backup og meta

สิวขึ้นหน้าผาก เกิดจากอะไร มีวิธีรักษาและการป้องกันอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 05/01/2023

    สิวขึ้นหน้าผาก เกิดจากอะไร มีวิธีรักษาและการป้องกันอย่างไร

    สิวขึ้นหน้าผาก เกิดจาก หลายปัจจัยด้วยกัน เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การดูแลผิวไม่ถูกวิธี การใช้เครื่องสำอางที่ก่อให้เกิดการอุดตันในรูขุมขน ซึ่งทำให้เกิดสิวขึ้นหน้าผากประเภทต่าง ๆ ที่อาจมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงควรรับการวินิจฉัยโดยคุณหมอ เพื่อรับการรักษาและคำแนะนำในการป้องกันสิวขึ้นหน้าผากอย่างเหมาะสม

    สิวขึ้นหน้าผาก เกิดจากอะไร

    สิวขึ้นหน้าผาก เกิดจากเซลล์ผิวเก่า สิ่งสกปรก และน้ำมันส่วนเกินที่เรียกว่า ซีบัม (Sebum) อุดตันในรูขุมขนบริเวณหน้าผาก ซึ่งอาจกระตุ้นให้แบคทีเรียตามธรรมชาติที่อาศัยอยู่บนผิวเจริญเติบโตมากขึ้น จนนำไปสู่การอักเสบและก่อให้เกิดสิว นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบางอย่างอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดสิวขึ้นหน้าผาก ดังนี้

    • พันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีสิวขึ้นหน้าผาก บุตรหลานก็อาจมีแนวโน้มที่จะมีสิวขึ้นหน้าผากด้วยเช่นกัน
    • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) อาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันขยายและผลิตน้ำมันออกมามากจนเกินไป จนนำไปสู่การอุดตันในรูขุมขนและก่อให้เกิดสิวขึ้นหน้าผาก
    • ความเครียด อาจทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่เป็นฮอร์โมนแห่งความเครียด และกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากเกินไป จนเกิดการอุดตันในรูขุมขน นำไปสู่การเกิดสิวขึ้นหน้าผาก
    • การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น ขนมหวาน ช็อกโกแลต ของทอด รวมถึงของเผ็ดร้อน ที่อาจกระตุ้นให้ร่างกายผลิตเหงื่อมากขึ้น นำไปสู่การอุดตันในรูขุมขน และเสี่ยงต่อการเกิดสิวขึ้นหน้าผาก หรืออาจทำให้สิวที่เป็นอยู่มีอาการแย่ลง
    • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ลิเทียม (Lithium) ที่อาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมามากจนอุดตันในรูขุมขนและก่อให้เกิดสิวขึ้นหน้าผาก
    • พฤติกรรมการดูแลผิวไม่ดี เช่น การล้างหน้าไม่สะอาด โดยเฉพาะหลังแต่งหน้า การแต่งหน้าทิ้งไว้ข้ามคืน การขัดผิวอย่างรุนแรง การใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ไม่เหมาะกับสภาพผิว การใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของน้ำมันและสารก่อความระคายเคือง ที่อาจส่งผลให้รูขุมขนอุดตัน ผิวระคายเคือง และก่อให้เกิดสิวขึ้นหน้าผากหรือส่งผลให้สิวที่เป็นอยู่อักเสบรุนแรง

    ประเภทของสิวขึ้นหน้าผาก

    ประเภทของสิวขึ้นบนหน้าผาก อาจมีดังต่อไปนี้

    • สิวผด เป็นสิวไม่มีหัวที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการอุดตันของท่อเหงื่อ ทำให้เหงื่อไม่สามารถระบายออกและสะสมอยู่ภายในรูขุมขนใต้ผิวหนัง โดยเฉพาะเมื่อมีสภาพอากาศร้อน ออกกำลังกายอย่างหนัก หรือสวมเสื้อรัดรูปหรือหลายชั้น
    • สิวหัวดำ (Blackheads) เป็นสิวหัวเปิดที่เกิดจากการอุดตันของรูขุมขนเนื่องจากน้ำมันส่วนเกินและแบคทีเรีย เมื่อหัวสิวสัมผัสกับอากาศจะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidation) ทำให้หัวสิวเข้มขึ้นจนกลายเป็นสีดำ
    • สิวหัวขาว (Whiteheads) เป็นสิวหัวปิดที่มีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ แข็ง ๆ เป็นไต นูนขึ้นมาจากใต้ผิวหนัง
    • สิวตุ่มนูนแดง (Papule) เป็นสิวอักเสบที่มีลักษณะตุ่มหนองเล็ก ๆ สีแดง และอาจรู้สึกเจ็บเล็กน้อยเมื่อสัมผัส
    • สิวหัวหนอง (Pustule) มีลักษณะเป็นตุ่มนูนแดง ภายในมีหนองสะสม อาจมีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ หากรักษาไม่ถูกวิธีหรือบีบสิวเองอาจเสี่ยงทำให้สิวอักเสบได้
    • สิวอักเสบ (Nodule) เป็นสิวหัวปิดที่มีลักษณะเป็นตุ่มนูนใหญ่ เป็นไตแข็งใต้ผิวหนัง และอาจส่งผลให้รู้สึกเจ็บปวด
    • สิวซีสต์ (Cyst) เป็นสิวที่รุนแรงที่สุด มีลักษณะเป็นตุ่มสิวขนาดใหญ่ มีหนองภายใน และอาจทำให้รู้สึกเจ็บปวด หากมีสิวซีสต์ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างรวดเร็ว ไม่ควรบีบสิวหรือกดสิวด้วยตัวเองเพราะอาจทำให้สิวอักเสบและเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็นขนาดใหญ่ได้

    วิธีรักษาสิวขึ้นหน้าผาก

    วิธีรักษาสิวขึ้นหน้าผาก มีดังนี้

    • ยาเรตินอยด์ (Retinoid) เช่น อะดาพาลีน (Adapalene) เตรทติโนอิน (Tretinoin) ทาซาโรทีน (Tazarotene) เพื่อช่วยป้องกันรูขุมขนอุดตัน ในช่วงแรกควรทายาเพียงสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จนกว่าผิวจะชินกับยา แล้วจึงปรับเป็นทาทุกวัน ก่อนนอนหรือตามที่คุณหมอกำหนด ผลข้างเคียงคืออาจส่งผลให้ผิวไวต่อแสงมากขึ้น
    • ยาปฏิชีวนะ เพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่อาจก่อให้เกิดสิวขึ้นหน้าผาก และช่วยลดการอักเสบของสิว มี 2 รูปแบบ คือ 1.ยาทาเฉพาะที่ เช่น เบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) คลินดามัยซิน (Clindamycin) ที่คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ร่วมกับยาในกลุ่มเรตินอยด์ โดยใช้ยาปฏิชีวนะในช่วงเช้า และทายากลุ่มเรตินอยด์ช่วงเวลาก่อนนอน เพื่อป้องกันการดื้อยาและช่วยให้รักษาสิวขึ้นหน้าผากได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 2. ยาปฏิชีวนะแบบรับประทาน เช่น ยาแมคโครไลด์ (Macrolide) ยาเตตราไซคลีน (Tetracyclines) อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ใช้ยาเตตราไซคลีนในสตรีตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี
    • ยาคุมกำเนิด ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินและเอสโตรเจน ที่อาจช่วยปรับความสมดุลของฮอร์โมน เพื่อลดการผลิตน้ำมันส่วนเกิน อย่างไรก็ตาม ควรใช้ร่วมกับวิธีรักษาสิวอื่น ๆ เช่น การทายาเฉพาะที่ การกดสิว นอกจากนี้ ยาคุมกำเนิดอาจส่งผลให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักขึ้น เจ็บหน้าอกและอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมได้ ดังนั้น จึงควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทาน
    • ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน อาจช่วยชะลอการหลั่งฮอร์โมนแอนโดรเจน ที่ทำให้ต่อมไขมันขยายและผลิตน้ำมันมากขึ้น จนนำไปสู่การอุดตันในรูขุมขนและก่อให้เกิดสิวขึ้นหน้าผาก ผลข้างเคียงคืออาจมีอาการเจ็บเต้านมและปวดท้องระหว่างเป็นประจำเดือน
    • การกดสิว เพื่อช่วยระบายสิ่งอุดตันในรูขุมขนและหนองออก โดยควรให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้กดสิวเท่านั้นเพื่อลดความเสี่ยงต่อการอักเสบและรอยแผลเป็น
    • การฉีดยาสเตียรอยด์ (Steroid) เพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวดจากสิว แต่อาจส่งผลข้างเคียงคือผิวหนังบางและสีผิวเปลี่ยนสีในบริเวณที่ทำการรักษา
    • การผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี คุณหมออาจใช้กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) กรดไกลโคลิก (Glycolic acid) และกรดเรติโนอิก (Retinoic acid) เพื่อช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่าออก และช่วยให้กดสิวออกได้ง่ายขึ้นเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวขึ้นหน้าผากที่ไม่รุนแรง

    การป้องกันสิวขึ้นหน้าผาก

    การป้องกันสิวขึ้นหน้าผากอาจทำได้ ดังนี้

    • ทำความสะอาดผิวหน้าด้วยสบู่ที่เหมาะกับสภาพผิว อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อช่วยขจัดเซลล์ผิวเก่า สิ่งสกปรกและน้ำมันส่วนเกิน
    • ควรหลีกเลี่ยงการขัดผิวหน้าอย่างรุนแรงเพื่อป้องกันการระคายเคืองผิว
    • ควรเลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ระบุว่า “Non-comedogenic” เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมที่ทำให้รูขุมขนอุดตันและช่วยลดการเกิดสิว
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าและบริเวณหน้าผาก หากยังไม่ได้ล้างมือ เนื่องจากมืออาจมีสิ่งสกปรกและเชื้อโรคตกค้างอยู่
    • ทาครีมกันแดดที่มี SPF 50 ขึ้นไป อย่างน้อย 20 นาที ก่อนออกจากบ้าน เพื่อป้องกันรังสียูวีจากแสงแดดทำร้ายผิว
    • ควรเลือกเครื่องสำอางที่ปราศจากน้ำมัน และควรล้างเครื่องสำอางออกจนหมดก่อนเข้านอน เพื่อลดการอุดตันในรูขมขน
    • ผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ออกกำลังกาย เล่นเกม ดูหนัง ฟังเพลง วาดรูป เพื่อลดการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ที่อาจกระตุ้นการผลิตน้ำมันบนใบหน้าจนส่งผลให้เกิดสิว
    • ทำความสะอาดของใช้ที่สัมผัสกับผิวบริเวณหน้าผากบ่อยครั้ง เช่น ปลอกหมอน ผ้าห่ม ผ้าเช็ดหน้า เพื่อลดการสะสมของสิ่งสกปรกที่อาจทำให้รูขุมขนอุดตัน
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาล คาร์โบไฮเดรต และไขมันสูง เช่น ของทอด ขนมหวาน ขนมปังขาว มันฝรั่ง เนื้อสัตว์ติดมัน เพราะอาจทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากขึ้น นำไปสู่การเกิดสิวขึ้นหน้าผาก โดยควรเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพอย่าง ผลไม้ ผัก ธัญพืช และไขมันดี เช่น ส้ม อัลมอนด์ อะโวคาโด น้ำมันมะกอก ปลาแซลมอน มะเขือเทศ สับปะรด แตงกวา แครอท ฟักทอง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 05/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา