backup og meta

มีตุ่มขึ้นตามตัว คล้ายสิว เกิดจากอะไร ควรรักษาอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 3 สัปดาห์ก่อน

    มีตุ่มขึ้นตามตัว คล้ายสิว เกิดจากอะไร ควรรักษาอย่างไร

    มีตุ่มขึ้นตามตัว คล้ายสิว เป็นอาการของภาวะผิวหนังอักเสบ อาจเกิดจากการติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากโกนหนวดบ่อยและรุนแรงจนผิวหนังอักเสบ ใส่เสื้อผ้ารัดแน่นเกินไป ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ไม่อาบน้ำหลังทำกิจกรรมที่มีเหงื่อเยอะ เป็นต้น ทั้งนี้ ตุ่มตามตัวสามารถหายได้เองหากดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี เช่น อาบน้ำด้วยสบู่ต้านแบคทีเรีย เลี่ยงการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น แต่หากผิวหนังอักเสบหรือระคายเคืองเรื้อรัง ดูแลเองแล้วยังไม่หาย ควรไปปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยโรคและหาวิธีแก้ไขที่เหมาะสมต่อไป

    มีตุ่มขึ้นตามตัว คล้ายสิว คืออะไร

    ตุ่มคล้ายสิวที่ขึ้นบนผิวหนัง อาจพบได้บ่อยบริเวณกรอบหน้า ลำคอ หน้าอก แผ่นหลัง ใต้วงแขน และตามข้อพับ ตุ่มที่ขึ้นอาจมีลักษณะเป็นผื่นแดง กระจายทั่วผิวหนัง หรือเป็นตุ่มนูนขึ้นมาคล้ายเป็นสิว บางจุดอาจคล้ายสิวหัวขาวก่อตัวอยู่รอบรูขุมขน บางครั้งอาจเป็นตุ่มหนอง หรืออาจมีอาการคันร่วมด้วย ไม่ควรแกะเกาเพราะอาจทำให้อาการอักเสบแย่ลง เกิดรอยแผลเป็น หรือทำให้เชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราจากบริเวณที่มีอาการกระจายไปสู่ผิวหนังบริเวณอื่น จนผิวหนังบริเวณนั้นติดเชื้อได้

    สาเหตุที่ทำให้มีตุ่มขึ้นตามตัว คล้ายสิว

    สาเหตุที่ทำให้มีตุ่มขึ้นตามตัว คล้ายสิว อาจมีดังนี้

    • เกิดขนคุด ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากรูขุมขนอุดตัน ทำให้ผิวแห้ง สาก เป็นตุ่ม
    • มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
    • โกนหนวดหรือโกนขนเป็นประจำจนผิวหนังอักเสบ
    • แพ้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ที่รักษาอาการบวมแดง หรือการติดเชื้อ
    • ใส่เสื้อผ้ารัดแน่นเกินไป
    • มีการสัมผัสหรือเสียดสีบริเวณผิวหนังมากเกินไป
    • รูขุมขนระคายเคืองจากเหงื่อ
    • เชื้อโรคในแหล่งน้ำธรรมชาติหรืออ่างน้ำร้อน
    • แพ้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว เช่น มอยส์เจอไรเซอร์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันดิน

    มีตุ่มขึ้นตามตัว คล้ายสิว รักษาอย่างไร

    โดยทั่วไป ตุ่มที่ขึ้นตามตัว คล้ายสิว มักหายไปได้เองหลังทำความสะอาดผิวอย่างถูกวิธี หรือหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ การรักษาอาจมีดังนี้

    • ทำความสะอาดผิวหนังที่อักเสบประจำ หากตุ่มที่ขึ้นเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย อาจต้องใช้สบู่ต้านแบคทีเรียล้างทำความสะอาดบริเวณผิวหนังที่ติดเชื้ออย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
    • ใช้เกลือรักษา เนื่องจากเกลือมีสารที่ช่วยในการบรรเทาอาการอักเสบและติดเชื้อของผิวหนัง วิธีการคือ ผสมเกลือ 1 ช้อนชากับน้ำอุ่น 2 ถ้วย เทน้ำที่ผสมแล้วลงบนผ้าเช็ดตัวจากนั้นประคบตรงบนผิวที่เป็นตุ่ม มีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร The International Journal of Dermatology เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ที่ศึกษาเรื่องการอาบน้ำด้วยน้ำเกลือทะเล พบว่า เมื่ออาบน้ำที่ผสมกับเกลือแล้ว ผลลัพธ์คือ น้ำเกลือสามารถลดความหยาบกร้านและการอักเสบของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับการอาบด้วยน้ำประปา
    • ใช้ยาแก้อักเสบชนิดทาผิวหนังที่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป เช่น ยาไฮโดรคอร์ติโซนชนิดทาผิวหนัง (Hydrocortisone) หากมีอาการคันอาจใช้โลชั่นที่มีส่วนผสมของข้าวโอ๊ต
    • ที่มีส่วนช่วยรักษาโครงสร้างของผิวและให้ความชุ่มชื้น โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Drugs in Dermatology เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2558 ที่ศึกษาเรื่องประสิทธิภาพของโลชั่นที่มีส่วนผสมของข้าวโอ๊ตในการรักษาอาการคันและระคายเคืองของผิว พบว่า สารสกัดจากข้าวโอ๊ตมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบโดยตรง และมีส่วนช่วยลดความแห้งกร้านและความรุนแรงของอาการคันได้

    วิธีป้องกันและวิธีดูแลตัวเอง

    วิธีป้องกันและดูแลตัวเองเมื่อมีตุ่มขึ้นตามตัว คล้ายสิว อาจทำได้ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้ารัดแน่น เพื่อลดการเสียดสีระหว่างเสื้อผ้าและผิวหนังที่อาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองได้
  • หากเป็นไปได้ ควรงดโกนหนวดหรือโกนขน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดขนคุด ที่มีสาเหตุมาจากผิวหนังระคายเคืองเรื้อรังเพราะโกนขนเป็นประจำ
  • หากจำเป็นต้องโกนหนวดหรือขน อาจใช้สบู่ต้านแบคทีเรียฟอกบริเวณผิวก่อนโกน พยายามอย่าโกนใกล้ผิวหนังจนเกินไป และหลีกเลี่ยงการโกนหนวดหรือขนบ่อยเกินไป
  • ทามอยส์เจอไรเซอร์หรือโลชั่นเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว
  • ไม่ใช้ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า และของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และซักผ้าที่ใช้ทำความสะอาดตัวเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
  • หากทำกิจกรรมที่มีเหงื่อเยอะ ควรรีบอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด เพื่อลดการสะสมของเหงื่อและเชื้อโรคบนผิวหนัง
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 3 สัปดาห์ก่อน

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา