backup og meta

หมัดแมว อาการแพ้ในคนและวิธีรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/05/2023

    หมัดแมว อาการแพ้ในคนและวิธีรักษา

    หมัดแมว เป็นปรสิตที่อาศัยอยู่บนผิวหนังของแมว กินเลือดของแมวและคนเป็นอาหาร อาจเป็นอันตรายต่อทั้งแมวและคนเลี้ยงหรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดได้ นอกจากแมวแล้ว สัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ๆ เช่น สุนัข ก็สามารถมีหมัดได้เช่นกัน หากคนโดนหมัดกัด อาจทำให้เกิดอาการแพ้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ จึงควรดูแลสุขอนามัยและสุขภาพของสัตว์เลี้ยงและรักษาความสะอาดภายในบ้านอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่ของหมัดแมว

    หากถูกหมัดกัดคุณหมอหรือเภสัชกรอาจแนะนำให้รักษาด้วยรับประทานยาแก้แพ้ การทายาสเตียรอยด์ เป็นต้น อาการแพ้หรืออาการคันจากการถูกหมัดแมวกัดมักหายได้เองในเวลาไม่กี่วัน อย่างไรก็ตาม หากรักษาเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการแพ้รุนแรง ควรรีบไปพบคุณหมอทันที

    หมัดแมว ลักษณะ เป็นอย่างไร

    หมัดแมว (Cat Flea หรือ Ctenocephalides) เป็นปรสิตขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ลำตัวแบน มีสีน้ำตาลแดงเข้ม ไม่มีปีก แต่มีขาที่แข็งแรงทำให้สามารถกระโดดได้ไกล และเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว เมื่อโตเต็มวัยจะมีความยาวตั้งแต่ 1-2 มิลลิเมตร อาศัยอยู่บนผิวหนังของแมว แต่ก็สามารถพบบนผิวหนังสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ๆ เช่น สุนัข ได้เช่นกัน หมัดดำรงชีพด้วยการดูดเลือดจากสัตว์ พบได้บ่อยในสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงแบบระบบเปิด

    แม้ว่าหมัดแมวจะไม่สามารถอาศัยอยู่บนผิวหนังของคนได้ แต่หมัดก็อาจกัดผิวหนังเพื่อดูดเลือดคน ซึ่งน้ำลายของหมัดแมวอาจทำให้เกิดอาการแพ้และระคายเคืองผิวได้ หากโดนหมัดแมวกัด ไม่ควรเกาบริเวณที่หมัดแมวกัด เนื่องจากอาจทำให้เป็นแผลเปิด ส่งผลให้แบคทีเรียเข้าสู่ผิวหนังและทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียด้วย นอกจากนี้ หมัดยังเป็นตัวนำโรคจากสัตว์สู่คนได้ เช่น โรคแมวข่วน (Cat scratch disease หรือ CSD) โรคไข้รากสาดใหญ่จากหมัด (Flea-borne typhus)

    หมัดแมวกัดคน อาการ เป็นอย่างไร

    อาการเมื่อหมัดแมวกัดคน อาจมีดังนี้

    • เกิดเป็นตุ่มแดงขนาดเล็กบริเวณผิวหนังที่ถูกหมัดแมวกัด อาจมี 3-4 ตุ่มในบริเวณใกล้เคียงกัน
    • เกิดแผลสะเก็ดขนาดเล็กที่มีขอบสีแดง
    • มีอาการคันรุนแรง
    • รู้สึกระคายเคืองและเจ็บบริเวณที่ถูกกัด
    • สำหรับผู้มีอาการแพ้ อาจเกิดเป็นลมพิษหรือผื่นขึ้นได้ โดยมักเกิดในเด็กเล็กและผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ

    หมัดแมว กำจัด ได้อย่างไร

    วิธีป้องกันและกำจัดหมัดแมวภายในบ้าน อาจมีดังนี้

    • หยอดยาป้องกันหมัดให้กับสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ หากสัตว์เลี้ยงมีหมัดแมวบนตัวแล้ว อาจกำจัดด้วยการใช้แชมพู สเปรย์ หรือยาหยอดที่ใช้กำจัดเห็บหมัดโดยเฉพาะ ควรเลือกใช้อย่างระมัดระวังเพื่อความปลอดภัยของสัตว์เลี้ยง
    • รักษาความสะอาดของสัตว์เลี้ยง และหมั่นสังเกตอาการความผิดปกติที่อาจเกิดจากหมัดแมว เช่น อาการคัน หากพบว่าสัตว์เลี้ยงมีหมัดแมว ควรพาไปรักษาทันที
    • หลีกเลี่ยงการบี้หมัดแมวด้วยมือ เพราะอาจทำให้มีเชื้อโรคติดที่นิ้วหรือซอกเล็บได้ หากต้องการนำหมัดออกจากผิวหนังสัตว์เลี้ยงด้วยตัวเอง ควรสวมถุงมือยางแล้วใช้แหนบหรือคีมสำหรับคีบหมัด และนำหมัดไปทิ้งในน้ำที่ผสมน้ำยาล้างจาน จากนั้นล้างมือให้สะอาดแล้วเช็ดมือให้แห้ง
    • ทำความสะอาดที่นอนสัตว์และสิ่งของโดยรอบอย่างทั่วถึงด้วยเครื่องดูดฝุ่น
    • ใช้สเปรย์ฉีดกำจัดแมลงภายในบ้าน โดยสวมถุงมือและชุดป้องกันแขนยาวตามคำแนะนำบนฉลากผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัด
    • ทำความสะอาดพื้นที่กลางแจ้งที่สัตว์เลี้ยงใช้ด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคเป็นประจำ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่หรือแหล่งฟักตัวของหมัดแมว
    • ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบริเวณบ้านทุก ๆ 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากหมัดแมวสามารถอยู่รอดได้หลายวัน

    หมัดแมว รักษายังไง

    วิธีบรรเทาอาการเมื่อโดนหมัดแมวกัด อาจมีดังนี้

    • ล้างบริเวณรอยกัดด้วยสบู่และน้ำอุ่นเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
    • รับประทานยาแก้แพ้ (Antihistamine) และยาสเตียรอยด์ เช่น ยาไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) เพื่อบรรเทาอาการแพ้และระคายเคืองผิวเมื่อถูกหมัดแมวกัด
    • ทายาต้านเชื้อแบคทีเรีย (anti-bacterials) บริเวณรอยกัดเพื่อบรรเทาอาการ
    • หลีกควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน เพราะอาจทำให้ยิ่งคัน
    • ประคบเย็นด้วยผ้าบางห่อน้ำแข็งเป็นเวลาประมาณ 10 นาที เพื่อลดอาการบวมและคัน

    เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    หากถูกหมัดแมวกัดแล้วมีอาการต่อไปนี้ แสดงว่าอาจมีอาการแพ้หมัดแมวอย่างรุนแรง ควรไปพบคุณหมอโดยทันที

    • หายใจลำบาก
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • ใบหน้าหรือริมฝีปากบวม
    • ปวดบริเวณที่ถูกกัดอย่างรุนแรง หรือมีผื่นแดงลุกลามจำนวนมาก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา