backup og meta

รอยดำจากสิว สาเหตุ การดูแลและการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 19/07/2022

    รอยดำจากสิว สาเหตุ การดูแลและการรักษา

    รอยดำจากสิว เป็นปัญหาผิวที่มักเกิดขึ้นหลังจากสิวหาย บางคนอาจเกิดรอยดำเพียงแค่ผิวชั้นนอกซึ่งอาจหายเองได้เมื่อมีการผลัดเซลล์ผิวตามธรรมชาติ แต่บางคนอาจมีรอยดำเกิดขึ้นในชั้นผิวหนังแท้ ซึ่งยากต่อการรักษา หรืออาจกลายเป็นรอยถาวร ดังนั้น การรักษาสิวและรักษารอยดำจากสิวตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยให้ลดปัญหารอยดำบนผิวได้

    สาเหตุของรอยดำจากสิว

    รอยดำจากสิวมักเกิดขึ้นบนผิวหนังหลังจากสิวหาย เนื่องจากหลังสิวหาย ผิวหนังผลิตเม็ดสีเมลานินในจุดเดียวมากเกินไป จึงอาจทำให้ผิวมีจุดสีดำ หรือจุดสีน้ำตาลอ่อนหรือเข้มเกิดขึ้นเป็นหย่อม ๆ  ในบางกรณี รอยดำจากสิวอาจเกิดขึ้นในชั้นผิวหนังแท้ เป็นผิวหนังชั้นลึกและอาจทำให้เกิดรอยดำบนผิวหนังอย่างถาวร

    รอยดำบางจุดอาจหายไปเองโดยไม่ต้องรักษา แต่อาจต้องใช้เวลานานประมาณ 6-12 เดือน กว่าจะหายเป็นปกติ โดยเฉพาะรอยสิวที่อยู่ลึกเข้าไปในชั้นผิวหนังแท้อาจยิ่งรักษาได้ยากขึ้น หรือในบางคนอาจเป็นรอยดำถาวร

    สาเหตุที่ผิวหนังผลิตเมลานินมากเกินไปอาจเป็นเพราะการอักเสบที่เกิดขึ้นบนผิวหนังและกระบวนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ที่อาจกระตุ้นการผลิตเมลานินส่วนเกินเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อาจมีบางปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงเกิดรอยดำจากสิวได้ ดังนี้

    • สิวอักเสบ ที่ทำให้ผิวมีอาการบวม แดง และเจ็บปวด สิวประเภทนี้จะแทรกซึมลึกเข้าไปในชั้นผิวหนังซึ่งอาจมีส่วนทำลายผิว ทำให้เกิดรอยดำจากสิวได้ นอกจากนี้ การไม่รักษาสิวอักเสบ และปล่อยให้มีสิวอักเสบเกิดขึ้นเป็นเวลานานอาจเพิ่มโอกาสทำให้เกิดรอยดำหรือแผลเป็นเพิ่มขึ้น
    • การบีบ เกา หรือกดสิว จะยิ่งเพิ่มการอักเสบของสิวมากขึ้น ส่งผลให้เสี่ยงเกิดแผลเป็นและรอยดำจากสิว
    • กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวมีปัญหาเรื่องสิวและรอยแผลเป็น อาจมีโอกาสที่จะเกิดปัญหารอยดำจากสิวเพิ่มขึ้นได้

    วิธีการดูแลปัญหารอยดำจากสิวด้วยตัวเอง

    การดูแลผิวอย่างเป็นประจำและป้องกันการเกิดสิว อาจช่วยลดปัญหารอยดำจากสิวได้ ดังนี้

    • รักษาสิวตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยลดปัญหารอยดำจากสิวและรอยแผลเป็นได้ เนื่องจากหากปล่อยสิวทิ้งไว้อาจยิ่งเพิ่มการอักเสบและเพิ่มโอกาสเกิดรอยหลังสิวหาย
    • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวที่คุณหมอแนะนำ และใช้ตามที่คุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สิวหายเร็วและไม่ทิ้งรอย โดยควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของ เรตินอยด์ เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide) กรดซาลิไซลิก
    • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่อุดตันรูขุมขน เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของน้ำมัน เนื่องจากอาจอุดตันรูขุมขนและก่อให้เกิดสิวอักเสบได้
    • หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางปกปิดรอยดำ เพราะเครื่องสำอางอาจก่อให้เกิดสิวใหม่ขึ้นได้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางในช่วงรักษาสิว และเลือกเครื่องสำอางที่ไม่ก่อให้เกิดความระคายเคืองและอุดตัน เช่น ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอมหรือกลิ่นสังเคราะห์ ซิลิโคน แอลกอฮอล์
    • ทำความสะอาดผิว ด้วยผลิตภัณฑ์ล้างหน้าสูตรอ่อนโยน โดยใช้ปลายนิ้วถูวนเบา ๆ ให้ทั่วใบหน้า ล้างออกด้วยน้ำสะอาด และซับหน้าให้แห้ง นอกจากนี้ อาจขัดผิว เพื่อช่วยเร่งการผลัดเซลล์ผิว แต่ไม่ควรขัดผิวบ่อยหรือรุนแรงเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวเกิดรอยขีดขวนและอาจทำให้ผิวแห้งได้

    การรักษารอยดำจากสิว

    การรักษารอยดำจากสิว ควรรีบรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อช่วยเร่งกระบวนการผลัดเซลล์ผิว ซึ่งอาจสามารถทำได้ด้วยวิธี ดังต่อไปนี้

  • ยารักษาสิว คุณหมออาจสั่งยาหรือแนะนำผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบต่อไปนี้ ไฮโดรควิโนน 2% (2% hydroquinone) กรดอะซีลาอิก (Azelaic acid) กรดไกลโคลิก (Glycolic acid) กรดโคจิก (Kojic acid) วิตามินซี เรตินอยด์ (Retinoids) ที่มีส่วนช่วยลดการอักเสบของสิว ลดการก่อเชื้อแบคทีเรีย ช่วยเร่งผลัดเซลล์ผิวและช่วยลดรอยดำจากสิวได้
  • การป้องกันแสงแดด ผู้ที่มีปัญหารอยดำจากสิวควรปกป้องผิวจากแสงแดด เนื่องจากแสงแดดมีส่วนทำให้ผิวเสื่อมสภาพและเพิ่มความรุนแรงของรอยดำ โดยควรทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้านเสมอ และควรเลือกครีมกันแดดที่มีค่าป้องกัน SPF30 ขึ้นไป
  • การผลัดเซลล์ผิวหรือการลอกหน้าด้วยสารเคมี (Chemical peel) เป็นการใช้สารเคมีเพื่อช่วยขจัดเซลล์ผิวชั้นบนสุด และช่วยลดรอยดำที่ลึกลงไปใต้ผิวหนัง อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง คือ เกิดอาการระคายเคือง แสบ ผิวแดง ตกสะเก็ด บวม
  • การกรอผิว (Dermabrasion) สำหรับรักษารอยดำรุนแรง โดยคุณหมอจะใช้แปรงหมุนเพื่อขัดเอาผิวหนังชั้นนอกออก ผลข้างเคียงที่ร้ายแรง อาจเกิดรอยแผลเป็น ผิวระคายเคือง  แดง บวม อักเสบจนเป็นสิว เป็นรอยดำ และติดเชื้อ
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 19/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา