backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ติ่งเนื้อ อาการ สาเหตุและการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 10/08/2022

ติ่งเนื้อ อาการ สาเหตุและการรักษา

ติ่งเนื้อ เป็นการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อบนผิวหนังที่ไม่เป็นอันตรายและไม่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพใด ๆ หากไม่รู้สึกระคายเคืองจนรบกวนชีวิตประจำวัน ติ่งเนื้อ อาจมีสาเหตุมาจากการรวมตัวของเนื้อเยื้อ หลอดเลือด และคอลลาเจน หรือสาเหตุอื่น เช่น กรรมพันธุ์ โรคอ้วน โรคเบาหวาน การเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อที่ผิดปกติในช่วงเวลาที่ตั้งครรภ์ มักพบในบริเวณที่เป็นรอยพับของผิวหนัง และส่วนใหญ่เกิดขึ้นในผู้ใหญ่ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป

คำจำกัดความ

ติ่งเนื้อ คืออะไร

ติ่งเนื้อ คือ เนื้อเยื่อผิวหนังที่เจริญเติบโตออกมาเป็นก้อนเล็ก ๆ ห้อยลงมาจากผิวหนัง ไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรืออาการเจ็บปวด แต่หากติ่งเนื้อระคายเคืองหรือเสียดสีอาจสร้างความเจ็บปวดหรือมีเลือดออกได้ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง พบบ่อยในผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป มักพบบริเวณรอยพับของผิวหนัง เช่น ใต้ราวนม คอ รักแร้ ขาหนีบ

อาการ

อาการติ่งเนื้อ

ติ่งเนื้อไม่ก่อให้เกิดอาการ แต่หากติ่งเนื้อถูกเสียดสีจากผิวหนัง เสื้อผ้า เครื่องประดับ ก็อาจทำให้เกิดความระคายเคือง ไม่สบายผิว หรือมีเลือดออกได้ ลักษณะของติ่งเนื้อจะมีขนาดเล็ก นุ่ม เป็นติ่งเล็ก ๆ ห้อยออกจากผิวหนัง อาจมีสีคล้ายสีผิวหรือสีคล้ำกว่าปกติและอาจมีขนาดตั้งแต่ 1 มิลลิเมตร จนถึง 5 เซนติเมตร และไม่ใช่โรคติดต่อ

สาเหตุ

สาเหตุติ่งเนื้อ

ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของติ่งเนื้อ แต่อาจเกิดจากการรวมตัวกันของเนื้อเยื่อ หลอดเลือดและคอลลาเจนที่เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งในร่างกาย หรืออาจเกิดจากการระคายเคืองจากการเสียดสีของผิวหนัง มักพบบ่อยในผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคอ้วน โรคเบาหวานที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน หรือผู้ที่ติดเชื้อ HPV (​​Human Papilloma Virus) นอกจากนี้ อาจเกิดในผู้ที่มีการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ โดยเฉพาะช่วงตั้งครรภ์ที่ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงบ่อย หรือโรคอะโครเมกาลี (Acromegaly) เป็นภาวะที่ร่างกายผลิตโกรทฮอร์โมน (Growth hormone) มากผิดปกติ ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตไม่สมส่วน โดยติ่งเนื้อมักเจริญเติบโตในบริเวณที่เป็นรอยพับของผิวหนัง เช่น รักแร้ ขาหนีบ เปลือกตา คอ ใต้หน้าอก องคชาต

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดติ่งเนื้อ

ปัจจัยที่อาจเพิ่มโอกาสเกิดติ่งเนื้อที่ผิวหนัง ดังนี้

  • หากคนในครอบครัวมีติ่งเนื้อที่ผิวหนังอาจเพิ่มโอกาสให้บุตรหลานมีติ่งเนื้อได้เช่นกัน
  • ปัญหาสุขภาพ เช่น ติดเชื้อ HPV โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ผู้ที่มีความผิดปกติของผิวหนัง เช่น กลุ่มอาการเบิร์ต-ฮ็อกก์-ดูเบ (Birt–Hogg–Dubé หรือ BHD) เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดความไวต่อโรคมะเร็ง โรคไต ซีสต์ในปอด และเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง
  • การเจริญเติบโตของผิวหนังที่ผิดปกติซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างตั้งครรภ์
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยติ่งเนื้อ

คุณหมออาจทำการวินิจฉัยติ่งเนื้อบนผิวหนังด้วยการสอบถามประวัติสุขภาพของผู้ป่วย พฤติกรรม หรือสภาวะที่อาจทำให้เกิดการพัฒนาของติ่งเนื้อ และตรวจสอบลักษณะภายนอกติ่งเนื้อเพื่อดูการเจริญเติบโตของติ่งเนื้อ หากคุณหมอมีข้อสงสัยหรือพบเห็นความผิดปกติของติ่งเนื้อ อาจจำเป็นต้องเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อทำการทดสอบต่อไป

การรักษาติ่งเนื้อ

ติ่งเนื้อที่ผิวหนังมักไม่เป็นอันตรายจึงอาจไม่จำเป็นต้องรักษา แต่สำหรับบางคนที่กังวลเรื่องรูปลักษณ์หรือติ่งเนื้อมีอาการเจ็บปวด คุณหมออาจทำการรักษาด้วยวิธีเหล่านี้

การผ่าตัด

  • การรักษาด้วยความเย็น โดยใช้ไนโตรเจนเหลว เพื่อให้ติ่งเนื้อหลุดออกมาเอง
  • การรักษาด้วยความร้อน โดยใช้กระแสไฟฟ้าอิเล็กโทรไลซิส (Electrolysis)
  • การผ่าตัดติ่งเนื้อออกจากผิวหนัง
  • การผูกติ่งเนื้อ เพื่อหยุดไม่ให้เลือดเข้าไปเลี้ยงติ่งเนื้อ ทำให้ติ่งเนื้อตายและหลุดออก

ขั้นตอนการรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นกระบวนการรักษาที่ต้องทำโดยคุณหมอเท่านั้น เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงเลือดออกมาก รอยแผลเป็น แผลอาจติดเชื้อ ติ่งเนื้ออาจกลับมาเป็นซ้ำ หรือการใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดติ่งเนื้ออาจมีความเสี่ยงทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับติ่งเนื้อ

การป้องกันไม่ให้เกิดติ่งเนื้อบนผิวหนัง อาจทำได้ดังนี้

  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงเครื่องประดับและเสื้อผ้าที่อาจเสียดสีกับผิวหนัง ส่งผลให้เกิดการก่อตัวของผิวหนังที่ผิดปกติ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 10/08/2022

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา