backup og meta

ถุงใต้ตาบวม สาเหตุ วิธีรักษา และการป้อ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 03/04/2023

    ถุงใต้ตาบวม สาเหตุ วิธีรักษา และการป้อ

    ถุงใต้ตาบวม อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคภูมิแพ้ การนอนดึก การสูบบุหรี่ พบได้มากในผู้สูงอายุ ซึ่งอาจไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่หากสังเกตว่ามีอาการปวดตา  ระคายเคืองดวงตา และมีปัญหาด้านการมองเห็น ควรเข้าพบคุณหมอทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณการติดเชื้อ โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และโรคไทรอยด์ได้

    ถุงใต้ตาบวม เกิดจากอะไร

    ถุงใต้ตาบวม มีสาเหตุมาจากเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อที่รองรับเปลือกตาอ่อนแอลง ทำให้ผิวหนังเริ่มหย่อนคล้อย จนไขมันที่อยู่รอบดวงตาเคลื่อนตัวลงไปในบริเวณเปลือกตาล่าง ส่งผลให้เปลือกตาบวม บางคนอาจมีใต้ตาคล้ำ อาการถุงใต้ตาบวมมักไม่ส่งผลอันตราย แต่หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีปัญหาด้านการมองเห็น ระคายเคืองดวงตา ปวดตา ปวดศีรษะ ผื่นขึ้นผิวหนัง ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจทันทีเพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไทรอยด์ โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน การติดเชื้อ หรืออาการแพ้รุนแรง

    นอกจากนี้ ถุงใต้ตาบวมยังอาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังนี้

    • พันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีถุงใต้ตา อาจส่งผลให้คนอื่น ๆ ในครอบครัวมีอาการนี้ด้วยเช่นกัน
    • การพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือการนอนดึก อาจส่งผลให้ถุงใต้ตาบวมได้ เนื่องจากระบบการไหลเวียนโลหิตไม่ดี ที่อาจทำให้เลือดคั่งบริเวณใต้ตา สังเกตได้จากอาการผิวหนังใต้ตาคล้ำ และมีถุงใต้ตา
    • โรคภูมิแพ้ อาจเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ เช่น ขนสัตว์ ไรฝุ่น เชื้อรา น้ำหอม น้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ ที่อาจส่งผลให้เยื่อบุตาอักเสบ เปลือกตาล่างบวม และตาแดง บางคนอาจมีน้ำตาและน้ำมูกไหลร่วมด้วย
    • การรับประทานอาหารรสเค็มจัด เนื่องจากเกลืออาจดึงน้ำจากอาหารและกระจายเข้าสู่เนื้อเยื่อทั่วร่างกาย รวมถึงเปลือกตา จึงทำให้เปลือกตาหรือถุงใต้ตาบวมได้ ดังนั้น จึงไม่ควรรับประทานเกลือเกิน 2,300 มิลลิกรัม/วัน และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของเกลือสูง เช่น มันฝรั่งทอด ซุป อาหารแช่แข็ง อาหารแปรรูป
    • การสูบบุหรี่ สารพิษในควันบุหรี่อาจทำลายเนื้อเยื่อดวงตา ทำให้ม่านตาอักเสบ นำไปสู่อาการถุงใต้ตาบวม ตาแดง เจ็บตา และตาพร่ามัวได้

    วิธีรักษาเมื่อถุงใต้ตาบวม

    วิธีรักษาเมื่อถุงใต้ตาบวม มีดังนี้

    • ประคบเย็น ด้วยการนำเจลเย็นหรือผ้าห่อน้ำแข็งประคบบริเวณถุงใต้ตา 2-3 นาที เพื่อลดการอักเสบและอาการบวม
    • ครีมบำรุงรอบดวงตา ที่มีส่วนประกอบของฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine) ที่อาจช่วยลดอาการบวมจากหลอดเลือดตีบตันบริเวณถุงใต้ตา ควรใช้อย่างระมัดระวังเพราะอาจส่งผลข้างเคียงทำให้เกิดการระคายเคือง เนื่องจากผิวหนังใต้ตามีความบอบบาง
    • คาเฟอีน มีส่วนช่วยทำให้หลอดเลือดหดตัว ซึ่งอาจช่วยลดอาการบวมใต้ตาได้ โดยใช้ถุงชาอุ่น ๆ มาประคบบริเวณใต้ตา 5-10 นาที วันละ 2-3 ครั้ง
    • ยารักษาโรคภูมิแพ้ สำหรับอาการถุงใต้ตาบวมเนื่องจากสารก่อภูมิแพ้อาจรักษาได้ด้วยการใช้ยาแก้แพ้ ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง
    • การรักษาริ้วรอย เช่น การเลเซอร์ การลอกผิว การฉีดฟิลเลอร์ อาจช่วยกระตุ้นการผลิตคอลลาเจน ซึ่งเป็นเส้นใยหรือโปรตีนชนิดหนึ่งที่อยู่ในร่างกาย ช่วยให้ผิวแข็งแรง และเพิ่มความยืดหยุ่น ทำให้ถุงใต้ตากระชับขึ้น ลดริ้วรอย และอาการบวมของถุงใต้ตา แต่สำหรับการเลเซอร์ อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้สีผิวใต้ตาคล้ำอย่างถาวร ดังนั้น ควรปรึกษากับคุณหมอก่อนเข้ารับการรักษา
    • ผ่าตัด เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาถุงใต้ตาบวม และผิวหนังใต้ตาหย่อนคล้อยในผู้สูงอายุ เพื่อช่วยกำจัดถุงใต้ตา ทำให้ผิวดูกระชับขึ้น แต่อาจส่งผลข้างเคียง เช่น ตาแห้ง อาการปวด อาการบวม รอยช้ำ ตาพร่ามัวหลังจากการผ่าตัด หรืออาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น การมองเห็นผิดปกติ เลือดออก ปวดกล้ามเนื้อตา หากสังเกตว่ามีอาการเหล่านี้ควรพบคุณหมอทันที

    วิธีป้องกันถุงใต้ตาบวม

    วิธีป้องกันถุงใต้ตาบวม อาจมีดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 7-9 ชั่วโมง และควรเลือกหมอนสูงประมาณ 2-3 นิ้ว เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำสะสมบริเวณรอบดวงตา ที่อาจทำให้มีถุงใต้ตา
  • ลดการบริโภคเกลือหรืออาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารแปรรูป มันฝรั่งทอด
  • หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ หากสังเกตว่ามีอาการแพ้ เช่น น้ำมูกไหล จาม คันตา น้ำตาไหล ควรรับประทานยารักษาภูมิแพ้ หรือเข้าพบคุณหมอทันที
  • ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 60 ขึ้นไป เพื่อป้องกันรังสียูวีที่อาจส่งผลให้ผิวหย่อนคล้อยและอาจทำให้ดูแก่ก่อนวัย
  • เลิกสูบบุหรี่และจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ไวน์ เบียร์ เพราะอาจทำให้ผิวสูญเสียคอลลาเจน ทำให้ผิวหนังใต้ตาหย่อนคล้อย และเกิดริ้วรอยรอบดวงตา
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 03/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา