backup og meta

8 วิธี รักษาสิวที่หลัง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 31/05/2022

    8 วิธี รักษาสิวที่หลัง

    สิวที่หลังเกิดจากความผิดปกติของต่อมไขมันที่ผลิตไขมันมากเกินไป ทำให้รูขุมขนเกิดการอุดตัน สิวที่หลังที่อาจพบได้บ่อย ได้แก่ สิวหัวขาว สิวหัวดำ สิวผด ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล การรักษาสิวที่หลัง มีหลากหลายวิธี โดยอาจรักษาได้เองที่บ้าน หรือควรพบคุณหมอหากมีอาการรุนแรง

    สิวที่หลังเกิดจากอะไร

    โดยปกติร่างกายจะมีต่อมไขมันที่ผลิตน้ำมันที่เรียกว่า “ซีบัม” ซึ่งช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว หากน้ำมันถูกผลิตมากเกินไป และไปรวมกับเซลล์ผิวที่ตายแล้ว อาจทำให้รูขุมขนอุดตัน จนเกิดเป็นสิวที่หลัง รวมถึงเชื้อแบคที่เรีย Propionibacterium Acne หรือ P.Acnes ที่อยู่ภายในต่อมไขมัน ก็อาจทำให้เกิดสิวได้เช่นกัน นอกจากนั้น สิวที่หลังยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น

    • เหงื่อ หากเหงื่อออกหลังจากออกกำลังกาย แล้วไม่อาบน้ำ อาจทำให้สิ่งสกปรกหมักหมมในรูขุมขน รวมถึงน้ำมันที่อุดตัน ทำให้เกิดเป็นสิวได้
    • ยา ผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยารักษาซึมเศร้า ยารักษาโรควิตกกังวล ยาสเตียรอยด์
    • ฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่อาจเกิดจากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยในการผลิตน้ำมันซีบัม ทำให้อาจเกิดการบวมของรูขุมขนและเกิดการอุดตัน มักเกิดในช่วงก่อนมีประจำเดือน และระหว่างมีประจำเดือน
    • กรรมพันธุ์ หากบุคคลในครอบครัวมีสภาพผิวมันและเป็นสิวเยอะ อาจส่งผลให้มีโอกาสเป็นสิวได้มากกว่า เนื่องจากลักษณะของพันธุกรรมอาจทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมามากเกินไปและถูกส่งผ่านรุ่นต่อรุ่น
    • ความเครียด อาจส่งผลให้การผลิตฮอร์โมนต่าง ๆ เช่น คอร์ติซอล ฮอร์โมนความเครียดทำงานบกพร่อง อาจส่งผลให้ต่อมไขมันทำงานหนักและผลิตซีบัมออกมามากเกินไป หากผสมกับเซลล์ผิวที่ตายอาจทำให้เกิดสิว 
    • อาหารบางชนิด เช่น ช็อกโกแลต อาหารมัน ๆ ขนมปังขาว มันฝรั่งทอด อาจเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดสิว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการวิจัยบ่งชี้แน่ชัดว่าอาหารเป็นสาเหตุในการเกิดสิว

    8 วิธีรักษาสิวที่หลัง

    การรักษาสิวที่หลังอาจสามารถทำได้โดยการปรับพฤติกรรมประจำวัน รวมถึงวิธีอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

    1. สวมเสื้อผ้าหลวม ๆ เพื่อช่วยให้ระบายเหงื่อได้ดีขึ้น การสวมเสื้อผ้าที่คับแน่นขณะออกกำลังกาย อาจทำให้สิ่งสกปรกและเหงื่อเข้าไปอุดตันในรูขุมขน จนทำให้เกิดสิว หรืออาจทำให้สิวอักเสบเพิ่มเติมได้ นอกจากนั้น ควรอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าหลังออกกำลังกายหรือหลังจากที่ทำกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออก
    2. หลีกเลี่ยงผิวจากแสงแดด เพราะรังสีอัลตร้าไวโอเลตของแสงแดด นอกจากจะทำลายผิวแล้ว ยังอาจทำให้ผิวดำ คล้ำ และทำให้เป็นสิวเรื้อรัง ดังนั้น เมื่อจำเป็นต้องโดนแสงแดด หรือต้องอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน อาจเลือกใช้ครีมกันแดด ทั้งนี้ ครีมกันแดดที่มันเกินไปอาจทำให้รูขุมขนอุดตันได้ จึงควรเลือกครีมกันแดดที่เหมาะกับสภาพผิวของตนเอง 
    3. รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น อาหารที่มีน้ำตาลสูง ขนมปังขาว อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และอาจทำให้สิวที่เป็นอยู่แย่ลง การรับประทานผัก ผลไม้ เช่น มะนาว แตงโม มะเขือเทศ แอปเปิ้ลเขียว อาจช่วยรักษาสิวที่หลังได้ เพราะอุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินที่ช่วยบำรุงผิวพรรณ 
    4. ลดความเครียด เนื่องจากซีบัมส่งผลโดยตรงจากความเครียด หากเครียดมากระดับคอร์ติซอลจะเพิ่มขึ้น และทำให้ต่อมไขมันทำงานหนัก การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอจะ ช่วยให้ฮอร์โมนในร่างกายทำงานได้อย่างปกติและไม่ผลิตซีบัมมากเกินไป อาจหากิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียด เช่น ออกกำลังกาย ฟังเพลง
    5. ใช้ยาทาเฉพาะที่ ผลิตภัณฑ์ที่มีเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ซึ่งเป็นยาทาสำหรับรักษาสิว มีสรรพคุณต้านเชื้อแบคทีเรีย ควรทาอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง อาจส่งผลให้สิวที่หลังจางลง หากเป็นสิวที่หลังเพียงเล็กน้อยหรือปานกลาง สิวอาจหายภายใน 4-8 สัปดาห์ 
    6. รับประทานยา เช่น 
  • ยาคุมกำเนิด ที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจนเตอโรนเป็นส่วนประกอบ ทำให้อาจช่วยลดการผลิตน้ำมันซีบัมใต้ผิวหนัง อาจใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนจึงจะเห็นผล นอกจากนี้ บุคคลที่ยังไม่ถึงวัยเจริญพันธ์ุ หรือยังไม่มีประจำเดือน ไม่ควรใช้ยาคุม เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการตกไข่ 
  • ยาปฏิชีวนะ เช่น แมคโครไลด์ (Macrolide) เตตราไซคลีน (Tetracyclines) เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียและลดการอักเสบ บางครั้งคุณหมอจะสั่งจ่ายยาควบคู่ไปกับยาเฉพาะที่ อาจใช้เวลารักษา 2-6 เดือน 
  • ไอโสเตรติโนอิน (Isotretinoin) ยาจะทำหน้าที่ยับยั้งสาเหตุของการเกิดสิว โดยกดการทำงานของต่อมไขมัน ทำให้ผลิตซีบัมลดลง สำหรับสตรีตั้งครรภ์หรือผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์ ไม่ควรใช้ไอโสเตรติโนอิน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
  • บำบัดด้วยเลเซอร์ โดยใช้รังสีพลังงานสูงที่อาจช่วยลดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวที่อาศัยอยู่ที่ต่อมไขมัน
  • วิธีป้องกันการเกิดสิวที่หลัง

    เคล็ดลับ ในการลดความเสี่ยงของการเกิดสิวที่หลัง อาจได้แก่

    • หลีกเลี่ยงการบีบสิว เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็นและระคายเคืองผิวหนัง ทั้งยังอาจทำให้ผิวหนังติดเชื้อได้
    • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีส่วนผสมด้วยสารเคมี น้ำหอม หรือน้ำมัน ที่อาจทำให้การระคายเคืองผิวหนัง
    • สวมเสื้อผ้าที่สบายไม่คับแน่นเกินไป และเนื้อผ้าระบายอากาศได้ดี เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียดสีของผิวหนัง 
    • อาบน้ำหลังออกกำลังกายทุกครั้ง เพราะแบคทีเรียที่เกิดจากเหงื่อที่สะสมในเสื้ออาจเป็นสาเหตุของการเกิดสิว
    • ซักผ้าปูที่นอนและปลอกหมอน รวมถึงผ้าเช็ดตัวอยู่เสมอ เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่สะสม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 31/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา