backup og meta

ตาเป็นกุ้งยิง เกิดจากอะไร มีวิธีรักษาและป้องกันอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 29/03/2022

    ตาเป็นกุ้งยิง เกิดจากอะไร มีวิธีรักษาและป้องกันอย่างไร

    ตาเป็นกุ้งยิง คือ อาการตุ่มนูนแดงบริเวณเปลือกตาและอาจมีหนองอยู่ภายใน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ส่งผลให้ต่อมไขมันบริเวณเปลือกตาอักเสบ ส่วนใหญ่มักหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่หากมีอาการแย่ลง หรือตุ่มนูนมีขนาดใหญ่จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาทันที

    สาเหตุที่ทำให้ตาเป็นกุ้งยิง

    สาเหตุที่ทำให้ตาเป็นกุ้งยิง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ในต่อมที่ผลิตน้ำมันบริเวณเปลือกตา จนก่อให้เกิดตุ่มนูนคล้ายสิว สามารถเกิดขึ้นได้ในบริเวณโคนขนตาและภายในเปลือกตา ซึ่งมีอาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้

    • การใส่คอนแทคเลนส์และล้างคอนแทคเลนส์ไม่สะอาด ทำให้สิ่งสกปรกและเชื้อแบคทีเรียที่สะสมอยู่ในคอนแทคเลนส์สามารถเข้าสู่ดวงตาได้ง่าย
    • การล้างเครื่องสำอางบริเวณรอบดวงตาไม่สะอาด
    • การใช้อุปกรณ์แต่งหน้าที่มีการปนเปื้อนของแบคทีเรีย เช่น แปรงแต่งหน้า ฟองน้ำ
    • โรคต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน เกล็ดกระดี่ (Blepharitis) โรคผิวหนังอักเสบโรซาเซีย (Rosacea) โรคต่อมไขมันอักเสบ

    อาการของตาเป็นกุ้งยิง

    อาการของตาเป็นกุ้งยิง อาจสังเกตได้จาก

    • บริเวณเปลือกตามีตุ่มนูนแข็งและอาจมีหนองอยู่ด้านใน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวด
    • เปลือกตาบวม
    • รอยแดงบริเวณขอบตา
    • รู้สึกเหมือนมีอะไรเข้าตา

    วิธีการรักษาเมื่อตาเป็นกุ้งยิง

    วิธีการรักษาเมื่อตาเป็นกุ้งยิง อาจทำได้ดังนี้

    • ประคบร้อน ควรใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นและวางบนเปลือกตาเป็นเวลา 10-15 นาที ควรทำ 3-5 ครั้ง/วัน เพื่อช่วยให้ต่อมไขมันเปิดและระบายหนองออก นอกจากนี้ ยังอาจใช้วิธีการนวดเพื่อช่วยกระตุ้นการระบายหนอง ทั้งนี้ ควรล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังการสัมผัสบริเวณที่มีอาการ
    • ประคบด้วยถุงชา อาจใช้แทนประคบด้วยน้ำอุ่น โดยควรเลือกเป็นชาดำเพราะอาจมีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย และช่วยลดอาการบวม โดยนำถุงชาแช่ลงในน้ำอุ่นประมาณ 1 นาที รอจนกว่าถุงชาจะเย็นตัว จากนั้นจึงนำมาประคบบริเวณเปลือกตา 5-10 นาที หากเป็นตากุ้งยิงทั้ง 2 ข้าง ควรใช้ถุงชาข้างละถุง
    • ยาปฏิชีวนะ คุณหมออาจแนะนำยาหยอดตาหรือครีมทาบริเวณตากุ้งยิงเพื่อต้านเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ อาจรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ร่วมด้วยเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 16 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจเสี่ยงเป็นโรคเรย์ซินโดรม (Reye’s syndrome) ที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
    • การผ่าตัด หากอาการตากุ้งยิงแย่ลง และมีขนาดใหญ่จนส่งผลต่อการมองเห็น คุณหมออาจทำการผ่าตัดเพื่อช่วยระบายหนองในตากุ้งยิง
    • น้ำมันมะพร้าว มีคุณสมบัติที่อาจช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียได้ โดยนำน้ำมันมะพร้าวมาหยดลงบนสำลีและลูบบริเวณที่ได้รับผลกระทบเบา ๆ หรือประคบไว้ 15 นาที ก่อนล้างออกด้วยน้ำอุ่น ควรทำอย่างน้อย 3-5 ครั้ง/วัน

    ในระหว่างการรักษา ควรหลีกเลี่ยงการบีบและสัมผัสบริเวณตากุ้งยิง เนื่องจากอาจทำให้เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการแต่งหน้าจนกว่าจะหายจากอาการตาเป็นกุ้งยิง

    การป้องกันตาเป็นกุ้งยิง

    การป้องกันตาเป็นกุ้งยิง อาจทำได้ดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสบริเวณเปลือกตา และไม่ควรขยี้ตา
  • ไม่ควรใช้อุปกรณ์แต่งหน้าและผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่น และควรล้างทำความสะอาดอุปกรณ์แต่งหน้าบ่อย ๆ
  • เช็กวันหมดอายุของเครื่องสำอาง หรืออาจเปลี่ยนเครื่องสำอางทุก ๆ 3 เดือน
  • เช็ดทำความสะอาดเครื่องสำอางและล้างหน้าให้สะอาดก่อนนอน
  • ทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ทุกครั้งก่อนใส่และหลังใส่ ล้างมือให้สะอาดก่อนใส่และถอดคอนแทคเลนส์ และไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์นอน หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์
  • สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคเกล็ดกระดี่ขึ้นตา โรคผิวหนังอักเสบโรซาเซีย โรคต่อมไขมันอักเสบ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษา เพราะอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดตากุ้งยิงได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 29/03/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา