backup og meta

จุดแดงขึ้นตามตัว อาการ สาเหตุและการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 23/01/2024

    จุดแดงขึ้นตามตัว อาการ สาเหตุและการรักษา

    จุดแดงขึ้นตามตัว เป็นอาการของภาวะทางผิวหนังที่อาจเกิดขึ้นได้จากอาการแพ้หรือโรคผิวหนังบางชนิด เช่น ขนคุด ผิวเป็นหนังไก่ ผดร้อน โรคผื่นระคายสัมผัส (Contact Dermatitis) โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea) การติดเชื้อที่ผิวหนัง ซึ่งโรคเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการจุดแดงขึ้นตามตัว มีไข้ คัน ตุ่มพุพอง ผิวแห้ง แตกเป็นสะเก็ด หรืออาจมีหนองร่วมด้วย จึงควรสังเกตอาการอื่น ๆ ของโรคผิวหนังที่แตกต่างกัน และเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาในขั้นตอนต่อไป

    จุดแดงขึ้นตามตัว เกิดจากสาเหตุใด

    จุดแดงขึ้นตามตัวอาจเป็นอาการของโรคผิวหนังที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

    ขนคุด ผิวเป็นหนังไก่

    ขนคุด ผิวหนังไก่ เป็นภาวะทางผิวหนังที่ไม่สามารถรักษาหรือป้องกันได้ แต่ไม่อันตรายต่อสุขภาพ อาจมีสาเหตุมาจากเคราติน (Keratin) ซึ่งเป็นโปรตีนบนผิวหนังชนิดหนึ่งที่มีหน้าที่ในการปกป้องผิวจากแสงอาทิตย์ เกิดการสะสมอยู่บนผิวหนังจำนวนมากจนอุดตันรูขุมขน มักเกิดขึ้นบริเวณรักแร้ ต้นแขน ต้นขา แก้มหรือก้น ทำให้เกิดอาการผิวแห้ง หยาบคล้ายกระดาษทราย มีตุ่มหรือจุดแดงขึ้นตามตัว

    การรักษา ขนคุด ผิวหนังไก่อาจค่อย ๆ หายได้เอง โดยอาจรักษาได้ด้วยการใช้มอยเจอไรเซอร์เพื่อให้ความชุ่มชื้นกับผิว แต่หากอาการรุนแรง คุณหมออาจให้ยารักษาเฉพาะที่ เช่น

    • ครีมสำหรับขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว อาจมีส่วนผสมของกรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha Hydroxy Acid) กรดแลคติก (Lactic Acid) กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) หรือยูเรีย (Urea) ที่ช่วยให้ความชุ่มชื้นและช่วยขจัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพ รวมถึงช่วยให้ผิวใหม่ดูเรียบเนียนและนุ่มขึ้น
    • ครีมป้องกันรูขุมขนอุดตัน อาจมีส่วนประกอบของวิตามินเอ เช่น เตรทติโนอิน (Tretinoin) ทาซาโรทีน (Tazarotene)

    ผดร้อน

    ผดร้อน อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยทารกไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากรูขุมขนบนผิวหนังอุดตันหรืออักเสบจนเหงื่อไม่สามารถระบายออกมาได้อย่างสะดวก โดยเฉพาะในช่วงที่สภาพอากาศร้อนจนร่างกายขับเหงื่อออกมามากกว่าปกติ เมื่อเหงื่อไม่สามารถระบายออกมาได้จึงส่งผลให้เหงื่อถูกกักไว้ใต้ชั้นผิวหนังจนทำให้เกิดการระคายเคือง มีผื่นและจุดแดงขึ้นตามตัว

    การรักษา เพื่อช่วยให้ผดร้อนดีขึ้นควรรักษาด้วยการทำให้ผิวเย็นลง เช่น การอาบน้ำ การประคบน้ำแข็ง หลีกเลี่ยงการสัมผัสความร้อนและการอยู่ในสถานที่ที่อากาศไม่ถ่ายเทหรืออบอ้าวที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการผดร้อน

    โรคผื่นระคายสัมผัส

    โรคผื่นระคายสัมผัส เกิดจากการสัมผัสกับสารบางชนิด จนทำให้ผิวหนังแห้ง ระคายเคือง คัน ตุ่มพุพอง จุดแดงขึ้นตามตัว  ผิวแห้งและแตก ซึ่งอาการของโรคผื่นระคายสัมผัสอาจหายได้เองเมื่อหลีกเลี่ยงสารกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ

    การรักษา หากอาการของโรคผื่นระคายสัมผัสไม่หายไปหรือมีอาการรุนแรงขึ้น คุณหมออาจแนะนำให้ใช้มอยเจอไรเซอร์ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว หรือให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่ (Corticosteroids) เพื่อบรรเทาความรุนแรงของอาการและลดการอักเสบ

    โรคภูมิแพ้ผิวหนัง

    โรคภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นภาวะทางผิวหนังที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยมีสาเหตุมาจากผิวหนังชั้นที่มีหน้าที่ในการรักษาความชุ่มชื้นและปกป้องผิวจากแบคทีเรียอ่อนแอลง เนื่องจากสารระคายเคือง สารก่อภูมิแพ้ ปัจจัยสภาพแวดล้อม พันธุกรรม ปัญหาสุขภาพ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคไข้ละอองฟาง โรคหอบหืด ส่งผลให้ผิวหนังแห้ง ผื่นเป็นแผ่นแดง ตุ่มหรือจุดแดงขึ้นตามตัว คันรุนแรง ผิวตกสะเก็ด

    การรักษา โรคภูมิแพ้ผิวหนังอาจรักษาได้ด้วยยา เช่น ทาโครลิมัส (Tacrolimus) พิเมโครลิมัส (Pimecrolimus) ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ยาควบคุมการอักเสบ ซึ่งเป็นยาที่ช่วยรักษาอาการผื่นแดง คัน ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและลดการอักเสบ

    โรคผิวหนังอักเสบโรซาเซีย

    โรคผิวหนังอักเสบโรซาเซีย เป็นโรคที่ทำให้เกิดรอยแดงหรือจุดแดงบนผิวในระยะยาว และมองเห็นหลอดเลือดเป็นสีแดงบนใบหน้าอย่างชัดเจน รวมถึงอาจทำให้มีอาการผิวแห้ง บวมบริเวณรอบดวงตา ผิวอาจมีสีเหลืองส้ม เจ็บเปลือกตา ผิวหนาบริเวณจมูก รอยแดงหรือจุดแดงขึ้นตามตัว โดยอาจพบได้บ่อยในผู้ที่มีผิวสีแทนและมักเกิดขึ้นบริเวณใบหน้า ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดในการเกิดโรคซาเซีย แต่อาจมีสาเหตุมาจากระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง พันธุกรรม สภาพแวดล้อมหรืออาหาร เป็นต้น

    การรักษา โรคผิวหนังอักเสบโรซาเซียอาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่อาจบรรเทาและควบคุมอาการของโรคได้ โดยคุณหมออาจให้ยารักษา เช่น ยาลดอาการแดง ยาปฏิชีวนะเพื่อลดความรุนแรงของตุ่มแดง หรือคุณหมออาจแนะนำการรักษาด้วยการทำเลเซอร์เพื่อลดขนาดหลอดเลือด ซึ่งอาจช่วยให้มองเห็นหลอดเลือดสีแดงบนผิวหนังลดลง

    การติดเชื้อที่ผิวหนัง

    การติดเชื้อที่ผิวหนังบางชนิดอาจก่อให้เกิดอาการจุดแดงขึ้นตามตัวได้ เช่น

    • โรคงูสวัดและอีสุกอีใส เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella Virus) ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดได้ทั้งโรคอีสุกอีใสและโรคงูสวัด อาจทำให้มีอาการแผลพุพองสีแดง ตุ่มหรือจุดแดงขึ้นตามตัว คัน และอาจมีของเหลวใสร่วมด้วย

    การรักษา เด็กจะได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคอีสุกอีใสตั้งแต่เด็ก จึงอาจช่วยลดความรุนแรงของโรคอีสุกอีใสได้ แต่หากการติดเชื้อไวรัสเป็นอีสุกอีใส อาจกำเริบจนทำให้เกิดโรคงูสวัดได้ในอนาคต คุณหมออาจให้ยาต้านไวรัสอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) และแฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir) เพื่อชะลอการติดเชื้องูสวัด ลดอาการปวดและช่วยให้ตุ่มหายเร็วขึ้น

  • โรคหัดเยอรมัน เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มักก่อให้เกิดผื่นแดง จุดแดงขึ้นตามตัว โดยผื่นมักเริ่มที่ใบหน้าและลามไปตามลำตัว แขนและขา บางคนอาจมีอาการไข้ ปวดหัว ต่อมน้ำเหลืองบวมร่วมด้วย
  • การรักษา โรคหัดเยอรมันเป็นโรคที่ไม่มียาต้านไวรัส เด็กจึงควรได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคหัดเยอรมันตั้งแต่ทารก สำหรับผู้ใหญ่ คุณหมออาจรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ เช็ดตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำ พักผ่อนให้เพียงพอ

    • โรคไข้อีดำอีแดง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโทคอกคัสชนิดเอ (Group A Streptococcus) ที่ทำให้เกิดอาการผื่นแดงหยาบที่คอ จุดแดงขึ้นตามตัว ใต้รักแร้ และขาหนีบ

    การรักษา คุณหมออาจสั่งยาปฏิชีวนะ ยาไอบูโพรเฟน พาราเซตามอล เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ควบคุมไข้และลดอาการเจ็บคอ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 23/01/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา