backup og meta

เป็นฝี เกิดจากอะไร และรักษาได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 29/09/2022

    เป็นฝี เกิดจากอะไร และรักษาได้อย่างไร

    ฝี คือ ตุ่มนูนใต้ผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยสามารถปรากฏเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย ทั้งภายนอกและภายใน เช่น ใบหน้า ขาหนีบ รักแร้ ก้น หลัง หน้าอก คอ สมอง ไขสันหลัง ช่องท้อง และเหงือก หาก เป็นฝี หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น ฝีมีขนาดใหญ่เกินไป มีไข้สูง ควรเข้าพบคุณหมอ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาทันที ก่อนเกิดการแพร่กระจายของเชื้อ ที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะต่อมน้ำเหลืองบวม เนื้อเยื่อบริเวณที่เป็นฝีตาย การติดเชื้อที่กระดูก และเยื่อบุหัวใจอักเสบ

    สาเหตุที่ทำให้เป็นฝี

    สาเหตุที่ทำให้เป็นฝี เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) หรือเชื้อสเตรปโตค็อกคัส ไพโอจีนัส (Streptococcus pyogenes) เมื่อแบคทีเรียเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะต่อสู้กับแบคทีเรีย ซึ่งอาจส่งผลให้เนื้อเยื่อบางส่วนตาย และมีหนองสะสมจนกลายเป็นฝี อีกทั้งหากดูแลสุขอนามัยไม่ดีก็อาจทำให้เซลล์ผิวเก่าและสิ่งสกปรกเข้าไปอุดตันในรูขุมขน และทำให้ฝีอักเสบ เพิ่มขยายใหญ่ขึ้น และอาจส่งผลให้มีอาการปวดมากขึ้นได้

    นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มโอกาสทำให้เป็นฝี เช่น โรคเบาหวาน โรคผิวหนังเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคอ้วน โรคพิษสุราเรื้อรัง การทำเคมีบำบัด การใช้ยาสเตียรอยด์ การใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้อาจลดประสิทธิภาพในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายขึ้น

    อาการเมื่อเป็นฝี

    อาการเมื่อเป็นฝี มีดังนี้

    • ตุ่มฝีนูนแดง บางคนอาจมีหนองสีขาวบริเวณหัวฝีที่เห็นได้ชัด
    • ตุ่มฝีอาจมีอาการอักเสบและอาการบวม
    • รู้สึกปวดบริเวณตุ่มฝี
    • มีหนองไหลออกจากตุ่มฝี
    • มีไข้
    • หนาวสั่น

    ควรพบคุณหมอทันทีหากฝีเป็นฝีขนาดใหญ่กว่า 1 เซนติเมตร มีไข้สูง 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป มีอาการเจ็บปวดรุนแรง รวมถึงหากเป็นฝีบริเวณใกล้ขาหนีบ ทวารหนัก และอวัยวะเพศ

    วิธีรักษาเมื่อเป็นฝี

    วิธีรักษาเมื่อเป็นฝี อาจทำได้ดังนี้

    เป็นฝีที่ผิวหนัง

    • ประคบร้อน หากเป็นฝีที่ผิวหนังขนาดเล็ก อาจรักษาได้ด้วยการประคบด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น ครั้งละ 10 นาที วันละหลาย ๆ ครั้ง เพื่อช่วยลดอาการบวม ลดขนาดของฝี และอาจช่วยทำให้หนองระบายออกได้เอง
    • ยาปฏิชีวนะ คุณหมออาจให้รับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น คลินดาไมซิน (Clindamycin) ไดคลอกซาซิลลิน (Dicloxacillin) เซฟาเลกซิน (Cephalexin) และ ซัลฟาเมทอกซาโซล ไตรเมโทพริม(Sulfamethoxazole Trimethoprim)  เพื่อช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฝี และช่วยบรรเทาอาการของฝี
    • ผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ที่มีฝีขนาดใหญ่และรู้สึกไม่สบายตัวหรือมีอาการปวดบริเวณฝีอย่างรุนแรง โดยคุณหมออาจทำการกรีดฝีเพื่อระบายหนองออก และทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือ ก่อนจะใช้ผ้าพันแผลปิดแผลเอาไว้ การผ่าตัดอาจเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็น การอักเสบ และการติดเชื้อ ดังนั้น จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแลตัวเองหลังผ่าตัด เช่น หมั่นล้างแผล รับประทานยา และสังเกตอาการผิดปกติ หากมีไข้หรือแผลมีอาการบวมแดง ควรเข้าพบคุณหมอทันที

    เป็นฝีภายใน

    สำหรับผู้ที่เป็นฝีภายในอวัยวะส่วนต่าง ๆ เช่น ไขสันหลัง สมอง ช่องท้อง คุณหมออาจรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หรืออาจใช้วิธีการเจาะฝีเพื่อระบายหนองออกให้หมด เพื่อช่วยลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำและการแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ

    วิธีป้องกันตัวเองหากไม่อยากเป็นฝี

    วิธีป้องกันตัวเองหากไม่อยากเป็นฝี อาจทำได้ดังนี้

  • ล้างมือด้วยสบู่บ่อย ๆ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • ไม่ควรใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าขนหนู ผ้าห่ม มีดโกนขน
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจทำให้ผิวระคายเคือง เช่น โกนขน แว๊กซ์ขน เกาหรือขัดผิวอย่างรุนแรง เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
  • ทำความสะอาดผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ผ้าขนหนู ปลอกหมอน และเสื้อผ้า ด้วยน้ำอุ่นและควรตากแดดให้แห้งสนิท เพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นการรับประทานผักและผลไม้ และควรออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 นาที เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในบุหรี่อาจลดประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 29/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา