backup og meta

ยาลดสิว ใช้อย่างไรให้ได้ผลดี

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 12/07/2023

    ยาลดสิว ใช้อย่างไรให้ได้ผลดี

    ยาลดสิว เป็นผลิตภัณฑ์รักษาสิวที่มีส่วนผสมเป็นสารออกฤทธิ์ที่มีคุณสมบัติหลายอย่าง เช่น ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ขจัดความมันส่วนเกิน เร่งการผลัดเซลล์ผิวและลดการอุดตันของรูขุมขน ซึ่งจะช่วยให้อาการของสิวดีขึ้นได้หลังจากรักษาไปสักระยะหนึ่ง ทั้งนี้ ผลลัพธ์มักขึ้นอยู่กับสภาพผิว ประเภทของสิว ระยะเวลาการรักษา และวิธีดูแลผิวของแต่ละบุคคล หากรักษาเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบคุณหมอผิวหนังเพื่อหาสาเหตุของการเกิดสิวและรับการรักษาอย่างเหมาะสมจากผู้เชี่ยวชาญต่อไป

    เคล็ดลับการใช้ ยาลดสิว ให้เห็นผล

    การใช้ยาลดสิวให้ได้ประสิทธิภาพและเห็นผลดี ควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

    • เริ่มจากการใช้ยาลดสิวที่มีความเข้มข้นน้อย

    ในช่วงแรกของการใช้ยาลดสิว อาจเริ่มจากการใช้ส่วนผสมที่มีความเข้มข้นต่ำ ๆ ก่อน หากใช้มาสักระยะแล้วไม่เห็นผลเท่าที่ควรจึงค่อยเพิ่มความเข้มข้น หรืออาจใช้ยาลดสิวแต้มบาง ๆ บริเวณที่เป็นสิวแบบวันเว้นวัน ก่อนจะเพิ่มความถี่เป็นทุกวัน ซึ่งอาจช่วยป้องกันการอักเสบ อาการผิวแห้งระคายเคืองจากการใช้ยาลดสิว และอาจช่วยปรับผิวให้เข้ากับการรักษาได้ดีขึ้น

  • เลือกรูปแบบยาลดสิวที่เหมาะกับสภาพผิว
  • ยาลดสิวชนิดใช้ภายนอกมีจำหน่ายในหลากหลายรูปแบบ เช่น สบู่ ครีม เจล ยาขี้ผึ้ง (Ointment) ผู้ที่ต้องการรักษาสิวควรเลือกรูปแบบที่เหมาะกับสภาพผิวของตัวเองมากที่สุด โดยทั่วไป ยาลดสิวรูปแบบครีมจะระคายเคืองน้อยกว่ารูปแบบเจลหรือยาขี้ผึ้ง แต่เจลและยาขี้ผึ้งซึมเข้าสู่ผิวได้ดีกว่า ดังนั้น ผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายอาจเลือกแบบครีมเพื่อหลีกเลี่ยงการระคายเคือง นอกจากนี้ ยาลดสิวแบบเจลอาจทำให้ผิวแห้งหรือแสบผิว ยาขี้ผึ้งอาจทำให้รู้สึกว่าผิวหน้ามัน ผู้ต้องการรักษาสิวอาจต้องลองใช้ยาลดสิวหลายรูปแบบจนกว่าจะเจอรูปแบบที่เหมาะกับตัวเองที่สุด

    นอกจากนี้ ยังมียาลดสิวแบบรับประทานที่ใช้รักษาสิวเรื้อรัง อักเสบรุนแรง หรือมีจำนวนมาก เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม ไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) ร่วมกับการใช้ยาลดสิวชนิดใช้ภายนอก ทั้งนี้ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งก่อนเริ่มใช้ยาลดสิวแบบรับประทาน เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน การดูดซึมของยารักษาโรคลดลง ผิวไวต่อแสงมากขึ้น

    • ใช้ยาลดสิวที่มีส่วนผสมมากกว่า 1 อย่าง

    สำหรับสิวเรื้อรังหรืออักเสบ อาจจำเป็นต้องใช้ยาลดสิวมากกว่า 1 ชนิดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาสิว โดยให้เลือกใช้ยาลดสิวที่มีสารออกฤทธิ์หรือส่วนผสมที่ต่างกัน และใช้ทาในเวลาที่ต่างกัน เช่น ใช้ยาลดสิวชนิดหนึ่งในตอนเช้า และอีกชนิดหนึ่งในตอนกลางคืน เพื่อลดการระคายเคืองจากการใช้ส่วนผสมทั้ง 2 ชนิดพร้อม ๆ กัน

    • ต้องมีความอดทนขณะรักษาสิว

    การรักษาสิวอาจจำเป็นต้องทายาลดสิวติดต่อกันประจำทุกวัน และอาจใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 เดือนจนกว่าจะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และยิ่งเป็นสิวอักเสบหรืออุดตันเยอะก็จะทำให้ต้องใช้เวลานานขึ้น นอกจากนี้ ในระหว่างรักษา สิวอาจลุกลามหรือมีอาการแย่ลงได้

    ทั้งนี้ ผลการรักษาย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนที่ทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากขึ้น เป็นอาหารของเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวใหม่เรื่อย ๆ มลภาวะหรือสิ่งที่ทำให้ผิวระคายเคืองที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น เช่น ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 การใส่หน้ากากอนามัย อาการแพ้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแพ้เหงื่อ แพ้เครื่องสำอาง แพ้สารเคมี การรักษาสิวเพื่อตัดวงจรสิวและหยุดการเกิดสิวใหม่จึงต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมาก บางครั้งอาจรู้สึกท้อหรือไม่สบายใจเพราะรักษาแล้วสิวไม่หายเสียที หากรักษาเป็นเวลานานแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบคุณหมอผิวหนังเพื่อรับการรักษาอย่างตรงจุด

    • เลือกส่วนผสมที่เหมาะกับอาการของสิว

    ผู้เป็นสิวเลือกส่วนผสมที่เหมาะกับอาการของสิว เช่น สิวอักเสบเป็นตุ่มแดง ควรเลือกยาลดสิวที่มีเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) สิวอุดตันและลดการอักเสบ ควรเลือกยาลดสิวที่มีวิตามินเออย่างอะดาพาลีน (Adapalene) หรือยาทาที่ออกฤทธิ์เป็นกรดอย่างบีเอชเอ (Beta Hydroxy Acid) รูขุมขนอุดตันจนทำให้เกิดสิว ควรเลือกยาลดสิวที่มีกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) เพื่อลดความมันบนใบหน้าและกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วออกไป สิวที่เกิดจากแบคทีเรีย ควรเลือกยาปฏิชีวนะอย่างด็อกซีซัยคลิน (Doxycycline) เตตราซัยคลิน (Tetracycline) ทั้งนี้ การเลือกยาลดสิว ไม่ควรใช้ส่วนผสมหลายอย่างหรือมีส่วนผสมของสเตียรอยด์

    วิธีดูแลผิวเมื่อเป็นสิว

    การดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อเป็นสิว ควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

    • ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไป รวมทั้งมี PA เพื่อป้องกันรังสี UVA และ UVB เป็นประจำ ทาก่อนออกแดดอย่างน้อย 15 นาที และทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันผิวโดนแสงแดดทำร้ายและลดความระคายเคืองของผิวที่เป็นสิวเมื่อโดนแดด
    • ล้างหน้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งด้วยน้ำเปล่า เพื่อทำความสะอาดผิวและลดการอุดตันของรูขุมขน
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารระคายเคืองหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารดังกล่าว เช่น ซิลิโคน ลาโนลิน ปิโตรเลียมเจลลี เพราะอาจทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขนและอาจทำให้สิวแย่ลงได้
    • ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ช่วยให้ผิวแข็งแรงและมีเกราะป้องกันจากสิ่งสกปรกและช่วยลดการเกิดสิวใหม่
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าโดยไม่จำเป็น เพื่อไม่ให้สิ่งสกปรกจากมือไปสะสมบนใบหน้าจนทำให้เกิดสิวใหม่
    • หลีกเลี่ยงการบีบหรือแกะสิวเพราะอาจทำให้อาการเป็นสิวแย่ลงหรือลุกลามไปบริเวณอื่นได้
    • อาบน้ำทุกครั้งหลังทำกิจกรรมที่ทำให้มีเหงื่อออกมาก เพื่อลดการสะสมของเหงื่อและน้ำมันบนผิวหนัง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 12/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา