backup og meta

คันเปลือกตา สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและการป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/02/2023

    คันเปลือกตา สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและการป้องกัน

    อาการ คันเปลือกตา อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ตาแห้งจนระคายเคือง การสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้อย่างขนสัตว์ ฝุ่นละออง ควันบุหรี่ น้ำหอม ไรฝุ่น การติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคตาแดง หรือแม้กระทั่งการใช้คอนแทคเลนส์หรืออายไลเนอร์ก็อาจทำให้เกิดระคายเคืองและคันเปลือกตาได้เช่นกัน อาการคันเปลือกตาอาจบรรเทาได้ด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำเย็นบิดหมาดเช็ดบริเวณเปลือกตาและหัวตาเบา ๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือขยี้ตา งดใช้คอนแทคเลนส์ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ แต่หากดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

    คันเปลือกตา เกิดจากอะไรได้บ้าง

    อาการคันเปลือกตา อาจเกิดจากปัจจัยต่อไปนี้

    • การสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ฝุ่นควัน ไรฝุ่น เชื้อรา ขนสัตว์ ควันบุหรี่ น้ำหอม สารเคมี ควันจากท่อไอเสีย เครื่องสำอาง ยาหยอดยา เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของอาการดวงตาระคายเคืองและคันเปลือกตา
    • โรคตาแดง เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อในกลุ่มอะดีโนไวรัส (Adenovirus) ทำให้ร่างกายตอบสนองด้วยการหลั่งฮีสตามีน ส่งผลให้หลอดเลือดบริเวณดวงตาขยายตัวและทำให้เกิดการระคายเคือง จนอาจมีอาการคันเปลือกตาได้
    • โรคเปลือกตาอักเสบ (Blepharitis) หรือโรคหนังตาอักเสบ มักเกิดจากการติดเชื้อเนื่องจากต่อมไขมันขนาดเล็กที่โคนขนตาอุดตัน อาจทำให้ตาแดงและระคายเคือง หากเกิดขึ้นร่วมกับการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้หรือโรคผิวหนังอักเสบ อาจทำให้อาการแย่ลงได้
    • ตาแห้ง โดยปกติแล้วน้ำมันจากต่อมไขมัน น้ำตา และโปรตีนในน้ำตาจะทำหน้าที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา แต่หากมีของเหลวเหล่านี้น้อยกว่าปกติ อาจทำให้ตาแห้งจนระคายเคืองและมีอาการคันเปลือกตาได้
    • การสัมผัสสิ่งแปลกปลอม หากสิ่งแปลกปลอม เช่น ทราย สิ่งสกปรก ติดอยู่ในดวงตา อาจทำให้ระคายเคืองและคันเปลือกตาได้
    • การใช้คอนแทคเลนส์ อาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง คันเปลือกตา โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ที่ร่างกายยังไม่คุ้นชินกับการใส่คอนแทคเลนส์ อีกทั้งคอนแทคเลนส์ยังอาจดักจับสิ่งสกปรกและเชื้อโรคจนอาจนำไปสู่การติดเชื้อได้ จึงควรใช้คอนแทคเลนส์แต่ละคู่ตามอายุการใช้งานที่ระบุข้างกล่อง และไม่ใส่คอนแทคเลนส์นานเกิน 8 ชั่วโมง/วัน เพราะอาจทำให้ตาแห้ง ระคายเคือง และติดเชื้อได้ง่าย
    • การใช้ยาบางชนิด ที่อาจเกิดอาการแพ้และมีผื่นที่เปลือกตา ทำให้มีอาการคันเปลือกตา น้ำตาไหล มีผื่นที่เปลือกตาได้

    อาการคันเปลือกตา

    อาการคันเปลือกตา อาจเกิดร่วมกับอาการต่อไปนี้

    • อาการแสบร้อนบริเวณเปลือกตาและดวงตา
    • มีขี้ตาคล้ายเมือกเหนียวสีเขียวหรือเหลือง
    • น้ำตาไหล
    • ตาแดง
    • น้ำมูกไหล
    • จาม

    วิธีรักษาเมื่อคันเปลือกตา

    วิธีรักษาเมื่อ คันเปลือกตา อาจทำได้ดังนี้

    • ล้างมือให้สะอาดแล้วเช็ดมือให้แห้ง จากนั้นล้างตาด้วยน้ำเกลือ อาจช่วยขจัดสิ่งแปลกปลอม และบรรเทาอาการคันเปลือกตาได้
    • อาการคันเปลือกตาที่เกิดจากการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้อาจรักษาได้ด้วยการใช้ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines) เช่น เฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) เดสลอราทาดีน (Desloratadine) ทั้งนี้ ควรปรึกษาคุณหมอและเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา
    • อาการคันเปลือกตาเนื่องจากเป็นโรคตาแดงจากเชื้อแบคทีเรียอาจหายได้หลังหยอดยาปฏิชีวนะ ระหว่างที่เป็นตาแดงควรพักผ่อนให้มาก ๆ ใช้สายตาให้น้อยที่สุด หยอดน้ำตาเทียมเมื่อเคืองตาหรือตาแห้ง หลีกเลี่ยงการขยี้ตาเพราะอาจทำให้ระคายเคืองและเชื้อยิ่งลุกลาม และงดใส่คอนแทคเลนส์จนกว่าจะหายดี
    • หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สารก่อภูมิแพ้เพราะอาจทำให้อาการคันเปลือกตาหายช้าลงหรือแย่ลงได้ และควรรักษาสภาพแวดล้อมรอบตัวให้ปลอดสารก่อภูมิแพ้เสมอ เช่น ปิดหน้าต่างหรือประตูเพื่อป้องกันเกสรดอกไม้ปลิวเข้าบ้าน ไม่ให้สัตว์เลี้ยงเข้าห้องนอน ทำความสะอาดเครื่องนอนเป็นประจำ สวมแว่นกันแดดหรือแว่นกรองแสงเมื่อออกไปข้างนอกเพื่อลดการสัมผัสกับฝุ่นละอองหรือสิ่งสกปรกในอากาศ
    • หากเคืองตา ไม่ควรขยี้ตา เนื่องจากอาจทำให้ระคายเคืองมากกว่าเดิม และอาจทำให้สารก่อภูมิแพ้ สิ่งสกปรก หรือเชื้อโรคที่ติดอยู่บนมือเข้าตาหรือเปลือกตา จนเกิดปัญหาสุขภาพอย่างชั้นกระจกตาโก่ง เป็นโรคตาแดง เป็นโรคเปลือกตาอักเสบ เป็นต้น
    • หยอดน้ำตาเทียม บ่อยๆ เมื่อรู้สึกระคายเคือง จะช่วยลดอาการคันตาได้

    วิธีป้องกันอาการคันเปลือกตา

    วิธีป้องกันอาการ คันเปลือกตา อาจทำได้ดังนี้

    • ก่อนสัมผัสใบหน้า และใส่คอนแทคเลนส์ ควรล้างมือด้วยน้ำเปล่าและสบู่ จากนั้นเช็ดมือให้แห้งสะอาด โดยเฉพาะหลังใช้ห้องน้ำ
    • หากตาแห้งและระคายเคืองได้ง่าย ควรหมั่นหยอดน้ำตาเทียม เพื่อให้ดวงตาชุ่มชื้นขึ้น
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตาหรือขยี้ตาเมื่อรู้สึกระคายเคือง เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคจากนิ้วมือเข้าสู่ดวงตาหรือสะสมที่เปลือกตา จนทำให้ยิ่งคันเปลือกตาหรือเกิดปัญหาสุขภาพตาอื่น ๆ
    • ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์เกินวันละ 8 ชั่วโมง หากเป็นคอนแทคเลนส์รายวัน ควรใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง หากเป็นคอนแทคเลนส์รายสัปดาห์หรือรายเดือน ควรถอดแล้วถูทำความสะอาดในน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ จากนั้นแช่เก็บไว้ในตลับใส่คอนแทคเลนส์สะอาดและที่มีน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ ควรเปลี่ยนน้ำยาคอนแทคเลนส์ภายในตลับทุกวันแม้ว่าจะไม่ได้ใส่คอนแทคเลนส์ทุกวัน ล้างตลับให้สะอาดทุกครั้งก่อนใช้เก็บรักษาคอนแทคเลนส์ และควรเปลี่ยนคอนแทคเลนส์ใหม่ทันทีเมื่อหมดอายุการใช้งาน
    • ล้างหน้าและคราบเครื่องสำอางให้สะอาดทุกครั้งก่อนเข้านอน โดยเฉพาะบริเวณดวงตา เพื่อป้องกันรูขุมขนอุดตัน นอกจากนี้ ไม่ควรใช้เครื่องสำอางร่วมกับผู้อื่น และควรเปลี่ยนเครื่องสำอางทันทีเมื่อหมดอายุเพื่อป้องกันการสะสมของแบคทีเรีย โดยมาสคาร่าและอายไลเนอร์จะมีอายุการใช้งานประมาณ 3-6 เดือนหลังเปิดใช้แล้ว

    เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    หากดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุของความผิดปกติและรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม

    • ดวงตามีเมือกหนาหรือขี้ตาข้น
    • ไม่สามารถลืมตาได้ตามปกติ
    • ลืมตานาน ๆ ไม่ได้
    • สายตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัดเจน
    • รู้สึกเคืองตาเหมือนมีอะไรติดอยู่
    • มองเห็นรัศมีรอบวัตถุที่มีแสงสว่าง เช่น ดวงไฟ
    • ตาบวม
    • ปวดตา

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา