backup og meta

ประเภทของสิว ตามนิยามของแพทย์ผิวหนัง มีอะไรบ้าง

เขียนโดย แพทย์หญิงอรเกศ ปัญญาเนตินาถ · โรคผิวหนัง · Divana Clinic (ดีวานา คลินิก)


แก้ไขล่าสุด 12/04/2022

    ประเภทของสิว ตามนิยามของแพทย์ผิวหนัง มีอะไรบ้าง

    ประเภทของสิว อาจมีสาเหตุในการที่แตกต่างกัน ทั้งยังต้องการการดูแล และการรักษาสิวที่ต่างกันเช่นกัน ซึ่งหากเข้าใจว่าปัญหาและสาเหตุการของเกิดสิวแต่ละประเภทก็อาจหาวิธีทำให้สิวหายและวิธีการรักษาสิวที่เหมาะสมได้ง่ายยิ่งขึ้น รวมทั้งยังอาจช่วยให้ป้องกันการเกิดสิวได้อีกด้วย

    สิว เกิดจากอะไร

    สิว เกิดจากการอักเสบของต่อมไขมัน (Sebaceous) จึงมักพบสิวได้ในบริเวณที่มีต่อมไขมันอยู่หนาแน่น เช่น ใบหน้า หน้าอก หลังส่วนบน คอ ไหล่ ต้นแขน โดยปัจจัยที่เป็นสาเหตุในการเกิดสิว อาจมีดังนี้

    1. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ที่สูงขึ้นในช่วงวัยรุ่น โดยเฉพาะในเพศชาย อาจทำให้พบสิวในช่วงอายุนี้มากกว่าช่วงอายุอื่น ๆ ฮอร์โมนนี้อาจไปกระตุ้นให้ต่อมไขมันมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีการสร้างไขมันออกมามากขึ้น ทำให้มีการอุดตันของรูขุมขนตามมา เกิดเป็นสิวอุดตันและกลายเป็นสิวอักเสบในที่สุด ในผู้หญิงบางราย อาจพบทั้งสิวอุดตันและสิวอักเสบขึ้นบ่อยในช่วงก่อนมีประจำเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มสูงขึ้น โดยจะทำให้รูขุมขนบวม และเกิดการคั่งของน้ำในร่างกาย
    2. ความเครียด เมื่อเกิดความเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลซึ่งไปกระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังให้ผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น ก็เป็นอีกสาเหตุการเกิดสิวได้
    3. กรรมพันธุ์ หากคนในครอบครัวเป็นสิวและมีสภาพผิวมัน จะมีโอกาสเป็นสิวได้มากกว่าผิวชนิดอื่น ๆ โดยทั่วไป ผู้ที่ผิวมันจะมีรูขุมขนกว้าง ผิวหยาบ รวมทั้งหน้ามันเยิ้ม ทำให้เกิดสิ่งสกปรกสะสม ง่ายต่อการเกิดสิว
    4. การติดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว (Propionibacterium Acnes หรือ P.acnes) อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุการเกิดสิวที่สำคัญ นอกจากนี้ หากแบคทีเรียไมโครไบโอม (Microbiome) บนผิวไม่สมดุลก็อาจทำให้เกิดสิวได้เช่นกัน แบคทีเรียไมโครไบโอมที่สมดุลอาจมีประโยชน์ต่อการสร้างเกราะป้องกันผิว หากมีจำนวนไมโครไบโอมที่ไม่สมดุล ผิวจะอ่อนแอและเกิดสิวได้
    5. การใช้เครื่องสำอางหรือครีมบำรุงผิว อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดสิวอุดตันและสิวอักเสบ โดยเฉพาะในผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย เนื่องจาก เครื่องสำอางบางประเภทมีน้ำมันเป็นส่วนประกอบ ซึ่งอาจทำให้เกิดการอุดตัน
    6. การกินอาหารบางประเภท หลายคนอาจเคยได้ยินว่าการกินช็อคโกแล็ต อาจเป็นสาเหตุในการเกิดสิวได้ แม้จะยังไม่มีหลักฐานรองรับ แต่หากสังเกตเห็นว่าเมื่อกินอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วมักเกิดสิวอักเสบมากขึ้นก็ควรงดหรือหลีกเลี่ยงอาหารประเภทนั้น

    ประเภทของสิว มีอะไรบ้าง

    แพทย์ผิวหนังมักแบ่งประเภทของสิวออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ ๆ ได้แก่

    ชนิดไม่อักเสบ คือ สิวที่เกิดจากการอุดตันของรูขน เรียกว่า Comedone หรือ (Ductal Hypercornification) ซึ่งอาจแบ่งย่อยออกเป็น 2 ชนิด

    • สิวหัวปิด (Closed Comedone) มีลักษณะเป็นตุ่มกลม เล็กแข็ง สีขาวจะเห็นชัดขึ้น เมื่อดึงผิวหนังให้ตึงหรือโดยการคลำ
    • สิวหัวเปิด (Open Comedone) เป็นตุ่มกลมเล็กแข็งคล้ายสิวหัวปิด แต่ตรงยอดมีรูเปิดและมีก้อนสีดำอุดอยู่

    ชนิดอักเสบ ได้แก่

    • สิวตุ่มนูน (Papule) ตุ่มสีแดงขนาดเล็ก
    • สิวหัวหนอง (Pustule) ได้แก่ สิวติดเชื้อบรอเวณบนผิวหนัง (Superficial) และสิวติดเชื้อลึกลงไปในชั้นผิวหนัง (Deep Pustule)
    • สิวอักเสบแดงเป็นก้อน (Nodule) ก้อนสีแดงภายในมีหนองปนเลือด บางครั้งอาจเป็นหลายหัวติดกัน
    • สิวซีสต์ (Cyst) ก้อนนูนแดง นิ่ม ภายในมีหนองปนเลือด

    วิธีป้องกันสิวและการรักษาสิว

    1. ทำความสะอาดร่างกายและใบหน้าทุกวัน แต่ไม่ควรล้างหน้าบ่อยหรือขัดถูผิวหน้ามากเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวหนังเสียสมดุล
    2. รับประทานผักผลไม้เป็นประจำ และหลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด
    3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
    4. พักผ่อนให้เพียงพอ
    5. ทำจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมออย่าเครียด เพราะความเครียดตัวกระตุ้นให้เกิดสิวได้เช่นกัน
    6. เลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับผิวเป็นสิวโดยเฉพาะ บำรุงผิว ครีมกันแดด หรือเครื่องสำอาง ที่เหมาะสำหรับผิวเป็นสิวโดยเฉพาะ (Noncomedogenic และ Non-acnegenic) ซึ่งอาจมีส่วนผสมที่เหมาะต่อผิวเป็นสิว เช่น BHA, พิร็อกโทน โอลามีน (Piroctone Olamine) ซิงก์ ซัลเฟต (Zinc Sulfate) คาร์โนซีน (Carnosine) และเรตินอยด์ (Retinoid)

    แต่สิวละประเภทมีลักษณะต่างกัน การแบ่งประเภทของสิวในลักษณะนี้อาจช่วยให้คุณหมอวินิจฉัยสาเหตุการเกิดสิวและวิธีทำให้สิวหาย พร้อมหาแนวทางการรักษาสิวที่เหมาะสมของอาการในแต่ละบุคคลต่อไป

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    เขียนโดย

    แพทย์หญิงอรเกศ ปัญญาเนตินาถ

    โรคผิวหนัง · Divana Clinic (ดีวานา คลินิก)


    แก้ไขล่าสุด 12/04/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา