backup og meta

เป็น ลมพิษ ขาดวิตามิน อะไร และควรดูแลตัวเองอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    เป็น ลมพิษ ขาดวิตามิน อะไร และควรดูแลตัวเองอย่างไร

    ลมพิษ เป็นภาวะผื่นผิวหนังอักเสบที่ทำให้เกิดรอยปื้นแดง บวม หรือคันเป็นหย่อม ๆ บนผิวหนัง ลมพิษเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ ยารักษาโรค ความร้อน ความเครียด หรือสาเหตุที่หลายคนอาจยังไม่รู้ นั่นคือ การขาดวิตามินบางชนิด หลายคนอาจมีคำถามว่า เป็น ลมพิษ ขาดวิตามิน อะไร คำตอบ คือ การขาดวิตามินดีอาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดลมพิษได้ จึงควรรับประทานอาหารให้หลากหลาย เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินดี เช่น ไข่แดง นม เห็ด ปลาแซลมอน เนื้อแดง และควรสัมผัสแสงแดดในช่วงเช้าอย่างน้อยวันละ 15 นาทีเพื่อให้ได้รับวิตามินดีจากแสงแดด

    ลมพิษ คืออะไร

    ลมพิษ (Urticaria หรือ Hives) เป็นภาวะอักเสบทางผิวหนังที่เกิดจากร่างกายหลั่งสารฮีสตามีน (Histamine) และสารเคมีอื่น ๆ ออกมาที่บริเวณผิวหนังเพื่อตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ เช่น อากาศร้อน ความเย็น อาหารทะเล ยาบางชนิด ขนสัตว์ ทำให้หลอดเลือดบริเวณนั้นเปิดออกจนเกิดเป็นรอยปื้นแดงเป็นหย่อม ๆ และอาจของเหลวรั่วไหลออกมาทำให้เกิดอาการบวมและคันตามผิวหนังบริเวณใบหน้า คอ ลำตัว แขน มือ เท้า ขา อวัยวะเพศ

    โดยทั่วไป ลมพิษมี 2 ประเภท ได้แก่ ลมพิษแบบเฉียบพลันที่สามารถหายไปได้เองเมื่อหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ และ ลมพิษแบบเรื้อรังที่ทำให้มีอาการทางผิวหนังอย่างน้อย 2-3 วัน/สัปดาห์ เป็นเวลา 6 สัปดาห์ขึ้นไป และอาการอาจกำเริบได้บ่อย ๆ

    อาการของลมพิษ

    อาการของลมพิษ มีดังนี้

    • มีผื่นคันหรือรอยปื้นนูนแดง สีม่วง หรือสีเดียวกับผิวหนัง ไม่มีขุย
    • รอยผื่นมีหลายขนาด หลายรูปร่าง และอาจเกิดขึ้นแล้วจางหายไปซ้ำ ๆ
    • คันบริเวณที่เป็นผื่น บางครั้งอาการอาจรุนแรง
    • ดวงตา แก้ม หรือริมฝีปากบวม
    • อาการอาจกำเริบเมื่ออากาศร้อน หลังออกกำลังกาย หรือเครียดจัด

    เป็น ลมพิษ ขาดวิตามิน อะไร

    ลมพิษเกิดได้จากหลายสาเหตุดังที่กล่าวไปข้างต้น โดยสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดลมพิษ คือ การขาดวิตามินดี (Vitamin D deficiency) เนื่องจากวิตามินดีทำหน้าที่ยับยั้งไม่ให้แมสต์เซลล์ (Mastocyte) ปล่อยสารฮีสตามีนซึ่งเป็นสารที่หลั่งออกมาเมื่อเกิดปฏิกิริยาอักเสบกับเมื่อมีสารก่อภูมิแพ้มาสัมผัสกับผิวหนัง และจะกระตุ้นให้เกิดลมพิษบนผิวหนัง หากร่างกายมีปริมาณวิตามินดีน้อยเกินไป อาจทำให้เกิดลมพิษชนิดเรื้อรัง (Chronic hives) ที่มักเป็น ๆ หาย ๆ นานเป็นเดือนหรือเป็นปี

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Iranian Journal of Allergy, Asthma and Immunology เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 ศึกษาเกี่ยวกับการขาดวิตามินดีในผู้ที่เป็นลมพิษเรื้อรังชนิดไม่ทราบสาเหตุ โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคลมพิษเรื้อรังจำนวน 114 คน และผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง 187 คนที่มีอายุเท่ากันและเพศเดียวกัน พบว่า ผู้ป่วยลมพิษเรื้อรังชนิดไม่ทราบสาเหตุมีระดับวิตามินดีต่ำกว่ากลุ่มที่มีสุขภาพดีอย่างมีนัยสำคัญ และการขาดวิตามินดีอาจเพิ่มความไวต่อการเกิดโรคลมพิษรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ

    เป็นลมพิษควรดูแลตัวเองอย่างไร

    วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นลมพิษอาจมีดังนี้

    • ใช้ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines) ที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปเพื่อบรรเทาอาการแพ้ คัน บวมบนผิวหนัง แต่หากไม่ได้ผล คุณหมออาจสั่งยาต้านฮีสตามีนอื่น ๆ เช่น เซทิริซีน (Cetirizine) เดสลอราทาดีน (Desloratadine) เฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine)
    • รับประทานอาหารที่มีฮีสตามีนต่ำ เพื่อลดการเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ เช่น เนื้อสัตว์สดใหม่ ผลไม้สด ธัญพืชเต็มเมล็ด ไข่ น้ำผึ้ง ปลาและหอยสด
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีฮีสตามีนสูง เช่น เนื้อสัตว์แปรรูปอย่างไส้กรอก แฮม อาหารหมักดองอย่างกะหล่ำปลีดอง แตงกวาดอง โยเกิร์ต กิมจิ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเบียร์ ไวน์แดง ไวน์ขาว ซอสหมักอย่างซอสมะเขือเทศ มายองเนส น้ำพริกตาแดง เต้าเจี้ยว
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ อาจช่วยบรรเทาอาการลมพิษและป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก
    • สวมเสื้อผ้าโปร่งสบาย ไม่รัดแน่นเกินไป และระบายอากาศได้ดี
    • อาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีที่สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ขนสัตว์
    • หลีกเลี่ยงการแกะเกาผิวหนัง เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงและลุกลามไปบริเวณอื่นได้
    • ประคบเย็นด้วยผ้าชุบน้ำเย็นบิดหมาดประมาณ 2-3 นาที เพื่อบรรเทาอาการบวม คันผิวหนัง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา