backup og meta

รูขุมขนอุดตัน สาเหตุที่ก่อให้เกิดสิว

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 24/06/2022

    รูขุมขนอุดตัน สาเหตุที่ก่อให้เกิดสิว

    รูขุมขนอุดตัน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เซลล์ผิวที่ตายแล้ว สิ่งสกปรก ไปอุดตันบริเวณรูขุมขน ซึ่งทำหน้าที่ในการผลิตน้ำมันเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว จนทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนัง ส่งผลทำให้เกิดสิว ซึ่งสิวที่เกิดขึ้นอาจทำให้เสียความมั่นใจ และหากไม่ได้รับวิธีรักษาถูกต้อง อาจเกิดการอักเสบเรื้อรัง และเป็นแผลเป็นได้

    รูขุมขนอุดตัน ทำให้เป็นสิวได้จริงหรือ

    เมื่อเชื้อแบคทีเรีย เซลล์ผิวที่ตายแล้ว สิ่งสกปรกที่อยู่บนผิวหนังเข้าไปสะสมจนรูขุมขนอุดตัน ก็อาจทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนัง จนนำไปสู่การเกิดตุ่มนูนแดง มีหนอง หรือสิวได้ บางคนอาจรู้สึกเจ็บปวดบริเวณที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งรูขุมขนอุดตันอาจก่อให้เกิดสิวหลายชนิดด้วยกัน ดังนี้

    • สิวหัวขาว คือ สิวอุดตันแบบหัวปิด มีลักษณะเป็นตุ่มสีขาวเล็ก ๆ ซึ่งเกิดจากเซลล์ผิวที่ตายแล้ว น้ำมัน และแบคทีเรียที่สะสมภายในรูขุมขน
    • สิวหัวดำ คือ สิวอุดตันแบบหัวเปิด เกิดขึ้นเมื่อรูขุมขนอุดตันด้วยน้ำมัน เซลล์ผิวที่ตายแล้ว รวมถึงแบคทีเรียสะสม จากนั้นสิ่งเหล่านี้จะทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ทำให้สิ่งที่อุดตันอยู่ในรูขุมขนเปลี่ยนเป็นสีดำ
    • สิวตุ่มแดง มีลักษณะเป็นตุ่มสีแดง ๆ ไม่มีหนองอยู่ข้างใน เกิดจากการอักเสบของสิวอุดตัน อาจรู้สึกเจ็บ มักเกิดขึ้นใกล้กับผิวชั้นนอก
    • สิวตุ่มหนอง มีลักษณะคล้ายกับสิวตุ่มแดง แต่จะมีหนองสีขาวอยู่กึ่งกลางสิว ซึ่งเกิดจากการสะสมของหนอง
    • สิวขนาดใหญ่ หรือซีสต์ เป็นสิวประเภทร้ายแรงที่สุด มีลักษณะคล้ายกับฝี ภายในมีการสะสมของหนองอยู่ในถุงซีสต์ รู้สึกเจ็บปวดเมื่อถูกสัมผัส ทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็นถาวร ต้องได้รับการรักษาโดยการเจาะระบายหนองออก
    • สิวหัวช้าง เป็นสิวที่มีอาการอักเสบชนิดรุนแรงซึ่งคล้ายกับสิวซีสต์ที่เกิดใต้ผิว มีขนาดใหญ่และเต็มไปด้วยหนอง รู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัส

    นอกจากรูขุมขนอุดตันจะทำให้เกิดสิวแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดขนคุด โดยปกติแล้ว เคราติน (Keratin) ที่เป็นเส้นใยของผิวหนังชั้นนอก เป็นเกราะป้องกันให้แก่ผิวเพื่อคงสุขภาพผิวให้มีสุขภาพดี โดยเคราตินพบได้ในเส้นผม เล็บ และผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย แต่หากเคราตินเข้าไปอุดตันรูขุมขนจนทำให้ขนที่งอกใหม่ไม่สามารถทะลุผ่านผิวหนังออกมาได้ ส่งผลให้เกิดการอักเสบภายในรูขุมขน อาการคัน เจ็บปวด ตุ่มหนอง โดยขนคุดอาจเกิดจากพฤติกรรมการโกนขน ซึ่งพบได้บ่อยบริเวณขา แขน รักแร้

    วิธีป้องกันรูขุมขนอุดตัน

    สำหรับวิธีป้องกันไม่ให้รูขุมขนอุดตันด้วยตนเองอาจทำได้ ดังนี้

    1. ทำความสะอาดใบหน้า ควรล้างหน้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อขจัดน้ำมันส่วนเกิน เซลล์ผิวที่ตายแล้ว สิ่งสกปรก และควรเลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวสูตรอ่อนโยน เพื่อป้องกันการระคายเคืองผิว

    2. หลีกเลี่ยงการขัดผิว ไม่ควรขัดผิว หรือเช็ดหน้าด้วยผ้าขนหนูอย่างรุนแรง ควรค่อย ๆ ซับด้วยผ้าสะอาดหลังล้างหน้า เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อแบคทีเรียและสิ่งสกปรกที่อาจก่อให้เกิดสิว

    3. เลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวอย่างเหมาะสม ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของมอยส์เจอร์ไรเซอร์ เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวและควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย “Noncomedogenic” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดสิว 

    4. หลีกเลี่ยงการแต่งหน้า เครื่องสำอาง เช่น ครีมรองพื้น แป้งรองพื้น ทำให้รูขุมขนอุดตัน เสี่ยงต่อการเกิดสิว ดังนั้นหากไม่จำเป็นควรเลี่ยงการแต่งหน้า แต่หากจำเป็นต้องแต่งหน้า ควรเลือกเครื่องสำอางที่ปราศจากน้ำมัน และควรล้างเครื่องสำอางออกจากใบหน้าให้สะอาดทุกครั้งก่อนเข้านอน

    5. ไม่นำมือไปสัมผัสใบหน้า เนื่องจากมือเป็นแหล่งรวบรวมสิ่งสกปรก หากนำมือไปสัมผัสกับใบหน้า อาจทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง และทำให้เกิดสิวได้

    6. ป้องกันผิวจากแสงแดด รังสียูวีจากแสงแดดอาจทำให้ผิวระคายเคืองจนเกิดการอักเสบของผิว โดยเฉพาะการเผชิญกับแสงแดดช่วงเวลา 10.00-16.00 น. หากจำเป็นที่ต้องออกจากบ้านในช่วงเวลาดังกล่าวควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 หรือสวมใส่หมวกปีกกว้าง กางร่ม ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว

    7. เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผลไม้ ผักสด ธัญพืช และควรลดอาหารที่มีไขมัน น้ำตาลสูง รวมถึงอาหารแปรรูป เพราะอาจก่อให้เกิดการผลิตน้ำมันส่วนเกินออกมาในปริมาณมากจนอุดตันในรูขุมขนและก่อให้เกิดสิว

    8. ลดความเครียด ความเครียดอาจทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) เพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่การผลิตน้ำมันส่วนเกินออกมาในปริมาณมาก ส่งผลทำให้เกิดสิว

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 24/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา