโรคอาจส่งผลต่อผิวหนัง ทำให้มีอาการคัน ระคายเคือง ไม่มีผื่น เช่น ยาความดันโลหิตสูงบางชนิด อัลโลพูรินอล (Allopurinol) รักษาโรคเกาต์ อะมิโอดาโรน (Amiodarone) รักษาจังหวะการเต้นหัวใจ ยาขับปัสสาวะ เอสโตรเจน ไฮดรอกซีเอทิล เซลลูโลส (Hydroxyethyl Cellulose) ใช้ระหว่างผ่าตัด ซิมวาสทาทิน (Simvastatin) รักษาคอเลสเตอรอลสูง ยาแก้ปวดบางชนิด เช่น อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) ไอบูโพรเฟน นาโพรเซน โซเดียม (Naproxen Sodium) หากผู้ป่วยใช้ยาเหล่านี้แล้วมีอาการคันเรื้อรังควรพบคุณหมอเพื่อเปลี่ยนยา หรือรับการรักษาแบบอื่น

    ระบบประสาท

    ความผิดปกติของระบบประสาทในขณะที่ป่วย อาจทำให้ระบบประสาทเกิดความสับสนและส่งสัญญาณไปยังผิวหนังว่ามีอาการคัน ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกคันตามตัว ต้องการเกา ไม่มีผื่น และอาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองได้ พบบ่อยในผู้ป่วยโรคงูสวัด เส้นเลือดตีบ เนื้องอกในสมอง เส้นประสาทเสื่อม โรคหลอดเลือดสมอง เส้นประสาทถูกกดทับ โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง เป็นต้น

    โรคจิตเวช

    อาการป่วยทางจิตอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการคันเรื้อรังที่ผิวหนัง แม้ว่าจะไม่มีสาเหตุของโรคผิวหนัง ผู้ป่วยอาจรู้สึกเหมือนมีการเคลื่อนไหวที่ผิวหนัง อยากเกา หรือขีดข่วนร่างกายบ่อยครั้ง ส่วนใหญ่อาการคันตามตัวเหล่านี้มักเป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล โรคจิตเภท โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคดึงผมตนเอง (Trichotillomania) เป็นต้น

    การระคายเคืองและอาการแพ้จากการสัมผัสสิ่งกระตุ้น

    บางคนอาจมีอาการคันเกิดขึ้นเมื่อผิวหนังสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นอาการโดยตรง เช่น สารเคมี ขนสัตว์ โลหะในเครื่องประดับ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์อาบน้ำ ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของโรคผื่นแพ้สัมผัส  คือ โรคผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่งที่ทำให้ผิวหนังมีอาการคัน พุพอง แห้ง และแตก เมื่อผิวหนังได้สัมผัสกับสารระคายเคืองที่กระตุ้นอาการ

    โรคเรื้อรังบางชนิด

    โรคเรื้อรังบางชนิดอาจก่อให้เกิดอาการคันรุนแรงได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคไต ปัญหาต่อมไทรอย มะเร็งบางชนิด เอชไอวี นอกจากนี้ อาการคันอาจเกิดขึ้นในขณะที่ทำการรักษาโรคเรื้อรังเหล่านี้ เช่น การล้างไต การทำเคมีบำบัด การฉายแสง เนื่องจากส่วนประกอบของยาหรือวิธีการรักษาอาจส่งผลทำให้ผิวหนังแห้งตึงและเกิดอาการคัน

    เมื่อไหร่ควรพบคุณหมอ

    หากมีความผิดปกติเหล่านี้ร่วมกับอาการคันตามตัว ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา

    • อาการคันตามตัวรุนแรงขึ้นและยาวนานกว่า 2 สัปดาห์ และอาการไม่ดีขึ้นถึงแม้จะดูแลตัวเองหรือทายา
    • อาการคันตามตัวรบกวนการใช้ชีวิตและการทำงาน
    • อาการคันเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและส่งผลกระทบต่อร่างกาย เช่น ตุ่ม ผิวแดง เป็นแผล
    • อาการคันเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้ เหงื่อออกตอนกลางคืน

    การรักษาอาการคันตามตัว

    การรักษาอาการคันตามตัวคุณหมออาจสั่งยาเพื่อช่วยลดอาการคันตามสาเหตุ ดังนี้

    • คอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่ (Corticosteroid) ใช้ทาบริเวณผิวที่มีอาการคันและแดง เพื่อช่วยบรรเทาอาการ ใช้รักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคผื่นแพ้สัมผัส โรคสะเก็ดเงิน
    • ครีมและขี้ผึ้งเฉพาะที่อื่น ๆ เพื่อช่วยบรรเทาอาการคันตามผิวหนัง ได้แก่ สารยับยั้ง Calcineurin เช่น ทาโครลิมัส (Tacrolimus) พิเมโครลิมัส (Pimecrolimus) ยาทาเฉพาะที่ เช่น แคปไซซิน (Capsaicin) ด็อกเซพิน (Doxepin) ใช้รักษาลมพิษ  โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคผื่นแพ้สัมผัส โรคสะเก็ดเงิน
    • ยารับประทาน ยาต้านเศร้า (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors หรือ SSRI) เช่น ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) เซอร์ทราลีน (Sertraline) ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants) อาจช่วยบรรเทาอาการคันเรื้อรังบางชนิดได้ ใช้รักษาลมพิษเรื้อรัง
    • การรักษาด้วยแสง เป็นวิธีการฉายแสงบนผิวหนังในบริเวณที่มีอาการคัน โดยวิธีรักษานี้อาจต้องทำหลายครั้งจนกว่าอาการคันจะดีขึ้น ใช้รักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคผื่นแพ้สัมผัส  โรคสะเก็ดเงิน
    • ยารับประทานและยาเฉพาะที่ใช้บรรเทาอาการแมลงกัดต่อย เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน ยาเม็ดต่อต้านฮีสตามีน ครีมไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone Cream) ช่วยบรรเทาอาการแพ้ ปวด และคัน

    การรักษาอาการคันจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคจิตเวช ปัญหาระบบประสาท วัยหมดประจำเดือน การใช้ยาบางชนิด และโรคเรื้อรังบางชนิด อาจจำเป็นต้องรักษาสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการคัน เช่น

    • วัยหมดประจำเดือน เพื่อลดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่อาจทำให้เกิดอาการคัน อาจต้องรักษาด้วยวิธีปรับสมดุลฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิด บำบัดด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน ยาต้านฮอร์โมนแอนโดรเจน
    • การใช้ยาบางชนิด โดยปกติหากหยุดใช้ยา อาการคันจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ควรปรึกษาคุณหมอก่อนหยุดใช้ยาเพื่อไม่ให้กระทบต่อการรักษา

    นอกจากนี้ อาจบรรเทาอาการคันตามตัวที่เกิดขึ้นด้วยวิธีเหล่านี้

    • หลีกเลี่ยงสถานที่หรือสิ่งของที่อาจกระตุ้นอาการคัน พยายามค้นหาสาเหตุที่อาจมีส่วนกระตุ้นอาการบนผิวหนัง เช่น เสื้อขนสัตว์ เกสรดอกไม้ การอาบน้ำร้อน
    • ให้ความชุ่มชื้นกับผิวเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังอาบน้ำในขณะที่ผิวยังชื้นควรทามอยส์เจอไรเซอร์เพื่อเพิ่มและกักเก็บความชุ่มชื้นในผิว ทั้งยังอาจช่วยลดอาการแห้งตึงและอาการคันได้
    • รักษาหนังศีรษะ บางคนอาจมีอาการแห้งและคันบนหนังศีรษะ เลือกใช้ผลิตภัณที่มีส่วนประกอบของซิงค์ ไพริไธโอน (Zinc Pyrithione) คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ซีลีเนียม ซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) นอกจากนี้ ควรเลือกสูตรที่เหมาะกับสภาพเส้นผมและไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้
    • จัดการความเครียดและความวิตกกังวล ด้วยการเล่นโยคะ นั่งสมาธิ อ่านหนังสือ วาดรูป ทำสวนเพราะความเครียดและความวิตกกังวลอาจทำให้อาการคันแย่ลงได้
    • รับประทานยารักษาโรคภูมิแพ้ เช่น ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) เป็นยาแก้แพ้ช่วยบรรเทาอาการคัน แต่อาจทำให้มีอาการง่วงนอนได้
    • หลีกเลี่ยงการเกา เพราะการเกาอาจทำให้ผิวหนังบาดเจ็บและอาจเพิ่มโอกาสการติดเชื้อที่ผิวหนังได้เช่นกัน
    • พักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับพักผ่อนอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอาการคันที่ผิว รวมถึงอาจช่วยป้องกันไม่ให้อาการคันแย่ลงได้

    การป้องกันอาการคันตามตัว

    การป้องกันอาการคันตามตัวอาจทำได้ ดังนี้

    • อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะหลังออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาที่มีเหงื่อออกมาก และควรอาบน้ำด้วยอุณหภูมิปกติ ใช้ระยะเวลาการอาบน้ำให้สั้นลงไม่เกิน 5-10 นาที เพื่อป้องกันผิวแห้ง
    • ใช้ผลิตภัณฑ์อาบน้ำสูตรอ่อนโยน ปราศจากน้ำหอม มีคุณสมบัติช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรีย และไม่ทำให้ผิวแห้งตึงจนเกินไป
    • เช็ดตัวให้แห้ง หลังจากอาบน้ำทุกครั้งควรเช็ดตัวให้แห้งด้วยการซับเบา ๆ ก่อนใส่เสื้อผ้าเพื่อป้องกันการอับชื้น
    • ให้ความชุ่มชื้นกับผิว หลังจากอาบน้ำในขณะที่ตัวยังชื้นควรทาครีม โลชั่น หรือมอยเจอร์ไรซอร์เพื่อเพิ่มและกักเก็บความชุ่มชื้นในผิว

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 07/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา