backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ

1

ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ปากนกกระจอก รักษา และป้องกันได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

ปากนกกระจอก รักษา และป้องกันได้อย่างไร

ปากนกกระจอก เป็นภาวะผิวหนังบริเวณมุมปากที่เกิดการอักเสบจากเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย จนทำให้เกิดแผลพุพอง ซึ่งอาจรักษาได้ด้วยยาต้านเชื้อราและยาปฏิชีวนะต้านเชื้อแบคทีเรีย ทั้งชนิดใช้ภายนอกและชนิดรับประทาน เพื่อช่วยต้านการสะสมของเชื้อราและเชื้อแบคเรีย นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี ธาตุเหล็ก วิตามินซีและโฟเลต (Folate) อาจช่วยป้องกันปากนกกระจอกได้

คำจำกัดความ

ปากนกระจอก คืออะไร

ปากนกกระจอก คือ ภาวะผิวหนังบริเวณมุมปากเกิดการอักเสบจากเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะเชื้อราแคนดิดา (Candida) และเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอกคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากการที่น้ำลายสะสมอยู่บริเวณมุมปาก ซึ่งอาจทำให้มุมปากระคายเคือง แห้งและแตกจนเป็นแหล่งสะสมของเชื้อเหล่านี้ทำให้เกิดการอักเสบและเกิดเป็นแผลลุกลามขึ้น ส่วนใหญ่โรคปากนกกระจอกอาจพบได้ในผู้ที่มีภาวะน้ำลายมากกว่าปกติ ผู้ที่มีน้ำลายเอ่อบริเวณมุมปากมาก ซึ่งมักเกิดขึ้นในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กบางคนอาจมีน้ำลายมากและน้ำลายไหลตลอดเวลา

อาการ

อาการปากนกกระจอก

ปากนกกระจอกอาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • เลือดออกบริเวณมุมปาก
  • แผลพุพอง มีสีขาวและเปียกชื้น
  • บริเวณมุมปากมีอาการแดง บวมและคัน
  • ปากแตกเป็นสะเก็ด

สาเหตุ

สาเหตุของปากนกกระจอก

ปากนกกระจกอาจมีสาเหตุมาจากการสะสมของน้ำลายบริเวณมุมปากจนทำให้ปากแห้งแตก ทำให้เชื้อแบคทีเรียและเชื้อราสามารถเข้าไปในชั้นผิวหนังได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้เกิดการอักเสบและการติดเชื้อ นอกจากนี้ ปากนกกระจอกอาจมีสาเหตุมาจากปัญหาผิวหนังอื่น ๆ ได้อีก ดังนี้

  • โรคผิวหนังภูมิแพ้หรือโรคกลาก
  • น้ำลายไหลระหว่างการนอนหลับ
  • การติดเชื้อราหรือยีสต์ในปาก เช่น เชื้อราในช่องปาก
  • เด็กที่ดูดนิ้วโป้งหรือจุกนมหลอก
  • สวมหน้ากากอนามัยเป็นเวลานานจนเกิดการสะสมของแบคทีเรีย
  • ผู้ที่ใส่ฟันปลอมไม่พอดีจนอาจเกิดการเสียดสี

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงปากนกกระจอก

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดปากนกกระจอก ดังนี้

  • การใช้เครื่องสำอางหมดอายุ
  • ภาวะสุขภาพเรื้อรังและความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคเบาหวาน โรคลำไส้อักเสบ การติดเชื้อเอชไอวี
  • ดาวน์ซินโดรม อาจทำให้ผิวแห้ง แล้วการเอ่อของน้ำลายข้างปากมากขึ้น
  • การขาดวิตามินบี ธาตุเหล็ก หรือโปรตีน
  • น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว จนอาจทำให้ขาดสารอาหาร ผิวแห้งแตกได้
  • การสูบบุหรี่ สารเคมีที่ทำร้ายผิวทำให้ผิวแห้งมากขึ้น
  • ความเครียด ส่งผลต่อการสร้างคอลลาเจนอาจทำให้ขาดความยืดหยุ่น ผิวแห้งและแตกได้ง่าย

การวินิจฉัยและการรักษา

การวินิจฉัยปากนกกระจอก

คุณหมออาจตรวจสุขภาพปากเพื่อดูรอยแตก รอยแดง บวม ตุ่มน้ำหรือความผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจเป็นลักษณะของโรคชนิดอื่น เช่น โรคซิฟิลิส โรคเริม แผลพุพอง โรคภูมิแพ้ผิวหนัง โรคเยื่อหุ้มปอดอักเสบ โรคไลเคนพลานัสในช่องปาก (Oral Lichen Planus) ซึ่งเป็นภาวะที่ส่งผลต่อเยื่อบุผิวในปาก อาจทำให้เกิดรอยฝ้าสีขาว เนื้อเยื่อบวมแดง หรือแผลเปิด

ปากนกกระจอก รักษา อย่างไร

การรักษาปากนกกระจอกขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค ซึ่งส่วนใหญ่ปากนกกระจอกอาจเกิดจากการติดเชื้อที่มาจากน้ำลาย โดยการรักษาโรคปากนกระจอกอาจทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

ยาต้านเชื้อรา เป็นยาเฉพาะที่สำหรับทาบริเวณริมฝีปาก 3 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ เช่น

  • นิสแททิน (Nystatin) 100,000 หน่วย/มิลลิลิตร ทาวันละ 2 ครั้ง
  • ยาม่วง (Gentian Violet) ทาวันละ 3 ครั้ง มักใช้ในเด็กแต่อาจทำให้ปากมีสีม่วง
  • คีโตโคนาโซล (Ketoconazole 2%) ทาวันละ 2 ครั้ง
  • โคลไตรมาโซล (Clotrimazole 1%) ทาวันละ 2 ครั้ง
  • ไมโคนาโซล (Miconazole 2%) หรือไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone 1%) ทาวันละ 2 ครั้ง
  • ไอโอโดควินอล (Iodoquinol 1%) ทาวันละ 2 ครั้ง มักใช้ร่วมกับครีมไฮโดรคอร์ติโซน

ยาฆ่าเชื้อเฉพาะที่หรือยาปฏิชีวนะ ใช้สำหรับการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยใช้ประมาณ 4-5 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ เช่น

  • มิวพิโรซิน (Mupirocin 2%) ใช้วันละ 4 ครั้ง
  • ฟิวซิดิน (Fusidic Acid 2%) ใช้วันละ 2-3 ครั้ง

หากอาการไม่ดีขึ้นหรือแผลมีขนาดใหญ่ขึ้น คุณหมออาจให้ยาปฏิชีวนะสำหรับใช้ในช่องปาก

ยาต้านเชื้อราสำหรับใช้ในช่องปาก เช่น

  • นิสแททิน 5 มิลลิลิตร ใช้เป็นเวลา 7-14 วัน สำหรับรักษาเชื้อราในช่องปาก
  • โคลไตรมาโซล ใช้ 5 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 7-14 วัน สำหรับรักษาเชื้อราในช่องปากที่ไม่รุนแรง
  • ฟลูโคนาโซล (Fluconazole) รับประทาน 200 มิลลิกรัม เป็นเวลา 1 วัน จากนั้นรับประทานขนาด 100 มิลลิกรัมทุกวัน เป็นเวลา 7-14 วัน
  • อิทราโคนาโซล (Itraconazole) รับประทาน 200 มิลลิกรัม ทุกวันเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์
  • โพซาโคนาโซล (Posaconazole) รับประทาน 100 มิลลิกรัม เป็นเวลา 1 วัน จากนั้นรับประทานขนาด 100 มิลลิกรัม ทุกวันเป็นเวลา 7-14 วัน
  • โวริโคนาโซล (Voriconazole) แนะนำให้ใช้เมื่อรักษาด้วยฟลูโคนาโซล ไอทราโคนาโซลหรือโพซาโคนาโซลแล้วอาการไม่ดีขึ้น
  • แคสโปฟันจิน (Caspofungin) รับประทาน 70 มิลลิกรัม ครั้งเดียว จากนั้นรับประทานขนาด 50 มิลลิกรัม ทุกวันจนกว่าจะหายดี และรับประทานต่ออีก 2 วัน แล้วจึงหยุดยา
  • แอมโฟเทอริซิน (Amphotericin) รับประทาน 30-40 กรัม/วัน ทุกวันจนกว่าจะหายดี และรับประทานต่ออีก 2 วัน แล้วจึงหยุดยา

ยาต้านการอักเสบ (Glucocorticoids) เฉพาะที่ ใช้สำหรับเสริมการรักษาด้วยยาต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย เพื่อลดการอักเสบและป้องการการกำเริบของโรค เช่น

  • เดสโซไนด์ (Desonide 0.05%)
  • โคลไตรมาโซล
  • ไฮโดรคอร์ติโซน 1% หรือ ฟิวซิดิน 2%

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับปากนกกระจอก

การปรับพฤติกรรมบางอย่างเพื่อช่วยป้องกันปากนกกระจอกอาจทำได้ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้และสารระคายเคืองที่ผิวหนัง เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ น้ำหอม
  • รักษาความสะอาดภายในช่องปาก โดยการแปรงฟันเป็นประจำทุกวันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง คือ เช้าและก่อนนอน และอาจแปรงฟันหลังรับประทานอาหารเพิ่มด้วย เพื่อลดปริมาณเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก
  • รับประทานอาหารให้หลากหลาย อาหารที่รับประทานควรอุดมไปด้วยวิตามินบี 2 ธาตุเหล็ก วิตามินซีและโฟเลต เช่น ผักใบเขียว ตับ เครื่องใน ปลาทะเล ปู ไข่ ถั่ว ธัญพืช อะโวคาโด มะละกอ มะม่วง นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำให้มากขึ้นอย่างน้อย 1.5-2 ลิตร/วัน เพื่อให้ผิวชุ่มชื้น
  • ให้ความชุ่มชื้นบริเวณริมฝีปากด้วยลิปมัน ลิปบาล์ม ปิโตเลียมเจลหรือน้ำมันมะพร้าว
  • ไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากสารเคมีในบุหรี่อาจส่งผลต่อการเสื่อมสภาพของผิวหนังและทำให้ผิวแห้งมากขึ้น
  • ไม่ควรเลียปาก เนื่องจากแบคทีเรียในน้ำลายอาจทำให้ปากแห้งมากขึ้นและอาจทำให้เกิดการสะสมของแบคทีเรียบริเวณมุมปากได้
  • ไม่ใช้เครื่องสำอางที่หมดอายุ เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรียและอาจระคายเคือง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาผิวตามมาได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา