backup og meta

ลายสัก อันตรายไหม ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อผิวหนังอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/07/2022

    ลายสัก อันตรายไหม ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อผิวหนังอย่างไร

    ลายสัก เป็นศิลปะบนเรือนร่างอย่างหนึ่ง โดยการฝังเม็ดสีหรือน้ำหมึกลงใต้ผิวหนัง เพื่อให้เห็นเป็นลวดลายต่าง ๆ ที่สวยงามซึ่งมักทำโดยช่างสักมืออาชีพ การสัก อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่อสุขภาพผิวหนังได้ เช่น ทำให้ติดเชื้อ เป็นผื่น เกิดรอยแดง โดยปกติอาการข้างเคียงมักดีขึ้นหลังผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ ส่วนลายสักจากการสักถาวรมักคงอยู่ได้ค่อนข้างนานเกือบตลอดชีวิต เพียงแต่สีหรือน้ำหมึกของลายสักอาจซีดจางลงตามกาลเวลา อย่างไรก็ตามก่อนตัดสินใจเลือกลายสัก ควรปรึกษาช่างสักถึงสีและประเภทของหมึกที่ใช้ นอกจากนั้น ควรตรวจสอบข้อมูลของร้าน ประวัติและประสบการณ์ของช่างสัก รวมทั้งความสะอาดของอุปกรณ์และสภาพร้านที่ได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพผิวหนัง

    ผลข้างเคียงจาก ลายสัก

    การสักลายอาจมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพผิวหนังแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประเภทของน้ำหมึกที่ใช้ น้ำหนักมือและความเชี่ยวชาญของช่างสัก ขนาดของลายสักที่เล็กหรือใหญ่ไม่เท่ากัน โดยอาการข้างเคียงทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นหลังจากสร้างลายสักประกอบด้วย

    1. การติดเชื้อ

    การติดเชื้อ เป็นอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ทันทีหลังจากสักลายใหม่ ๆ หรือหลังจากสักไปแล้วหลายวันหรือหลายเดือน ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งของการติดเชื้อ คือการใช้อุปกรณ์สักที่ไม่สะอาด หรือน้ำหมึกที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค

    อาการที่เป็นสัญญาณของการติดเชื้อ ประกอบด้วย

    • เกิดรอยแดงบริเวณลายสักและรอยแดงนั้นแผ่วงกว้างออกไปเรื่อย ๆ
    • รู้สึกเจ็บปวดบริเวณลายสักหรือผิวหนังรอบ ๆ ลายสัก และเจ็บต่อเนื่องหรือปวดรุนแรงยิ่งขึ้น
    • เกิดตุ่มแดงหรือคันบริเวณลายสัก และไม่หายแม้ผ่านไปแล้ว 2-3 วันก็ตาม
    • มีหนองหรือน้ำเหลืองซึมตามบริเวณที่สัก
    • มีไข้ หนาวสั่น

    ทั้งนี้ หากอาการต่าง ๆ ไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงภายในระยะเวลา 2-3 วัน ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัย ไม่ควรซื้อยาฆ่าเชื้อรับประทานเอง

    1. ผื่นแดง

    ผื่นแดงหลังเข้ารับการสักลายมักเกิดร่วมกับอาการคัน เป็นอาการข้างเคียงที่เกิดได้จากหลาย ๆ สาเหตุ อาทิ

    • การแพ้น้ำหมึกที่ใช้สัก เนื่องจากในน้ำหมึกประกอบไปด้วยสารเคมีและสารโลหะหนักที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ เช่น แคดเมียม (Cadmium) ตะกั่ว สังกะสี อาการที่อาจพบร่วมด้วยคือ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก วิงเวียน ปวดท้องหากอาการรุนแรงควรพบคุณหมอทันที
    • การแพ้แสงแดด แคดเมียมในหมึกสีเหลืองหรือแดง อาจเป็นสาเหตุให้ผิวหนังที่มีลายสักเกิดอาการแพ้แสงแดดได้ ทั้งนี้ การป้องกันอาจทำได้โดยการทาครีมกันแดด SPF 50 ขึ้นไป หรือสวมใส่เสื้อผ้าแขนยาวขายาวสีทึบ
    • โรคซาร์คอยโดซิส (Sarcoidosis) เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ซึ่งเกี่ยวข้องกับลายสักได้ อาการทางผิวหนังของ โรคซาร์คอยโดซิส อย่างผื่นแดงหรือก้อนเนื้อเยื่ออักเสบ สามารถเกิดขึ้นบริเวณลายสัก โดยทางการแพทย์สันนิษฐานว่า เม็ดสีของลายสักเป็นสิ่งแปลกปลอมที่สามารถกระตุ้นโรคของโรคซาร์คอยโดซิสได้
    1. ผิวหนังแสบหรือบวมเมื่อรับการตรวจร่างกายแบบเอ็มอาร์ไอ

    หากต้องตรวจโรคแบบเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging หรือ MRI) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ผู้ที่มีลายสักบางรายอาจมีอาการแสบ บวม แดง ของผิวหนังบริเวณลายสัก สาเหตุอาจเกิดจากการทำปฏิกิริยาระหว่างเม็ดสีและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าขณะตรวจโรคแบบเอ็มอาร์ไอ

    นอกจากนี้ ผิวหนังที่มีลายสักอาจดูดซับพลังงานจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้มากกว่าปกติทำให้ผิวหนัเสี่ยงเกิดอาการไหม้หรือแสบร้อนได้ ควรแจ้งคุณหมอก่อนเข้ารับการตรวจโรคด้วยวิธีเอ็มอาร์ไอ

    1. ต่อมน้ำเหลืองบวม

    ในกระบวนการสักลาย โดยเฉพาะการสักแบบถาวร หมึกจะดูดซึมลงสู่ชั้นผิวหนังแท้และเนื้อเยื่อซึ่งอาจแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองใกล้ ๆ ผิวหนังบริเวณที่สักลายและเป็นสาเหตุให้ต่อมน้ำเหลืองบวมได้ ทั้งนี้ ต่อมน้ำเหลืองส่วนมากมักอยู่บริเวณลำคอ รักแร้ และขาหนีบ

    อย่างไรก็ตาม หากหลังจากสักลายแล้วมีอาการต่อมน้ำเหลืองบวม ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อสาเหตุที่แท้จริง เพราะต่อมน้ำเหลืองอาจบวมได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ ไข้หวัด ทอนซิลอักเสบ

    การป้องกันอันตรายและผลข้างเคียงที่อาจเกิดจาก ลายสัก

    วิธีป้องกันอันตรายและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับผิวหนังหลังจากเข้ารับการสักลาย สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

    • หาข้อมูลของร้านหลาย ๆ ร้านก่อนเข้ารับบริการ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ และเปรียบเทียบมาตรฐาน ความสะอาด ประสบการณ์ โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์ของช่างสัก ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพผิวหนังและด้านอื่น ๆ โดยรวม
    • สอบถามและขอตรวจสอบอุปกรณ์ที่ใช้ รวมทั้งชนิดน้ำหมึก เพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์แต่ละชิ้นได้มาตรฐาน สะอาดปลอดภัย ผ่านการฆ่าเชื้อ หรือเป็นของใหม่ที่เปลี่ยนใช้แบบครั้งต่อครั้ง
    • เลือกลายสักที่พึงพอใจมากที่สุด เพราะหากต้องการลบลายสักหรือเปลี่ยนลายสัก อาจทำให้ผิวหนังเสียหาย หรืออาจเสี่ยงติดเชื้อจากบาดแผลเปิดเมื่อลบลายสักได้
    • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ ก่อนสัมผัสลายสักที่เพิ่งสักมาใหม่ ๆ
    • หลีกเลี่ยงการเกาบริเวณลายสัก ขณะผิวหนังกำลังฟื้นตัว เพราะการเกาอาจทำให้ลายสักติดเชื้อได้
    • แจ้งคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญก่อนเข้ารับการตรวจแบบเอ็มอาร์ไอ เมื่อต้องตรวจโรค เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนขณะตรวจโรคที่อาจเกิดขึ้น แม้ความเป็นไปได้ในการเกิดจะค่อนข้างต่ำก็ตาม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา