backup og meta

อาการคันตามตัว เกิดจากอะไร ควรดูแลตัวเองอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/07/2022

    อาการคันตามตัว เกิดจากอะไร ควรดูแลตัวเองอย่างไร

    อาการคันตามตัว เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้จากผิวที่เสื่อมสภาพตามอายุ สภาพอากาศที่ร้อนหรือแห้งเกินไป นอกจากนี้ โรคผิวหนัง โรคทางระบบประสาท โรคทางจิตเวช โรคของระบบร่างกาย การระคายเคืองและอาการแพ้ ยังอาจส่งผลกระทบต่อการเสื่อมสภาพของโครงสร้างและโปรตีนในชั้นผิว อาจทำให้ผิวขาดน้ำ ผิวแห้ง รวมถึงอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติจนติดเชื้อง่ายขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการคันตามตัว

    ประเภทของอาการคันตามตัว

    อาการคันตามตัวอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

    1. อาการคันเฉียบพลัน เป็นอาการที่เกิดขึ้นในระยะเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์
    2. อาการคันเรื้อรัง เป็นอาการที่เกิดขึ้นมานานเกิน 1 สัปดาห์ หรืออาจเกิดขึ้นนานหลายเดือน

    อาการคันตามตัว เกิดจากอะไร

    อาการคันตามตัวเป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

    • การเสื่อมสภาพของผิวหนัง

    การเสื่อมสภาพของผิวหนังตามอายุอาจเป็นสาเหตุของอาการคันตามตัว เนื่องจากคอลลาเจน อีลาสติน (Elastin) หรือเคราติน (Keratin) ซึ่งเป็นโครงสร้างและโปรตีนของชั้นผิวหนังอาจเสื่อมสภาพและลดลงตามอายุ จนอาจทำให้ผิวขาดน้ำ แห้ง แตกและมีอาการคันตามตัวได้ นอกจากนี้ สภาพอากาศที่แห้งอาจส่งผลต่อการสูญเสียน้ำในชั้นผิวที่มากขึ้น และอาจทำให้ผิวแห้งและเกิดอาการคันได้

    • โรคทางผิวหนัง

    โรคผิวหนังบางชนิด เช่น โรคผิวหนังอักเสบ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคลมพิษ โรคสะเก็ดเงิน โรคหิด แมลงกัดต่อย การติดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสที่ผิวหนัง ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคันตามตัว เนื่องจากโรคผิวหนังเหล่านี้อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพผิว อาจทำลายโครงสร้างและโปรตีนในชั้นผิวหนัง ทำให้ผิวแห้งและขาดน้ำ รวมถึงอาจทำลายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจนทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ส่งผลให้เกิดอาการคันตามตัว

    • โรคทางระบบต่าง ๆ ของร่างกาย

    โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบการทำงานของร่างกายบางชนิด เช่น โรคดีซ่าน โรคตับ โรคไตวายเรื้อรัง โรคโลหิตจาง โรคเบาหวาน ปัญหาต่อมไทรอยด์ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคมะเร็งเม็ดเลือด อาจส่งผลต่อการทำงานที่ผิดปกติของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น อาจทำให้ปลายประสาทอักเสบ ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำในปริมาณมากจนผิวแห้ง แตกและตกสะเก็ด การไหลเวียนของเลือดในร่างกายที่ผิดปกติหรือการติดเชื้อ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้โรคทางระบบของร่างกายแสดงอาการคันตามตัวออกมาได้เช่นกัน

  • โรคทางระบบประสาท

  • โรคทางระบบประสาทบางชนิด เช่น โรคงูสวัด โรคปลอกประสาทอักเสบ (Multiple Sclerosis) เส้นประสาทถูกกด (Pinched Nerve) อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบประสาท ทำให้ปลายประสาทอักเสบและส่งผลทำให้การส่งสัญญาณของสารสื่อประสาทและการทำงานอื่น ๆ ผิดปกติ ผู้ป่วยจึงอาจมีอาการเสียวซ่า ปวดแสบปวดร้อน อาการคันตามตัว วิงเวียนศีรษะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง การนอนผิดปกติ เป็นต้น

    • โรคที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต

    โรคที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตบางชนิด เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ ภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการวิตกกังวล ความเครียดและระแวง จนรู้สึกคัน คิดไปเองว่ามีอาการคันตามตัว หรืออาจรู้สึกอยากเกาผิวหนังเพื่อให้รู้สึกดีและผ่อนคลายจิตใจโดยไม่รู้ตัว

    • การระคายเคืองและอาการแพ้

    การระคายเคืองของผิวหนังอาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น เสื้อผ้าขนสัตว์ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ผื่นแดง อาการคันตามตัว นอกจากนี้ การรับประทานอาหาร เช่น ถั่ว แป้ง ข้าว หรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวด ยาปฏิชีวนะ ยารักษาความดันโลหิตสูง ยาขับปัสสาวะ ยาเสริมเอสโตรเจน ยารักษาคอเลสเตอรอลสูง ก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้ ผิวแห้งและมีอาการคันตามตัว

    การดูแลตัวเองเมื่อมีอาการคันตามตัว

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันและบรรเทาอาการคันตามตัว อาจทำได้ดังนี้

    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารระคายเคืองและสิ่งกระตุ้นอาการแพ้ เช่น ถั่ว แป้ง ข้าว ปลา ยาบางชนิด เสื้อผ้าขนสัตว์ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีความร้อนสูงหรืออากาศแห้ง เพราะอาจทำให้ผิวสูญเสียน้ำและผิวแห้งจนเกิดอาการคันได้
    • ดื่มน้ำ เพื่อให้ผิวได้รับน้ำอย่างเพียงพอและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว จึงควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2.5 ลิตร
    • เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว ควรอาบน้ำไม่เกินครั้งละ 5-10 นาที เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำมันบนผิวที่มากจนเกินไป และหลังอาบน้ำให้ทามอยเจอร์ไรเซอร์หรือครีมบำรุงผิวเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นทันทีในขณะที่ผิวหมาด เพื่อช่วยเพิ่มและกักก็บความชุ่มชื้นในผิว
    • หลีกเลี่ยงการเกาผิวและตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ เพราะการเกาอาจทำให้ผิวบาดเจ็บและติดเชื้อ จนอาจกลายเป็นโรคผิวหนังร้ายแรง
    • จัดการกับความเครียดและความวิตกกังวล ด้วยการหากิจกรรมที่ผ่อนคลายจิตใจ เช่น การทำสมาธิ เล่นโยคะ พูดคุยกับเพื่อนและครอบครัว ออกกำลังกาย ฟังเพลง เต้น เนื่องจากสุขภาพจิตที่แย่อย่างต่อเนื่องและเป็นระยะเวลานานอาจมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นโรคทางจิตเวช ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหวาดระแวงหรือคิดไปเองจนทำให้มีอาการคันตามตัวเกิดขึ้น
    • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับอาจช่วยผ่อนคลายสภาพจิตใจและร่างกาย รวมถึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการคันตามตัว
    • เข้ารับการรักษาทันทีเมื่อมีความผิดปกติทางผิวหนัง เพื่อช่วยป้องกันการลุกลามของอาการและบรรเทาอาการให้เบาลง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา