backup og meta

แผลผ่าตัด ควรดูแลอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 28/11/2022

    แผลผ่าตัด ควรดูแลอย่างไร

    แผลผ่าตัด เป็นแผลที่เกิดจากการกรีดผิวหนัง หรืออวัยวะส่วนอื่น ๆ เช่น อวัยวะในช่องท้อง โดยใช้มีดผ่าตัด แสงเลเซอร์ เป็นต้น เพื่อรักษาสภาวะสุขภาพ เช่น อุบัติเหตุ ผ่าตัดไส้ติ่งผ่าตัดทำคลอด ศัลยกรรม โดยขนาดแผลผ่าตัดขึ้นอยู่กับชนิดของการผ่าตัดและบริเวณที่ได้รับการผ่าตัด หลังเข้ารับการผ่าตัดควรดูแลแผลผ่าตัดอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้แผลติดเชื้อได้ 

    แผลผ่าตัดคืออะไร

    แผลผ่าตัด คือ แผลที่เกิดจากการเปิดผิวหนังโดยใช้เครื่องมือผ่าตัด เช่น มีดผ่าตัด แสงเลเซอร์ กรีดเข้าไปที่ชั้นผิวหนัง เพื่อรักษาสภาวะสุขภาพหรืออุบัติเหตุที่ผิวหนัง หรืออวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย แผลผ่าตัดมีขนาดแตกต่างกันตามประเภทชนิดของการผ่าตัด รวมไปถึงตำแหน่งของการผ่าตัด โดยปกติแล้ว หลังผ่าตัดเสร็จ คุณหมอจะเย็บปิดแผลด้วยไหม หรือบางครั้งอาจเปิดแผลไว้

    ประเภทของแผลผ่าตัด 

    ประเภทของแผลผ่าตัดอาจแบ่งออกตามลักษณะแผลได้ดังนี้ 

    • แผลผ่าตัดสะอาด เป็นแผลสะอาดที่ไม่เสี่ยงต่อการอักเสบหรือการติดเชื้อ เช่น แผลผ่าตัดที่ผิวหนัง แผลผ่าตัดที่บริเวณรอบดวงตา
    • แผลผ่าตัดสะอาดปนเปื้อน เป็นแผลที่อาจมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อได้ แม้บาดแผลอาจไม่แสดงอาการติดเชื้อ เช่น แผลผ่าตัดในระบบทางเดินอาหาร
    • แผลผ่าตัดปนเปื้อน เป็นแผลที่เกิดจากอุบัติเหตุที่อาจส่งผลให้บริเวณผิวหนังรอบ ๆ บาดแผลเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรคได้ง่าย 
    • แผลผ่าตัดสกปรก เป็นแผลที่อาจเสี่ยงอักเสบหรือติดเชื้อได้มากที่สุด เนื่องจากบาดแผลอาจสัมผัสกับสิ่งปนเปื้อนโดยตรง 

    วิธีดูแลแผลผ่าตัด  

    วิธีดูแลแผลผ่าตัดดังต่อไปนี้ อาจช่วยป้องกันแผลติดเชื้อได้ 

    • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ จากนั้นเช็ดมือให้แห้งสนิท ก่อนล้างแผล
    • เตรียมอุปกรณ์ล้างแผล และต้องแน่ใจว่าอุปกรณ์ทุกชิ้นผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้ว 
    • สวมถุงมือยางทางการแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้มือไปสัมผัสกับแผลโดยตรง 
    • แกะเทปที่ปิดแผลออกอย่างระมัดระวัง 
    • ค่อย ๆ ใช้น้ำเกลือเช็ดบริเวณรอบ ๆ แผลผ่าตัด ทั้งนี้ ไม่ควรใช้แอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำลายโปรตีนในเนื้อเยื่อ อาจทำให้เกิดการระคายเคืองและแผลหายช้าได้ นอกจากนี้ ไม่ควรทาครีมหรือโลชั่นรอบแผลผ่าตัด ยกเว้นได้รับคำแนะนำจากคุณหมอ 
    • ใช้ผ้าก๊อซซับบริเวณแผลผ่าตัดให้แห้ง และปิดแผลผ่าตัดให้เรียบร้อย

    นอกจากนี้ หลังผ่าตัดควรหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวร่างกายที่ส่งผลต่อบริเวณบาดแผล เช่น การยกของหนัก การออกกำลังกาย รวมถึงการแช่น้ำ ประมาณ 1 เดือน และไม่ควรให้แผลโดนน้ำอย่างน้อย 24 ชั่วโมงหรืองดอาบน้ำ 1 วันหลังผ่าตัด รวมถึงควรงดการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย การดูแลแผลอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำข้างต้นอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อและลดรอยแผลเป็นเมื่อแผลผ่าตัดสมาน รวมถึงแผลเปิดหรือปริออก 

    ควรไปพบคุณหมอเมื่อไหร่ 

    หากมีอาการดังต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณว่าแผลผ่าตัดติดเชื้อ ซึ่งควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็วที่สุด 

    • มีไข้ขึ้นสูง 38 องศาเซลเซียส
    • เจ็บหรือปวดแผลมากกว่าเดิม 
    • แผลบวมแดงผิดปกติ 
    • แผลแห้ง ไม่ชุ่มชื้น และเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ 
    • แผลกว้างและลึกขึ้น ลักษณะเหมือนแผลฉีก 
    • แผลมีหนองสีเขียวหรือสีเหลืองไหลออกมา รวมถึงอาจมีเลือดออก
    • แผลมีกลิ่นเหม็น

    อย่างไรก็ตาม ควรไปพบคุณหมอตามนัดติดตามอาการ เพื่อให้คุณหมอพิจารณาดูแผลหลังผ่าตัดว่ามีอาการผิดปกติใด ๆ หรือไม่ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาแผลติดเชื้อและแผลปริ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 28/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา