backup og meta

ผื่นขึ้นหน้า เกิดจากอะไรได้บ้าง และควรรักษาอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/02/2023

    ผื่นขึ้นหน้า เกิดจากอะไรได้บ้าง และควรรักษาอย่างไร

    ผื่นขึ้นหน้า อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ปฏิกิริยาตอบสนองของผิวหนังต่อสารก่อภูมิแพ้ การใช้ยา การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา หรือปรสิต โดยทั่วไปแล้วสามารถรักษาได้ด้วยการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ รักษาความสะอาดของที่อยู่อาศัย หลบแดดเพื่อไม่ให้ผิวหนังที่ระคายเคืองสัมผัสกับรังสียูวีในแสงแดด ใช้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้คัน ยาปฏิชีวนะ แต่หากดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วอาการผื่นขึ้นหน้ายังไม่ดีขึ้น อาการแย่ลง หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ปากบวม หน้าบวม ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

    ผื่นขึ้นหน้า เกิดจากอะไร

    ผื่นขึ้นหน้า อาจเกิดได้จากสาเหตุต่อไปนี้

    ผื่นแพ้สัมผัส (Allergic contact dermatitis)

    โรคผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่ง มักเกิดจากผิวสัมผัสสารระคายเคืองหรือสารก่อภูมิแพ้  เช่น เครื่องสำอาง ครีมกันแดด น้ำหอม ไรฝุ่น ขนสัตว์ สีย้อมในเสื้อผ้า เครื่องประดับ ทำให้ผิวหน้ามีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารที่แพ้ จนมีผื่นขึ้นหน้า คัน อักเสบ ระคายเคือง มีตุ่มพอง หรือผิวแตกเป็นแผล

    วิธีรักษา ทาครีมเพิ่มความชุ่มชื้นที่มีสารลดการคัน หรือไปพบคุณหมอเพื่อรับยาทาสเตียรอยด์ (Steroid) ประคบเย็นบริเวณที่มีผื่นแดงหรือมีอาการคัน หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่ทำให้ผื่นขึ้นหน้า

    การใช้ยาบางชนิด

    ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยากันชัก ยารักษาโรคเกาต์ ยาต้านการอักเสบกลุ่ม NSAIDs ยากลุ่มเพนนิซิลิน (Penicillin) ยากลุ่มซัลฟา (Sulfonamides) ยาต้านไวรัสเอชไอวี ยารักษาวัณโรค อาจทำให้เกิดผื่นบนใบหน้าและลำตัว ผื่นจากการใช้ยามีหลายลักษณะ เช่น ผื่นขอบนูนแดงมีขอบเขตไม่ชัดเจน ผื่นลักษณะราบรูปวงรี ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งจากผลข้างเคียงของยาและอาการแพ้ยา และในบางกรณีอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ตาบวม หน้าบวม นอกจากนี้ การใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิดยังอาจทำให้ผิวไวต่อแสงแดด จนผิวหน้าระคายเคืองง่ายกว่าปกติ และอาจทำให้เกิดอาการผิวแห้ง คัน ระคายเคือง หรือเกิดผื่นหลังจากโดนแดดได้

    วิธีรักษา ปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนยาหรือขนาดยาที่ใช้ ทั้งนี้ไม่ควรเปลี่ยนยา ปรับขนาดยา หรือหยุดยาด้วยตัวเอง

    แมลงสัตว์กัดต่อย

    เมื่อถูกแมลงหรือสัตว์อื่น ๆ เช่น มด แมงมุม ผึ้ง ต่อ แมงกะพรุนไฟ กัด ต่อย หรือสัมผัสผิวหนัง อาจทำให้ผิวหนังบริเวณที่ถูกกัดต่อยและบริเวณใกล้เคียงเกิดอาการผิดปกติ เช่น มีรอยแดง ผื่นขึ้น คัน มีตุ่มนูนบวม ความรุนแรงของอาการอาจขึ้นอยู่กับประเภทของสัตว์ และอาการแพ้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน

    วิธีรักษา ประคบบริเวณที่ผื่นขึ้นหน้าจากแมลงกัดต่อยด้วยผ้าห่อน้ำแข็งหรือผ้าขนหนูชุบน้ำเย็นบิดหมาด ทาครีมไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) อาจช่วยลดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยบรรเทาอาการบวมหรือคันได้

    ผื่นแพ้เหงื่อ (Heat rash)

    ผื่นแพ้เหงื่อหรือผดร้อน เป็นผื่นผิวหนังที่อาจเกิดได้ 2 ลักษณะ คือ ผดผื่นคันที่ขึ้นเมื่ออยู่ในที่อากาศร้อน อบอ้าว สามารถหายได้เองเมื่อไปอยู่ในที่อากาศเย็นและระบายได้ดี หรือหายจากการทายา  และอีกแบบคือ คนที่ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกแล้วมีผื่นลมพิษเกิดขึ้น มักเริ่มจากจุดนูนแดงแล้วขยายเป็นปื้นนูนแดง โดยทั่วไปอาการมักไม่รุนแรงและหายไปได้เองภายใน 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง หรือดีขึ้นหลังจากร่างกายเย็นลง มีเหงื่อลดลง แต่ในบางรายอาจมีอาการแพ้รุนแรงร่วมกับมีอาการตาบวม หายใจลำบาก ปวดท้อง ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต จึงควรรีบไปพบคุณหมอทันที

    วิธีรักษา หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกมาก หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกมาก หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อบอ้าว อากาศร้อนและไม่ถ่ายเท พยายามซับเหงื่อให้ผิวหน้าแห้งสะอาดอยู่เสมอ และรีบอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีที่สะดวก

    โรคผื่นแดด (Sun rash)

    เป็นโรคที่เกิดจากการสัมผัสกับรังสีอัลตราไวโอเลตหรือแสงยูวี (Ultraviolet light) เกิดขึ้นกับผู้ที่ผิวไวต่อแสงแดดอย่างผู้ที่ใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิด ผู้ที่ทาครีมที่มีส่วนผสมของสารเคมี น้ำหอม สีย้อม หรือสารฆ่าเชื้อบางชนิดที่ไวต่อแสงแดด สามารถกระตุ้นให้เกิดผื่นจากปฏิกิริยาของสารเคมีและแสงแดดิ ซึ่งส่งผลให้ผื่นแพ้แสงแดด ผิวระคายเคืองได้ง่าย คันใบหน้ารวมถึงผิวหนังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย แสงแดดยังอาจกระตุ้นให้เกิดอาการลูปัสที่ผิวหนัง (Cutaneous lupus) ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอได้ด้วย

    วิธีรักษา สวมเสื้อผ้าแขนขายาวและสวมหมวกบังแดดเมื่อต้องออกไปข้างนอก เพื่อไม่ให้ผิวหนังโดนแสงแดดโดยตรง และควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไปและมีค่า PA เพื่อป้องกันทั้งรังสียูวีเอและยูวีบี โดยควรทาครีมกันแดดทิ้งไว้ 15-30 นาทีก่อนออกแดด เพื่อให้เนื้อครีมซึมซับเข้าสู่ผิวอย่างเต็มที่ และอาจใช้ยาแก้คัน เช่น ไฮโดรคอร์ติโซนชนิดทาผิวหนัง (Topical Hydrocortisone) เพื่อลดอาการคันและระคายเคืองผิว นอกจากนี้ การประคบเย็นหรือการอาบน้ำเย็นก็อาจช่วยบรรเทาอาการผื่นขึ้นหน้า คัน ระคายเคือง ของโรคผื่นแดดได้เช่นกัน

    ลมพิษ (Hive)

    เป็นอาการผื่นนูนแดง บวม อาจขึ้นเป็นปื้นและกระจายไปตามผิวหนัง มีขนาดไม่แน่นอน อาจเกิดจากความร้อนหรือเหงื่อ การสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ การรับประทานอาหารบางชนิด เช่น อาหารทะเล ช็อกโกแลต การใช้ยาบางชนิด เช่น แอสไพริน ยาลดความดันโลหิต โดยทั่วไปลมพิษอาจหายได้เองโดยไม่ต้องรักษาแต่มักจะกลับมาเป็นซ้ำอีก กรณีที่อาการแพ้รุนแรง อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากมีอาการหายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก หน้าบวม ปากบวม ตาบวม ควรรีบไปพบคุณหมอทันที

    วิธีรักษา หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่ทำให้เกิดผื่น และใช้ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines) ตามที่คุณหมอสั่ง

    โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)

    เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่ไม่ใช่โรคติดต่อ เกิดจากร่างกายผลิตเซลล์ผิวหนังมากปกติ มักพบบริเวณหนังศีรษะ ข้อศอก หัวเข่า หลังส่วนล่าง อวัยวะเพศ รวมไปถึงบริเวณใบหน้า ทำให้เกิดผื่นแดงนูนหนา ผิวมีสะเก็ดหรือลอกเป็นขุยสีขาว และอาจทำให้รู้สึกคันหรือเจ็บ มักจะเป็น ๆ หาย ๆ

    วิธีรักษา ใช้ครีมหรือขี้ผึ้งสเตียรอยด์ เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดเฉพาะที่ (Topical corticosteroids) อาจช่วยลดการอักเสบของผิวหนังได้

    โรคแผลพุพอง (Impetigo)

    เป็นโรคผื่นผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเสตร็ปโตคอสคัสชนิดเอ (Streptococcus group A) และสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ทำให้มีผื่น หรือตุ่มน้ำบริเวณรอบจมูกหรือปาก มีสะเก็ดเป็นแผ่นสีเหลืองน้ำตาล อาจทำให้คันมาก ทั้งยังแพร่กระจายได้ง่ายหากแกะเกาแผลแล้วสัมผัสส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

    วิธีรักษา รักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดครีมทาเฉพาะที่ (Antibiotic creams) หากอาการรุนแรงอาจต้องรับประทานยาปฏิชีวนะชนิดเม็ดร่วมด้วย

    การดูแลตัวเองเมื่อ ผื่นขึ้นหน้า

    การดูแลตัวเองเมื่อ ผื่นขึ้นหน้า อาจทำได้ดังนี้

  • ทำความสะอาดเครื่องนอนเป็นประจำหรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
  • ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ฝุ่นหรือเป็นโรคผิวหนังอักเสบไม่ควรใช้พรม หรือสะสมตุ๊กตาขนนุ่ม เพราะอาจเป็นแหล่งสะสมฝุ่นที่กระตุ้นอาการแพ้ หรือทำให้ผิวหนังระคายเคืองจนมีผื่นขึ้นหน้าได้
  • หมั่นทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ โดยเฉพาะห้องนอน เพื่อลดการสะสมของฝุ่นและสิ่งสกปรก
  • หลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์ การสัมผัสหรือเข้าใกล้สัตว์ที่ทำให้อาการผื่นขึ้นหน้ากำเริบ หากเลี้ยงสัตว์ก็ควรจัดพื้นที่อาศัยของสัตว์ให้แยกกับพื้นที่อาศัยของคนอย่างเด็ดขาด และไม่ควรเลี้ยงสัตว์ในห้องนอน
  • สวมหน้ากากอนามัยหรือแว่นกันแดดเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่มีละอองเกสรดอกไม้ เพื่อป้องกันผิวหน้าสัมผัสละอองเกสรดอกไม้จนผื่นขึ้นหน้า
  • อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เย็นสบาย อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ทำให้มีเหงื่อออกมาก
  • หลีกเลี่ยงการแกะเกาผิวหนังที่เป็นรอยแดงหรือผดผื่น เนื่องจากอาจทำให้อาการแย่ลง หายได้ช้า หรือติดเชื้อมากกว่าเดิมได้
  • เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    หากดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วอาการผื่นขึ้นหน้าไม่ดีขึ้น มีอาการรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หรือมีอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด

  • ผิวหนังแดง เจ็บ บวม แสบร้อน ที่อาจแสดงถึงการอักเสบ
  • มีหนองไหลออกจากรอยผื่น
  • มีไข้หรือหนาวสั่น
  • ผื่นไม่หายไปเองใน 2-3 วัน
  • หากมีบนผิวหนังร่วมกับอาการต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อรุนแรงของร่างกาย สมอง หรือไขสันหลัง ที่ควรรีบไปพบคุณหมอโดยด่วน ทั้งนี้ เป็นกรณีที่พบได้ไม่บ่อยนัก

    • ปวดศีรษะรุนแรง คอแข็ง มีไข้
    • คลื่นไส้ อาเจียน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา