backup og meta

แพ้ แอลกอฮอล์ เกิดจากอะไร และรักษาได้อย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/05/2023

    แพ้ แอลกอฮอล์ เกิดจากอะไร และรักษาได้อย่างไร

    แพ้ แอลกอฮอล์ เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันเข้าต่อต้านสารพิษในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหมือนกับการต้านเชื้อโรค จนทำให้เกิดอาการทางผิวหนัง เช่น หน้าแดง ผิวแดง คัน ผื่นลมพิษ หรือหากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไป อาจมีอาการทางผิวหนังอื่น ๆ ร่วมด้วย  เช่น โรคผิวหนังอักเสบโรซาเซีย (Rosacea) เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ ขอบตาดำ ผิวไวต่อแสง ซึ่งบางคนอาจมีอาการที่รุนแรง จึงควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาทันที

    แพ้ แอลกอฮอล์ เกิดจากอะไร

    แพ้แอลกอฮอล์ คือ ความผิดปกติที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ทำปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์เหมือนกับเป็นเชื้อโรค โดยร่างกายจะสร้างแอนติบอดีเพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในการต่อต้านแอลกอฮอล์จนทำให้เกิดอาการแพ้ ซึ่งการแพ้แอลกอฮอล์อาจมีสาเหตุมาจากร่างกายไม่มีเอนไซม์ที่เหมาะสมในการย่อยสารพิษจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอาจเป็นเพราะลักษณะทางพันธุกรรม หรือส่วนผสมบางอย่างในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ เช่น ธัญพืช ข้าว องุ่น ยีสต์ สารกันบูด ซัลไฟต์ (Sulfites) ฮีสตามีน (Histamine) ที่ได้จากการหมักหรือกลั่น จนอาจทำให้เกิดอาการแพ้

    แพ้แอลกอฮอล์ อาการ เป็นอย่างไร

    อาการทางผิวหนังต่อไปนี้อาจเกิดขึ้นเมื่อแพ้แอลกอฮอล์ หรือมีอาการทางผิวหนังบางอย่างเกิดขึ้นร่วมด้วย หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นระยะเวลานาน

    • ผื่นแดง คันที่ผิวหนัง ผื่นลมพิษ เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นทั่วร่างกายหรือเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะของอาการแพ้ที่ระบบภูมิคุ้มกันสร้างแอนติบอดีเพื่อต้านสิ่งแปลกปลอม โดยอาการลมพิษอาจเกิดขึ้นเพียงไม่กี่นาที หรืออาจใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน จึงจะหายเป็นปกติ
    • ผิวหน้าแดง หรือโรคผิวหนังอักเสบโรซาเซีย ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วมีอาการหน้าแดงก่ำหรือมีเส้นเลือดสีแดงเกิดขึ้นชัดเจนหลังดื่ม โดยเฉพาะบริเวณแก้ม จมูก คางและหน้าผาก นั่นอาจหมายถึงการกำเริบของอาการโรคผิวหนังอักเสบโรซาเซีย
    • แก้มเป็นสีแดงหรือชมพู อาจมีสาเหตุมาจากลักษณะทางพันธุกรรมของบางคน ที่เมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก้มจะมีสีแดงหรือชมพูเกิดขึ้น หรืออาจเป็นเพราะเอนไซม์แอลดีไฮด์ ดีไฮโดรจีเนส  (Aldehyde dehydrogenase หรือ ALDH2) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีหน้าที่ย่อยสลายสารพิษในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำงานผิดปกติ จนทำให้สารพิษยังคงค้างอยู่ในเซลล์ผิวหนัง ส่งผลให้ผิวมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนมีอาการแก้มแดงหรือชมพู
    • ขอบตาดำ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจรบกวนการนอนหลับ ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีอาการกระสับกระส่าย ตื่นกลางดึกบ่อยและนอนหลับไม่เพียงพอ จนอาจทำให้ขอบตาดำได้
    • เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักอาจมีโอกาสเกิดปัญหาเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบได้ ซึ่งอาจทำให้ผิวหนังมีอุณหภูมิสูงขึ้น ผิวมีอาการบวม แดงและเจ็บปวด
    • ผิวไวต่อแสงแดด การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อผิวหนัง อาจทำใหผิวแห้ง อ่อนแอ ขาดความยืดหยุ่นและไวต่อแสง เนื่องจากสารพิษตกค้างจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจทำลายเซลล์ผิว และร่างกายจำเป็นต้องขับสารพิษจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงส่งผลให้ผิวต้องขับน้ำออกมามากขึ้นจนผิวอ่อนแอลง

    อาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมด้วยเมื่อแพ้แอลกอฮอล์ อาจมีดังนี้

    • หายใจลำบาก หรือบางคนอาจมีโรคหอบหืดกำเริบ
    • ความดันโลหิตต่ำ ใจสั่น ใจเต้นเร็ว
    • คัดจมูก น้ำมูกไหล คลื่นไส้ อาเจียน
    • ปวดท้อง ท้องเสีย

    อาการแพ้แอลกอฮอล์ที่มีความรุนแรงเล็กน้อยอาจดีขึ้นได้โดยไม่ต้องเข้าพบคุณหมอ เพียงหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางชนิดที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ หรือลดปริมาณการดื่มให้น้อยลงเพื่อลดผลกระทบที่อาจก่อให้เกิดการแพ้

    แพ้แอลกอฮอล์ แก้ยังไง

    การรักษาอาการแพ้แอลกอฮอล์ คือ การหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีสารก่อภูมิแพ้ หรือลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันผลกระทบทางผิวหนัง สำหรับผู้ที่มีอาการผื่นลมพิษรุนแรงอาจต้องเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา ดังนี้

    • ยาแก้แพ้ เช่น ลอราทาดีน (Loratadine) เฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) เดสลอราทาดีน (Desloratadine) เซทิริซีน (Cetirizine)
    • ยาอื่น ๆ เช่น ยาต้านฮีสตามีน ยาต้านการอักเสบ ยากล่อมประสาท ยารักษาโรคหอบหืดกับยาแก้แพ้ ยากดภูมิคุ้มกัน

    การดูแลตัวเองเมื่อแพ้ แอลกอฮอล์

    การดูแลตัวเองเมื่อมีอาการผื่นลมพิษเนื่องจากแพ้แอลกอฮอล์ อาจมีดังนี้

    • ทาครีมหรือมอยเจอร์ไรเซอร์เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว โดยเฉพาะหลังจากอาบน้ำควรให้ความชุ่มชื้นกับผิวทันทีในขณะที่ผิวหมาด
    • สวมเสื้อผ้าที่หลวม เบาสบาย ระบายอากาศได้ดี เพื่อไม่ให้เกิดการอับชื้น
    • หลีกเลี่ยงการเกาหรือใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่รุนแรงเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคืองและบาดเจ็บได้
    • ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 หรือมากกว่า ก่อนออกไปเจอแสงแดดทุกครั้ง เพื่อปกป้องผิวจากการทำร้ายของรังสียูวีจนอาจทำให้ผิวอ่อนแอและเกิดปัญหาผิวได้ง่ายขึ้น
    • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ โดยการจดบันทึกสิ่งที่ตนเองแพ้ เช่น ส่วนผสมหรือชนิดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำให้แพ้ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา