backup og meta

สิวใต้ผิวหนัง สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 23/11/2022

    สิวใต้ผิวหนัง สาเหตุ อาการ และการรักษา

    สิวใต้ผิวหนัง หรือสิวเป็นไต เป็นสิวชนิดรุนแรงที่มีลักษณะเป็นก้อนแข็งใต้ผิวหนัง ส่งผลให้ผิวหนังมีลักษณะเป็นสิวก้อนนูนแข็ง ตุ่มแดง และเจ็บปวด โดยสิวใต้ผิวหนังอาจจะเกิดขึ้นเป็นเวลานานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดแผลเป็นรุนแรงและถาวรได้

    สิวใต้ผิวหนัง เกิดจากอะไร

    สิวใต้ผิวหนัง เกิดจากสาเหตุเดียวกันกับสิวชนิดอื่น ๆ คือ การอุดตันของรูขุมขนจนน้ำมันที่ผลิตในรูขุมขน เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว ขน และเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนัง โดยเฉพาะคิวติแบคทีเรียม แอคเน่ (Cutibacterium Acnes) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่อยู่ใต้ผิวหนังที่สามารถนำไปสู่การติดเชื้อ การอักเสบ และความเจ็บปวดได้

    การอุดตันของรูขุมขนนอกจากจะเกิดจากความมันที่มากเกินไป และการไม่ทำความสะอาดผิวอย่างเหมาะสม ยังอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่น ๆ ดังนี้

    • พันธุกรรม หากคนในครอบครัวเป็นสิวง่ายก็อาจมีแนวโน้มที่คนอื่น ๆ ในครอบครัวจะเป็นสิวง่ายได้เช่นกัน
    • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยเฉพาะในวัยรุ่น ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงมีประจำเดือนและการตั้งครรภ์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนมากกว่าปกติ อาจทำให้มีการผลิตน้ำมันใต้ผิวหนังมากขึ้น และทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขนได้ง่าย
    • เหงื่อออกมากเกินไป ผู้ที่ร่างกายมีการขับเหงื่อออกมามากเกินไปอาจมีแนวโน้มเป็นสิวใต้ผิวหนังได้ง่าย โดยเฉพาะในผู้ที่สวมใส่เสื้อผ้าที่ดูดซับเหงื่อไว้กับผิวหนัง อาจทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขนได้ง่ายมากขึ้น
    • การใช้ยาบางชนิด เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) อาจทำให้ผิวบอบบาง เป็นสิวง่าย และอาจทำให้สิวมีอาการแย่ลงได้
    • การใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เช่น โลชั่น ครีม เครื่องสำอางบางชนิด ที่อาจมีส่วนผสมของน้ำมันที่สามารถทำให้รู้ขุมขนอุดตัน หรืออาจทำให้เกิดอาการแพ้
    • ความเครียดและความวิตกกังวล ระดับของฮอร์โมนความเครียดที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ร่างกายผลิตไขมันมากขึ้น

    อาการของสิวใต้ผิวหนัง

    สิวใต้ผิวหนังอาจเกิดขึ้นเป็นเม็ดใหญ่เพียงเม็ดเดียว หรืออาจเกิดขึ้นใต้ผิวหนังพร้อมกันหลาย ๆ เม็ดก็ได้ ซึ่งในผู้ชายอาจพบได้บ่อยบริเวณใบหน้า หลัง หรือหน้าอก และผู้หญิงอาจพบได้บ่อยบริเวณกรามหรือคาง โดยอาจแสดงอาการ ดังนี้

    • เป็นตุ่มนูนและมีก้อนแข็งใต้ผิวหนัง
    • มีอาการเจ็บปวด และอาจเจ็บปวดมากขึ้นเมื่อสัมผัส
    • สีของสิวอาจไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรืออาจมีสีแดง

    การรักษาสิวใต้ผิวหนัง

    สิวใต้ผิวหนังจำเป็นต้องเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา ไม่ควรบีบ แกะหรือเกา เพราะอาจทำให้สิวใต้ผิวหนังมีอาการแย่ลง และอาจเกิดเป็นรอยแผลเป็นถาวรได้ โดยคุณหมออาจแนะนำวิธีรักษา ดังนี้

    • ยารับประทาน เช่น ยาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) สำหรับสิวรุนแรง แต่ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาชนิดนี้ เพราะอาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด นอกจากนี้ ยังอาจมียารับประทานอื่น ๆ เช่น เตตราไซคลีน (Tetracycline) ยาคุมกำเนิด ช่วยลดการอักเสบและขจัดสิวใต้ผิวหนัง รวมถึงยาสไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) ซึ่งอาจช่วยป้องกันหรือชะลอการผลิตฮอร์โมนที่ทำให้เกิดสิว
    • ยารักษาเฉพาะที่ เช่น เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) เรตินอยด์ (Retiniod) ซึ่งเป็นยาที่มีความเข้มข้นมากและต้องได้รับการสั่งโดยคุณหมอเท่านั้น เพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ผลัดเซลล์ผิว และขจัดสิวใต้ผิวหนัง
    • การฉีดคอร์ติโซน (Cortisone) ช่วยลดขนาดก้อนสิวใต้ผิวหนังที่ใหญ่มาก เจ็บปวด หรือเป็นก้อนแข็ง นอกจากนี้ ยาคอร์ติโซนยังอาจจะช่วยลดการอักเสบและเร่งกระบวนการขจัดสิวใต้ผิวหนัง

    การป้องกัน สิวใต้ผิวหนัง

    วิธีที่จะช่วยลดโอกาสการเกิดสิวใต้ผิวหนัง อาจทำได้ดังนี้

    • ทำความสะอาดผิวเป็นประจำทุกวัน ด้วยการล้างหน้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน โดยเฉพาะหากมีเหงื่อออกมาก หน้ามันมาก และควรล้างเครื่องสำอางให้สะอาดทุกครั้งก่อนนอน เพื่อลดการอุดตันของรูขุมขน
    • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากน้ำหอม แอลกอฮอล์ และน้ำมัน ที่อาจก่อให้เกิดความระคายเคือง อาการแพ้ และอาจเพิ่มความมันบนผิวหนังที่อาจก่อให้เกิดการอุดตันของรูขุมขนได้
    • จัดการกับความเครียด ด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง เพราะความเครียดสามารถเพิ่มระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่อาจกระตุ้นการผลิตน้ำมันบนผิวที่อาจก่อให้เกิดการอุดตันใต้ผิวหนังได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 23/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา