backup og meta

หน้าเป็นผด เกิดจากอะไร ป้องกันได้หรือไม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/07/2022

    หน้าเป็นผด เกิดจากอะไร ป้องกันได้หรือไม่

    หน้าเป็นผด หรือการพบตุ่มผิวหนังขนาดเล็กบนใบหน้า เป็นปัญหาสุขภาพผิวหนังที่เกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อ ซึ่งส่งผลให้เหงื่อไม่ถูกระบายออกจากร่างกาย โดยเฉพาะในช่วงอากาศร้อน อย่างไรก็ตาม หน้าเป็นผดไม่ก่อให้เกิดอันตราย และมักหายเองได้เมื่ออากาศเย็นลง หน้าเป็นผดอาจป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญกับแสงแดด หรืออยู่ในที่อากาศร้อนอบอ้าวไม่ถ่ายเท นอกจากนี้ ภาวะโอเวอร์ฮีท (Overheat) หรือการอยู่ในสภาพที่อุณหภูมิสูงเกินไป อาจทำให้เหงื่อออกมาก ร่างกายเสียน้ำจนมีอาการปวดหัว คลื่นไส้ มีไข้

    หน้าเป็นผด เกิดจากสาเหตุใด

    เม็ดผดบนใบหน้า เกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อใต้ผิวหนัง ส่งผลให้เหงื่อไม่สามารถขับออกจากใบหน้า และเกิดเป็นเม็ดผดขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดเม็ดผดมีหลายประการ ดังนี้

  • อากาศร้อน อบอ้าว จนทำให้ร่างกายมีเหงื่อออกมาก
  • การสวมใส่เสื้อผ้าที่หนาเกินไป หรือการห่มผ้าเป็นเวลานาน ในช่วงที่มีอากาศร้อน
  • ต่อมเหงื่อที่ยังเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะในกรณีของทารก ซึ่งทำให้เหงื่ออุดตันได้ง่ายจนเกิดผดขึ้นหน้าหรือเกิดผดร้อน ตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังคลอด
  • อยู่ใกล้แหล่งความร้อนมากเกินไป เช่น โคมไฟ เตาทำความร้อน
  • เผชิญหน้ากับแสงแดดโดยตรง หรืออยู่กลางแจ้งนานเกินไป โดยไม่ทาครีมกันแดดหรือสวมใส่อุปกรณ์กันแดด
  • หน้าเป็นผด มีอาการอย่างไร

    โดยทั่วไป ผดจะเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีผิวเดียวกับผิวหนังหรือสีออกแดงเรื่อ ๆ อาจเกิดขึ้นพร้อมกันจำนวนมากบนใบหน้าบริเวณหน้าผาก โหนกแก้ม หรือคาง หรือตามส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น คอ หัวไหล่ หน้าอก รักแร้ ข้อศอก ขาหนีบ

    นอกจากนี้ ลักษณะของผดที่ขึ้นบนใบหน้าสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท โดยมักพบในทารก และมีชื่อเรียกรวมถึงลักษณะที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

    • ผดชนิดตุ่มน้ำใส (Miliaria Crystallina) เป็นผดในระดับไม่รุนแรง เม็ดผดจะมีของเหลวอยู่ข้างใน ไม่มีอาการอักเสบ แต่เม็ดผดอาจแตกง่ายหากใช้มือลูบหรือเกา
    • ผดชนิดตุ่มแดง หรือ ผดร้อน (Miliaria Rubra) เกิดจากปริมาณเหงื่อที่มีจำนวนมากเกินไปแล้วไม่ถูกขับออกจากร่างกาย ไหลเข้าสู่ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า ทำให้ผิวหนังอักเสบจนเกิดเป็นตุ่มสีแดง และมีอาการคันร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ผดชนิดตุ่มแดงมักยุบตัวและหายได้ภายในวันเดียว หรือเมื่ออุณหภูมิรอบ ๆ ตัวเย็นลง
    • ผดร้อนอักเสบ (Miliaria Pustulosa) หมายถึงผดผื่นชนิดตุ่มแดงหรือผดร้อนเกิดการอักเสบ อาจเกิดการติดเชื้อชนิดไม่รุนแรง ทำให้มีอาการกลัดหนองร่วมด้วย
    • ผดร้อนเรื้อรัง (Miliaria Profunda) เกิดขึ้นเมื่อเหงื่อไม่ถูกขับออกจากร่างกายแล้วไหลเข้าไปยังผิวหนังชั้นหนังแท้ทำให้เกิดการอุดตันในชั้นหนังแท้ จนเกิดเป็นตุ่มนูนสีเดียวกับผิวหนัง อย่างไรก็ตาม ผดร้อนเรื้อรังอาจเจอได้น้อยมาก และเมื่อหน้าเป็นผดร้อนเรื้อรังอาจมีอาการคลื่นไส้หรือเวียนศีรษะร่วมด้วย

    หากหน้าเป็นผด หรือเกิดผดขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่ควรเป็นกังวลจนเกินไป เพราะผดไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวหนัง อาจรอภายใน 1-2 วัน ผดจะค่อย ๆ ยุบตัวลง

    อย่างไรก็ตาม หากเม็ดผดอักเสบจนเกิดกลัดหนอง หรือมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองบวม ควรไปพบคุณหมอ เพื่อตรวจหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาอย่างตรงจุด

    หน้าเป็นผดรักษาอย่างไร

    เมื่อหน้าเป็นผด คุณหมอจะตรวจเบื้องต้นด้วยตาเปล่า และอาจซักประวัติโรคประจำตัวหรืออาการแพ้ต่าง ๆ ก่อนเลือกรักษาด้วยการให้ทายาใช้ภายนอก ดังนี้

    • คาลาไมน์ (Calamine) มีสรรพคุณลดอาการคันบริเวณที่ผดขึ้น ผู้ที่หน้าเป็นผดควรทาวันละ 3-4 ครั้งต่อเนื่องจนกว่าเม็ดผดจะค่อย ๆ ยุบลงและหายไป
    • ครีมสเตียรอยด์ (Steroid) ใช้ทาเพื่อลดอาการอักเสบของผิวหนัง โดยปกติมักใช้ในกรณีผิวหนังอักเสบรุนแรง

    หน้าเป็นผด ป้องกันอย่างไร

    เพื่อป้องกันหน้าเป็นผด อาจดูแลตัวเองง่าย ๆ ได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • หลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดดโดยตรง หรือพยายามอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศเย็นหรือมีลมพัดถ่ายเท
    • ในกรณีที่จำเป็นต้องอยู่กลางแจ้ง และไม่สามารถหลบเข้าไปอยู่ในที่เย็นหรือมีร่มเงา อาจใช้พัดหรือพัดลมพกพาเพื่อบรรเทาความร้อน
    • เลือกอาบน้ำเย็นและใช้สบู่สูตรอ่อนโยนไร้สารเคมีที่ไม่ทำให้ผิวแห้ง แล้วซับหน้าเบา ๆ ด้วยผ้าเนื้อนุ่ม ไม่ควรเช็ดหน้าแรง ๆ เพื่อให้ผิวกักเก็บความชุ่มชื้นมากที่สุด
    • หลีกเลี่ยงการใช้ขี้ผึ้งหรือครีมที่มีส่วนผสมของปิโตรเลียมหรือน้ำมัน เพื่อลดการอุดตันของรุขุมขน และลดโอกาสที่เหงื่อจะไม่ถูกระบายออกทางผิวหนัง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา