backup og meta

ตัดไขมันกระพุ้งแก้ม คืออะไร มีความเสี่ยงหรือไม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 26/10/2022

    ตัดไขมันกระพุ้งแก้ม คืออะไร มีความเสี่ยงหรือไม่

    การ ตัดไขมันกระพุ้งแก้ม (Buccal fat pad removal) ด้วยวิธีทางการแพทย์ เป็นอีกทางเลือกในการลดไขมันที่สะสมอยู่ที่บริเวณใบหน้า หลังผ่าตัดอาจช่วยปรับรูปหน้าให้ดูเรียวและดูมีขนาดเล็กลงได้ การผ่าตัดไขมันกระพุ้งแก้มควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และผู้ที่สนใจเข้ารับการผ่าตัดชนิดนี้ควรศึกษาขั้นตอนการตัดไขมันกระพุ้งแก้มและวิธีดูแลตัวเองหลังผ่าตัดอย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงบางประการ เช่น การติดเชื้อ ใบหน้าหลังผ่าตัดไม่สมมาตร ทั้งนี้ ผลลัพธ์ที่ได้ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

    การ ตัดไขมันกระพุ้งแก้ม คืออะไร

    การตัดไขมันกระพุ้งแก้ม คือ การผ่าตัดขนาดเล็กเพื่อลดปริมาณไขมันบริเวณกระพุ้งแก้ม ซึ่งเป็นแผ่นไขมันใต้ชั้นกล้ามเนื้อที่อยู่ใต้โหนกแก้มไปจนถึงช่วงขากรรไกร การตัดไขมันกระพุ้งแก้มโดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 40-60 นาที หลังผ่าตัดอาจช่วยให้รูปหน้าดูเรียวขึ้นโดยไม่ทำให้เกิดบาดแผลภายนอก ผู้ที่จะเข้ารับการไขมันกระพุ้งแก้มไม่ต้องรับยาสลบ แต่รับเพียงยาชาเฉพาะที่ จึงถือเป็นการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงน้อย แต่หากทำควบคู่กับการศัลยกรรมใบหน้าอื่น ๆ เช่น การดึงหน้า การดูดไขมัน อาจจำเป็นต้องใช้ยาสลบร่วมด้วย การพักฟื้นหลังผ่าตัดส่วนใหญ่อาจใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ แต่อาจต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะเห็นผลลัพธ์ชัดเจน

    นอกจากการตัดไขมันกระพุ้งแก้มแล้ว การควบคุมปริมาณอาหารและจำนวนแคลอรี่ที่รับประทานในแต่ละวัน ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็อาจช่วยลดน้ำหนักและปริมาณไขมันส่วนเกินที่สะสมอยู่บริเวณแก้มและบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายได้เช่นกัน

    ขั้นตอนการ ตัดไขมันกระพุ้งแก้ม

    การตัดไขมันกระพุ้งแก้ม อาจมีขั้นตอนดังนี้

    1. ก่อนเข้ารับการผ่าตัด คุณหมอจะให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดบ้วนน้ำยาฆ่าเชื้อ จากนั้นจะฉีดยาชาเฉพาะที่เพื่อให้รู้สึกชาบริเวณผิวแก้ม ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บขณะผ่าตัด
    2. เมื่อยาชาออกฤทธิ์ คุณหมอจะใช้มีดผ่าตัดกรีดแผลขนาดเล็กบริเวณผนังกระพุ้งแก้มทั้งสองข้างเพื่อเปิดผิว จากนั้นจึงกรีดผ่านชั้นกล้ามเนื้อไปยังชั้นไขมันกระพุ้งแก้ม
    3. คุณหมอจะนำชั้นไขมันกระพุ้งแก้มบางส่วนออก เพื่อลดปริมาณไขมันกระพุ้งแก้ม แล้วจึงเย็บปิดแผลด้วยไหมละลาย
    4. ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดไขมันกระพุ้งแก้มอาจต้องนอนพักฟื้นพร้อมกับประคบน้ำแข็งบริเวณแก้มทั้งสองข้าง และนอนสังเกตอาการประมาณ 30 นาที หากไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ คุณหมอจะอนุญาตให้กลับบ้านได้

    ความเสี่ยงของการตัดไขมันกระพุ้งแก้ม

    ความเสี่ยงของการตัดไขมันกระพุ้งแก้ม อาจมีดังนี้

    • การติดเชื้อบริเวณแผล หากดูแลแผลหลังผ่าตัดได้ไม่ดี อาจทำให้แผลหายช้ากว่าปกติ เกิดแผลเป็นบนใบหน้า หรืออาจทำให้เป็นโรคบาดทะยัก โรคเนื้อเน่าหรือแบคทีเรียกินเนื้อ หรือหากเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
    • การบาดเจ็บที่เส้นประสาทบริเวณใบหน้า อาจทำให้เกิดอาการชาที่ใบหน้าและรับรู้ความรู้สึกต่าง ๆ ได้น้อยลง
    • ความเสียหายของท่อน้ำลาย อาจทำให้มีอาการริมฝีปากอ่อนแรงเมื่อพยายามเคลื่อนไหวหรือขยับปาก
    • ภาวะเลือดออกมากผิดปกติ อาจทำให้ร่างกายสูญเสียเลือดและของเหลวเร็วเกินไปจนเป็นอันตรายได้
    • ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำลึก ทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี อาจส่งผลให้มีอาการปวดและบวมช้ำบริเวณแก้ม
    • ภาวะใบหน้าไม่สมมาตร เนื่องจากผ่าตัดนำไขมันออกจากกระพุ้งแก้มแต่ละฝั่งไม่เท่ากัน ซึ่งอาจแก้ไขด้วยการผ่าตัดอีกครั้งเพื่อนำไขมันออกจากกระพุ้งแก้มส่วนที่มีไขมันเยอะกว่า โดยควรเว้นระยะการผ่าตัดครั้งใหม่อย่างน้อย 3 เดือน

    การดูแลตัวเองหลังตัดไขมันกระพุ้งแก้ม

    การดูแลตัวเองหลังตัดไขมันกระพุ้งแก้ม อาจทำได้ดังนี้

  • งดสูบบุหรี่ เนื่องจากสารพิษในบุหรี่ เช่น นิโคติน คาร์บอนมอนอกไซด์ มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดตีบตัน และลดความสามารถในการส่งสารอาหารที่จำเป็นไปยังเนื้อเยื่อ จึงอาจทำให้แผลหายช้าลง ต้องใช้เวลาพักฟื้นนานขึ้น ผู้ที่จะเข้ารับการตัดไขมันกระพุ้งแก้มจึงควรงดสูบบุหรี่อย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ทั้งก่อนและหลังเข้ารับการตัดไขมันกระพุ้งแก้ม
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด ก่อนผ่าตัดควรแจ้งประวัติทางการแพทย์ โรคประจำตัว รวมไปถึงประวัติการแพ้ยาให้คุณหมอทราบอย่างครบถ้วน และหลังผ่าตัดควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด รวมถึงไปพบคุณหมอตามนัดหมายเพื่อติดตามผลการผ่าตัด
  • ใช้ยาแก้ปวด หลังผ่าตัดอาจมีอาการปวดบวมที่แผลบริเวณแก้มทั้งสองข้าง ควรรับประทานยาแก้ปวดหรือทายาเพื่อบรรเทาอาการปวดบวม โดยทั่วไป อาการบวมและรอยฟกช้ำบริเวณแก้มจะค่อย ๆ หายไปเองภายใน 1 เดือน
  • หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด หลังการตัดไขมันกระพุ้งแก้มประมาณ 1-2 สัปดาห์ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจระคายเคืองช่องปาก เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารร้อน อาหารรสเผ็ด อาหารหมักดอง เพราะอาจทำให้แผลหายช้าได้
  • บ้วนปากบ่อย ๆ คุณหมออาจแนะนำให้ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดไขมันกระพุ้งแก้มใช้น้ำยาบ้วนปากชนิดพิเศษที่ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือให้บ้วนปากด้วยน้ำเปล่าทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 26/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา