backup og meta

รักษาสิวผด เร่งด่วน ทำได้อย่างไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 26/10/2022

    รักษาสิวผด เร่งด่วน ทำได้อย่างไรบ้าง

    สิวผด คือ สิวที่มีลักษณะเป็นตุ่มขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดการอักเสบ อาการคัน ผิวลอกเป็นขุย และอาจมีของเหลวใสอยู่ภายในสิว มักปรากฏบริเวณที่มีเหงื่อออกมาก เช่น หน้าผาก คอ ไหล่ หน้าอก หลัง รักแร้ และตามข้อพับ รักษาสิวผด เร่งด่วน อาจทำได้หลายวิธี แต่ควรอยู่ภายใต้การดูแลของคุณหมอ เพื่อเลือกยาให้เหมาะสมกับอาการและสภาพผิว ช่วยทำให้รักษาสิวผดได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

    สาเหตุที่ทำให้เกิดสิวผด

    สิวผดเกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อ ทำให้เหงื่อไม่สามารถระเหยออกได้ตามปกติ จึงสะสมอยู่ภายใต้ผิวหนัง และทำให้เกิดการอักเสบขึ้น หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อยีสต์ โดยอาจมีปัจจัยบางอย่างที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดสิวผด ดังนี้

    • ทารกแรกเกิด เนื่องจากต่อมเหงื่อของทารกอาจยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ทำให้ระบายเหงื่อได้ไม่ดี
    • สภาพอากาศร้อนชื้นที่ทำให้ร่างกายผลิตเหงื่อมาก เช่น สถานที่กลางแจ้ง สวนสาธารณะ โรงยิม สนามกีฬา
    • การออกกำลังกายหรือการทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวและใช้แรงมาก
    • การสวมเสื้อผ้าหลายชั้นหรือรัดรูป ที่ระบายอากาศได้ไม่ดี ทำให้เหงื่ออับชื้น
    • การนอนติดเตียงเป็นเวลานาน โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เจ็บป่วย มีไข้สูง

    อาการที่ควร รักษาสิวผด เร่งด่วน

    อาการที่ควรรักษาสิวผดเร่งด่วน มีดังนี้

    • สิวผดอักเสบ เป็นตุ่มหนอง
    • ผิวบวมแดง
    • สิวผดที่เป็นนานกว่า 3 วัน
    • มีสิวผดร่วมกับอาการไม่สบาย มีไข้ และต่อมน้ำเหลืองบวม โดยเฉพาะในเด็ก

    รักษาสิวผด เร่งด่วน ทำอย่างไร

    ปกติแล้วสิวผดมักหายได้เองภายในไม่กี่วัน แต่หากสังเกตว่าสิวผดมีอาการแย่ลง ควรเข้ารับการรักษาสิวผดเร่งด่วน โดยคุณหมอทันที โดยการรักษาสิวผดเร่งด่วนอาจทำได้ดังนี้

    • ทำให้ผิวเย็นลง เป็นวิธีรักษาสิวผดที่เกิดจากอากาศร้อน มีเหงื่อมาก ด้วยการนำผ้าสะอาดชุบน้ำเย็นหรืออาบน้ำ เพื่อลดอุณหภูมิให้ร่างกายรู้สึกเย็นและทำความสะอาดร่างกายจากเหงื่อรวมถึงสิ่งสกปรกที่อุดตันในรูขุมขนจนก่อให้เกิดสิวผด
    • คาลาไมน์โลชั่น ใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน
    • ฟลูโคนาโซล (Fluconazole) เป็นยาสำหรับรับประทานในรูปแบบยาเม็ดและยาน้ำ เหมาะสำหรับการรักษาสิวผดเร่งด่วนที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อยีสต์ ใช้เพื่อหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อราและยีสต์ โดยควรรับประทานวันละ 1 ครั้ง หรือตามที่คุณหมอกำหนด ผลข้างเคียงของยานี้คืออาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง วิงเวียนศีรษะ หากมีอาการแย่ลงควรพบคุณหมอทันที
    • คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) มีในรูปแบบครีม โลชั่น แชมพูและแบบรับประทาน เหมาะสำหรับการรักษาสิวผดที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อยีสต์ ใช้เพื่อช่วยรักษาสิวผดเร่งด่วนและโรคผิวหนังจากการติดเชื้อรา โดยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและยีสต์ ควรใช้วันละ 1-2 ครั้ง หรือตามที่คุณหมอกำหนด สำหรับยาแบบทา ควรทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่มีอาการและเช็ดให้แห้งก่อนทายา หากสังเกตว่ามีอาการแพ้ เช่น ผิวบวม ระคายเคือง ควรหยุดใช้และเข้าพบคุณหมอทันที
    • โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) มีในรูปแบบครีมทาผิวหนัง เหมาะสำหรับการรักษาสิวผดเร่งด่วนที่เกิดจากการติดเชื้อยีสต์ รวมถึงโรคผิวหนังอื่น ๆ เช่น กลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า โดยช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและยีสต์ ก่อนทายาควรทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่มีอาการและเช็ดให้แห้ง ควรใช้วันละ 2 ครั้ง หรือตามที่คุณหมอกำหนด ผลข้างเคียงของยานี้ ได้แก่ แสบผิว ระคายเคือง มีตุ่มขึ้น หากอาการเหล่านี้แย่ลงหรือเป็นแผลพุพอง ควรพบคุณหมอทันที
    • ไมโคนาโซล (Miconazole) ในรูปแบบครีมทาผิวหนัง เหมาะสำหรับการรักษาสิวผดเร่งด่วนที่เกิดจากการติดเชื้อยีสต์ ใช้เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและยีสต์ โดยควรทาบริเวณที่มีอาการ วันละ 2 ครั้ง หรือตามที่คุณหมอกำหนด ผลข้างเคียงของยานี้ คืออาจทำให้แสบผิว ระคายเคือง ผิวบวม ผิวลอก หากอาการเหล่านี้แย่ลงหรือเป็นแผลพุพอง ควรพบคุณหมอทันที

    วิธีป้องกันสิวผด

    การป้องกันสิวผด อาจทำได้ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศร้อน ควรเปิดหน้าต่าง ประตู พัดลม หรือเครื่องปรับอากาศ เพื่อช่วยถ่ายเทอากาศ และทำให้มีอุณหภูมิเย็นลง
  • หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้ารัดรูป หรือการสวมเสื้อผ้าหลายชั้น และควรเลือกสวมเสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้าย เพราะอาจช่วยระบายความร้อนจากร่างกายได้ดี ไม่อับชื้น
  • ควรอาบน้ำเย็นแทนน้ำอุ่นและจำกัดเวลาการอาบน้ำไม่เกิน 10 นาที อีกทั้งยังควรเลือกใช้สบู่ที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว เพื่อป้องกันผิวแห้ง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนผสมของน้ำมัน เพื่อลดการอุดตันของท่อเหงื่อและรูขุมขน
  • ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อช่วยให้อุณหภูมิร่างกายเย็นลงและป้องกันร่างกายขาดน้ำ
  • ใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดตัว เมื่อรู้สึกว่าร่างกายมีอุณหภูมิสูง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่อาจเพิ่มการขับเหงื่อ เช่น โคลนิดีน (Clonidine) เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blocker) โอปิออยด์ (Opioids)
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 26/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา