backup og meta

กําจัดสิวเสื้ยน ถาวร สามารถทำได้หรือไม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 25/01/2023

    กําจัดสิวเสื้ยน ถาวร สามารถทำได้หรือไม่

    สิวเสี้ยนเป็นปัญหาผิวที่เกิดจากความผิดปกติของรูขุมขน ทำให้มีเซลล์ขนสะสมอยู่ในรูขุมขนมากกว่าปกติ เมื่อรวมตัวกับไขมันและเซลล์ผิวที่ตายแล้ว จึงเกิดเป็นจุดดำ เล็ก ๆ บริเวณผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณจมูก การ กําจัดสิวเสื้ยน ถาวร ให้ไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก อาจไม่สามารถทำได้ 100% อย่างไรก็ตาม การใช้ยาทาเฉพาะที่และวิธีการอื่น ๆ เช่น การเลเซอร์ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกรดวิตามินเอหรือเรตินอยด์ อาจช่วยบรรเทาอาการและช่วยให้ผิวดูเรียบเนียนขึ้น ทั้งนี้ ไม่ควรบีบสิวเสี้ยน หรือกดสิวเสี้ยนด้วยตัวเอง เนื่องจากอาจทำให้เกิดการอักเสบและการติดเชื้อได้

    สิวเสี้ยน คืออะไร

    สิวเสี้ยน (Trichostasis Spinulosa) เป็นภาวะทางผิวหนังที่เกิดจากรูขุมขนหรือต่อมขนทำงานผิดปกติ ทำให้รูขุมขน 1 รู มีขนขึ้นมากกว่า 1 เส้น อาจมีขนกระจุกอยู่ประมาณ 5-25 เส้น และโดยทั่วไปจะมีขนาดน้อยกว่า 1 มิลลิเมตร เมื่อขนรวมตัวกับเซลล์ผิวที่ตายแล้วและไขมันในรูขุมขน จะเกิดเป็นสิวเสี้ยน ลักษณะเป็นจุดดำ ๆ ขนาดเล็ก สัมผัสแล้วรู้สึกสะดุดนิ้ว เหมือนมีหนามแหลม ๆ ขนาดเล็กขึ้นตามผิวหนัง มักพบในบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก เช่น จมูก หนังศีรษะ หน้าอก หลัง สิวเสี้ยนมีลักษณะคล้ายคลึงกับสิวที่เกิดตามธรรมชาติ โดยเฉพาะสิวหัวดำ (Blackheads) ซึ่งเป็นสิวที่เกิดจากเส้นขน เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วและไขมันอุดตันในรูขุมขน แต่แตกต่างตรงที่สิวเสี้ยนมีกระจุกขนขนาดเล็กจำนวนมากอยู่ในรูขุมขน

    นอกจากนี้ ในบางครั้งอาจมีความสับสนว่าสิวเสี้ยนกับใยไขมัน (Sebaceous Filament) เป็นภาวะผิวหนังชนิดเดียวกัน ใยไขมันเป็นกลุ่มไขมันและเซลล์ผิวที่ตายแล้วสะสมอยู่บนผิวหนัง เห็นเป็นจุดขาวออกเหลือง สัมผัสแล้วเหมือนหนามแหลมเล็ก ๆ คล้ายเวลาสัมผัสสิวเสี้ยน มักพบบริเวณจมูก ใยไขมันเหล่านี้ทำหน้าที่ควบคุมการหลั่งไขมันออกมาเคลือบผิวหนังชั้นนอก ปกติจะสังเกตไม่เห็น แต่หากมีไขมันสะสมอยู่ในรูขุมขนมากก็อาจมองเห็นได้ชัดขึ้นขึ้น ใยไขมันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ การบีบหรือดึงออกนั้นไม่ทำให้เส้นใยไขมันหายไปอย่างถาวร ทั้งยังเสี่ยงเกิดแผลเป็นและอาจทำให้แบคทีเรียที่อาศัยอยู่รอบ ๆ รูขุมขนกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของใบหน้าได้ด้วย

    กําจัดสิวเสื้ยน ถาวร สามารถทำได้หรือไม่

    การกำจัดสิวเสี้ยนที่เกิดจากรูขุมขนที่ผิดปกติอย่างถาวรยังไม่สามารถทำได้ แต่การกำจัดสิวเสี้ยนด้วยวิธีที่เหมาะสมกับสภาพผิว เช่น ใช้ยาทาเฉพาะที่ ใช้เลเซอร์กำจัดขนโดยคุณหมอผิวหนังผู้เชี่ยวชาญ อาจช่วยบรรเทาอาการหรือช่วยให้ขนาดสิวเสี้ยนลดลงได้

    วิธีกำจัดสิวเสี้ยนด้วยตัวเอง

    การกำจัดสิวเสี้ยนด้วยตัวเอง อาจทำได้ดังนี้

    • แผ่นลอกสิวเสี้ยน คือ แผ่นเคลือบสารเหนียวที่ใช้สำหรับลอกสิวเสี้ยน วิธีใช้โดยทั่วไป คือ พรมน้ำให้ผิวหนังบริเวณที่ต้องการแปะแผ่นลอกสิวเสี้ยนชื้น ๆ จากนั้นแปะแผ่นลอกสิวเสี้ยนลงไป ลูบให้แนบกับผิวหนัง ทิ้งไว้ตามระยะเวลาที่แนะนำบนบรรจุภัณฑ์ แล้วดึงออก อาจช่วยให้สิวเสี้ยนบางส่วนหลุดออก และอาจทำให้ผิวหนังดูเรียบเนียนขึ้น แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันบ่อยเกินไป หรือมากกว่าสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิว หรือทำให้รูขุมขนกว้างขึ้นได้ แม้การใช้แผ่นลอกสิวเสี้ยนจะเป็นวิธีกำจัดสิวเสี้ยนที่คนนิยมใช้ แต่ไม่เป็นวิธีที่แนะนำทางการแพทย์
    • ไข่ขาว การใช้ไข่ขาวพอกบาง ๆ บริเวณที่มีสิวเสี้ยน แล้วนำกระดาษทิชชู่มาแปะทับไว้ ทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง จากนั้นค่อย ๆ ลอกออก อาจทำให้สิวเสี้ยนหลุดติดออกมาบางส่วนและขจัดสิ่งสกปรกที่อยู่ในรูขุมขนได้ อย่างไรก็ตาม ไข่ดิบอาจปนเปื้อนจุลินทรีย์ก่อโรค เช่น เชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลา (Salmonella) ที่ทำให้อาหารเป็นพิษได้ ก่อนนำไข่ขาวมาพอกหน้า จึงควรล้างไข่และล้างมือให้สะอาด และระวังไม่ให้ไข่ขาวเข้าปาก และคนที่แพ้ไข่ ไม่ควรใช้ไข่ขาวกำจัดสิวเสี้ยน เพราะอาจทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบได้
    • กรดวิตามินเอ (Retinoic acid) ช่วยบรรเทาอาการรูขุมขนอุดตัน และช่วยผลัดเซลล์ผิวใหม่ ลดการเกิดสิวเสี้ยนซ้ำในบริเวณเดิม ทั้งนี้ ควรใช้อย่างระมัดระวังในปริมาณที่เหมาะสม และทาครีมกันแดดเป็นประจำเมื่อต้องออกแดด เนื่องจากวิตามินเออาจทำให้ผิวระคายเคืองและไวต่อแสงแดดได้
    • เบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ในรูปแบบเจล ช่วยลดปริมาณเชื้อแบคทีเรีย ลดปริมาณน้ำมันบนใบหน้า และช่วยละลายสิ่งสกปรกที่อุดตันในรูขุมขน จึงลดการอุดตันของต่อมไขมันและลดสิวเสี้ยนได้ แต่ยาตัวนี้อาจทำให้ผิวระคายเคือง แห้ง เป็นขุย จึงควรเริ่มใช้แบบความเข้มข้นต่ำก่อน เมื่อผิวเริ่มชินกับตัวยา อาจค่อยเพิ่มระดับความเข้มข้นขึ้น
    • กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) มีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบ ช่วยผลัดเซลล์ผิว ขจัดเซลล์ผิวชั้นนอกที่ตายแล้วและสิ่งสกปรก ลดการอุดตันของเซลล์ผิว และอาจช่วยกระชับรูขุมขน จึงอาจช่วยป้องกันการกลับมาเป็นสิวเสี้ยนซ้ำ
    • การลอกหน้าผลัดเซลล์ผิว (Chemical Peeling) การลอกหน้าด้วยกรดผลไม้ (Alpha Hydroxy Acid หรือ AHA) หรือ กรดไทรคลอโรอะซีติค (Trichloroacetic Acid) ช่วยผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วและไขมันที่อุดตันบนผิวหน้า ควรใช้ร่วมกับการทายารักษาสิวเพื่อป้องกันการเกิดสิวเสี้ยนซ้ำ
    • แสงเลเซอร์ เป็นวิธีกำจัดสิวเสี้ยนที่มีประสิทธิภาพ อาจช่วยลดสิวเสี้ยนได้เมื่อทำหลายครั้ง แต่ไม่ช่วยลดขนาดรูขุมขน จึงทำให้อาจเกิดสิวเสี้ยนซ้ำได้อีก ทั้งนี้ อาจมีผลข้างเคียง คือ ผิวเป็นรอยแดงและระคายเคืองเล็กน้อยประมาณ 2-3 วัน จึงควรหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดโดยตรง และทาครีมกันแดดทุกวัน โดยเฉพาะเมื่อต้องออกไปนอกบ้าน

    วิธีป้องกันการเกิดสิวเสี้ยน

    วิธีป้องกันการเกิดสิวเสี้ยน อาจทำได้ดังนี้

    • ใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเครื่องสำอางที่ปราศจากน้ำมัน แอลกอฮออล์ เพื่อลดการอุดตันของรูขุมขนและลดการระคายเคืองผิว
    • รักษาผิวให้สะอาดอยู่เสมอ ด้วยการล้างหน้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อขจัดสิ่งสกปรกบนผิวที่อาจไปอุดตันรูขุมขน
    • หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสผิวหน้าบ่อย ๆ ระหว่างวัน เพราะมืออาจปนเปื้อนสิ่งสกปรกที่ทำให้ผิวอุดตัน และเป็นสิวได้
    • ลบเครื่องสำอางและล้างหน้าให้สะอาดหมดจดทุกครั้งก่อนเข้านอน เพื่อป้องกันรูขุมขนอุดตันและผิวระคายเคือง
    • ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกรดอัลฟาไฮดรอกซี (AHA) ซึ่งเป็นสารสกัดธรรมชาติที่มีฤทธิ์เป็นกรด ช่วยผลัดเซลล์ผิวใหม่ ลดการสะสมของเซลล์ผิวที่ตายแล้ว และลดการตกค้างของไขมันส่วนเกิน
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันมาก ลดการรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมสดที่อาจเพิ่มการสะสมไขมันบนผิวหนัง
    • ดื่มน้ำสะอาดวันละ 6-8 แก้ว เพราะการดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายจะช่วยขจัดสารพิษและแบคทีเรียบนผิวหนัง ทั้งยังลดโอกาสการอุดตันของรูขุมขน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 25/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา