backup og meta

สิวไม่มีหัว สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/11/2022

    สิวไม่มีหัว สาเหตุ อาการ และการรักษา

    สิวไม่มีหัว เป็นสิวอุดตันชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นใต้ผิวหนัง อาจมีลักษณะคล้ายตุ่มนูน บวมแดง อักเสบ และมีอาการเจ็บปวด พบได้บ่อยบริเวณใบหน้า หลัง หรือหน้าอก ซึ่งสิวไม่มีหัวอาจรักษาได้ด้วยการใช้ยารักษาสิวที่มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อแบคทีเรียและช่วยผลัดเซลล์ผิว เพื่อช่วยให้สิวแห้งและค่อย ๆ หายไปเอง

    สิวไม่มีหัว เกิดจากอะไร

    สิวไม่มีหัว อาจเกิดจากการอุดตันของรูขุมขนเนื่องจากการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย เซลล์ผิวที่ตายแล้ว ขน และน้ำมันที่ผลิตจากต่อมไขมันหรือซีบัม (Sebum) นอกจากนี้ การทำความสะอาดผิวที่ไม่เหมาะสม เช่น การไม่ล้างเครื่องสำอางก่อนนอน ใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่มีสารเคมี ขัดผิวหน้ารุนแรงเกินไป ใช้กระดาษซับมันถูใบหน้า ก็อาจทำให้เกิดการอุดตันของสิ่งสกปรกและเชื้อโรคใต้ผิวหนังและก่อตัวเป็นหนอง จนทำให้มีการอักเสบและความเจ็บปวด นอกจากนี้ สิวไม่มีหัวยังอาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

  • พันธุกรรม
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยเฉพาะในวัยรุ่น ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงมีประจำเดือน และผู้หญิงตั้งครรภ์ มักมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนมากจนทำให้มีแนวโน้มเป็นสิว
  • เหงื่อออกมาก อาจทำให้เกิดการสะสมของสิ่งสกปรกและเชื้อโรคในรูขุมขน
  • การใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันอาจทำให้รูขุมขนเกิดการอุดตัน
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ที่อาจทำให้ผิวบอบบางและอาจทำให้เป็นสิว
  • ความเครียด ระดับฮอร์โมนความเครียดที่เพิ่มขึ้นอาจกระตุ้นการผลิตน้ำมันในรูขุมขน ซึ่งอาจทำให้รูขุมขนเกิดการอุดตัน
  • อาการของสิวไม่มีหัว

    อาการของสิวไม่มีหัวอาจสังเกตได้ ดังนี้

    • มีก้อนหรือตุ่มเล็ก ๆ เกิดขึ้นบนผิวหนัง
    • บวม อักเสบ หรือมีสีแดงบริเวณตุ่มสิว
    • เจ็บปวดบริเวณตุ่มและรอบ ๆ ตุ่มสิว

    การรักษาสิวไม่มีหัว

    สิวไม่มีหัวอาจมีอาการที่ไม่รุนแรงและสามารถรักษาเองได้ ด้วยวิธีดังนี้

    • แผ่นแปะสิว สามารถใช้แปะสิวที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) เพื่อช่วยในการผลัดเซลล์ผิวและช่วยลดการอักเสบ
    • ยารักษาสิวเฉพาะที่ อาจเป็นยาในรูปแบบของครีมหรือเจล เช่น ยาปฏิชีวนะ เรตินอยด์ (Retinoid) กรดซาลิไซลิก เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) โลชั่น เซรั่ม ที่มีคุณสมบัติช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียและช่วยผลัดเซลล์ผิว ซึ่งอาจช่วยให้สิวแห้งและยุบตัวลง
    • ยาฆ่าเชื้อชนิดรับประทาน เช่น ด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) อะม็อกซี่ซิลลิน (Amoxicillin) เพื่อลดการอักเสบของสิว

    การป้องกัน สิวไม่มีหัว

    การป้องกันการเกิดปัญหาสิวไม่มีหัวอาจทำได้ ดังนี้

    • ล้างหน้าเพื่อทำความสะอาดผิววันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะเมื่อมีเหงื่อออกมากหรือในผู้ที่มีผิวมันมาก เพื่อขจัดสิ่งสกปรกและเชื้อโรคที่อาจอุดตันรูขุมขนจนก่อให้เกิดสิวไม่มีหัว
    • หลีกเลี่ยงการขัดผิวหน้า เพราะอาจทำให้ผิวบอบบางจนส่งผลให้เกิดปัญหาสิวรุนแรง
    • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่ไม่ก่อให้เกิดสิว โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากน้ำหอม น้ำมัน และแอลกอฮอล์ที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้หรืออุดตันของรูขุมขน
    • ทำความสะอาดของใช้ส่วนตัวที่สัมผัสกับใบหน้าอยู่เสมอ เช่น ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว เพราะในของใช้เหล่านี้อาจเป็นแหล่งสะสมของเซลล์ผิวที่ตายแล้วและเชื้อแบคทีเรีย ที่อาจก่อให้เกิดสิวไม่มีหัวได้
    • หากสิวไม่มีหัวยังคงเกิดขึ้นเป็นประจำหรือรุนแรงขึ้น ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาเพิ่มเติม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา