backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

สิวที่หลัง สาเหตุ อาการ การรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 27/10/2022

สิวที่หลัง สาเหตุ อาการ การรักษา

สิวที่หลัง มีลักษณะเหมือนกับสิวที่ขึ้นตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย อาจพบได้หลายชนิด เช่น สิวหัวดำ สิวอักเสบแดง สิวผด เมื่อเกิดสิวที่หลังอาจทำให้รู้สึกไม่สบายผิว ระคายเคือง และเสียความมั่นใจ อย่างไรก็ตาม สิวที่หลังสามารถรักษาได้ด้วยการดูแลสุขภาพผิวอย่างถูกวิธีเป็นประจำ

คำจำกัดความ

สิวที่หลัง คืออะไร

สิวที่หลัง คือ สิวที่ขึ้นบริเวณแผ่นหลัง เกิดจากสิ่งสกปรกและน้ำมันหรือซีบัม (Sebum) เข้าไปอุดตันในรูขุมขน นอกจากนี้ สิวที่หลังยังอาจเกิดขึ้นเมื่อฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น แต่บางครั้ง สิวที่หลังก็อาจพบในผู้ที่มีอายุ 20 ปี ปลาย ๆ จนถึง 30 ปีได้ เช่นเดียวกัน

อาการ

อาการสิวที่หลัง

อาการสิวที่หลังสังเกตได้จากอาการคัน และตุ่มสิวเป็นก้อนที่เริ่มขึ้นบนผิวหนังส่วนหลัง บางครั้งอาจมีอาการเจ็บปวด ระคายเคือง

สาเหตุ

สาเหตุของสิวที่หลัง

สาเหตุที่ส่งผลให้สิวขึ้นหลัง มีดังนี้

  • รูขุมขนอุดตัน เนื่องจากบนผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย รวมถึงบริเวณหลังล้วนเต็มไปด้วยรูขุมขนและต่อมไขมัน หากเซลล์ผิวที่ตายแล้ว น้ำมันส่วนเกิน รวมถึงแบคทีเรียที่อยู่โดยรอบเข้าไปอุดตันในรูขุมขน อาจส่งผลให้อักเสบจนเป็นสิว
  • ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง เมื่อระดับฮอร์โมนเพศชายอย่างเทสโทสเตอโรน (Testosterone) และแอนโดรเจน (Androgen) เพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้การทำงานของระบบไหลเวียนเลือดเสียสมดุล ต่อมไขมันขยายใหญ่ และผลิตน้ำมันออกมามากเกินไป จนอาจมีน้ำมันส่วนเกินบนผิว ที่เมื่อไปรวมกับแบคทีเรีย ก็อาจนำไปสู่การเกิดสิวที่หลังได้
  • ยาบางชนิด เช่น ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เทสทอสเทอโรน (Testosterone) ลิเทียม (Lithium)
  • อาหาร อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น ขนมปัง มันฝรั่งทอด อาจทำให้เกิดสิวที่หลังหรือเพิ่มความเสี่ยงทำให้อาการสิวที่หลังแย่ลง
  • ความเครียด สิวที่หลังอาจไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความเครียดโดยตรง แต่ความเครียดนี้อาจทำให้สิวที่เป็นอยู่มีอาการแย่ลงได้

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงสิวที่หลัง

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้สิวขึ้นที่หลัง ได้แก่

  • พันธุกรรมจากยีนของคนในครอบครัวที่มีประวัติเป็นสิว
  • แรงเสียดสีบริเวณผิวหนังซ้ำ ๆ เช่น การถูและการเกาผิวหนัง
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการสะสมของสิ่งสกปรกและเหงื่อ
  • พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด ความเครียด การเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ไม่รักษาสุขอนามัย
  • อาหารบางชนิด เช่น อาหารจานด่วน ช็อกโกแลต และอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เนื่องจากอาหารเหล่านี้อาจเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งเป็นสิ่งกระตุ้นก่อให้เกิดสิวขึ้น ตามการศึกษาของสถาบันผิวหนังแห่งอเมริกา (American Academy of Dermatologists) ที่ได้กล่าวเอาไว้

การรักษา

การรักษาสิวที่หลัง

การรักษาสิวที่หลังอาจเป็นไปตามชนิดของสิว สำหรับผู้ที่มีสิ่วที่หลังไม่รุนแรง คุณหมออาจให้รับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น ด็อกซีไซคลีน (Doxycycline) แมคโครไลด์ (Macrolide) เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันการอักเสบของสิว และลดรอยแดง และอาจให้ใช้ยาทาภายนอกที่ประกอบด้วย ซาลิไซลิก แอซิด (Salicylic Acid) เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) และเรตินอยด์ (Retinoids)

สำหรับสิวในระดับรุนแรง หรือสิวที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาจากยาชนิดอื่น คุณหมออาจรักษาด้วยยาไอโซเทรติโนอิน (Isotretinoin) และอาจจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจและติดตามผลการรักษาสิวที่หลังอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ ยาคุมกำเนิดและยาอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อฮอร์โมน อาจสามารถช่วยลดการผลิตน้ำมันออกมาจากผิวหนังที่เป็นสาเหตุของการเกิดสิวได้ แต่อาจใช้เวลา 3-4 เดือน จึงจะเห็นผล สำหรับผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นอาจจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงยาเหล่านี้เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการตกไข่

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันสิวที่หลัง

วิธีป้องกัน หรือลดความเสี่ยงการเกิดสิวที่หลัง มีดังนี้

  • รักษาสุขอนามัยหรือทำความสะอาดผิวหนังเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังออกกำลังกาย หรือมีเหงื่อออกมาก
  • ปกป้องผิวจากรังสียูวี เพราะผิวหนังที่ถูกทำลายจากแสงแดดมากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดสิวมากขึ้น
  • เลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวและบำรุงผิวที่อ่อนโยน ปราศจากน้ำมัน และสารเคมี
  • หลีกเลี่ยงการขัดผิว ป้องกันการเสียดสีที่อาจนำไปสู่การเกิดสิว และผิวหนังอักเสบ
  • ไม่สัมผัส เกา แคะ แกะสิวที่หลัง
  • สวมใส่เสื้อผ้าเบาสบาย ไม่รัดแน่น
  • ทำความสะอาดผ้าปูที่นอน และผ้าเช็ดตัวอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 27/10/2022

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา