backup og meta

สิว ยีสต์ คืออะไร รักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/11/2022

    สิว ยีสต์ คืออะไร รักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง

    สิว ยีสต์ เป็นตุ่มบวมคล้ายสิว มีหนองอยู่ข้างใน เกิดจากรูขุมขนอักเสบ เนื่องจากการอับชื้นบริเวณผิวหนัง โดยเฉพาะหลังจากออกกำลังกายหรือเมื่อเผชิญกับสภาพอากาศร้อนชื้น ทั้งนี้ สิว ยีสต์อาจบรรเทาให้ดีขึ้นได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ร่วมกับการดูแลตัวเองด้วยการอาบน้ำทำความสะอาดผิวหน้าและร่างกายเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่ช่วยระบายความอับชื้นได้

    สิวยีสต์ คืออะไร

    สิวยีสต์เป็นตุ่มบวมบนผิวหนัง มีหนองอยู่ข้างใน และอาจมีอาการคันร่วมด้วย มักพบบริเวณหน้าผาก แขน หน้าอก และแผ่นหลัง และบ่อยครั้งเกิดขึ้นเป็นกลุ่มหรือคลัสเตอร์ (Cluster)

    ทั้งนี้ สิวยีสต์ไม่จัดเป็นสิว เนื่องจากไม่ได้เกิดจากการอุดตันของรูขุมขนเช่นเดียวกับสิวโดยทั่วไป แต่เกิดจากอักเสบของรูขุมขนเนื่องจากการเพิ่มจำนวนของเชื้อรากลุ่มมาลาสเซเซีย (Malassezia) บนผิวหนัง จากปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

    • ผิวหนังมีความชื้นเพิ่มขึ้นหลังจากการออกกำลังกาย
    • การสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่น หรือระบายความชื้นได้ไม่ดี
    • การสวมใส่เสื้อผ้าซ้ำโดยที่ยังไม่ได้ซัก
    • การใช้ยาต้านแบคทีเรีย ซึ่งส่งผลให้สมดุลระหว่างแบคทีเรียและเชื้อราบนผิวหนังถูกทำลาย
    • การบริโภคอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตซึ่งเป็นอาหารของเชื้อราบนผิวหนัง ทำให้เชื้อราเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว
    • การอาศัยอยู่ในบริเวณที่ร้อนและอับชื้นเป็นเวลานาน
    • ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอกว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ หรืออาการป่วยอย่างการติดเชื้อเอชไอวี

    สิว ยีสต์ รักษาอย่างไร

    คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าสิวยีสต์และสิวโดยทั่วไปนั้นเหมือนกันจึงเลือกรักษาสิวยีสต์ด้วยยาต้านสิว ซึ่งทำให้สิวยีสต์ไม่ดีขึ้น

    ทั้งนี้ การรักษาสิวยีสต์ที่เหมาะสม ควรปฏิบัติตัว ดังนี้

  • รับประทานยาต้านเชื้อรา จัดเป็นวิธีรักษาสิวยีสต์ที่อาจให้ผลลัพธ์ชัดเจนมากกว่าวิธีอื่น ๆ โดยยาที่คุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญจ่ายให้มักเป็นไอทราโคนาโซล (Itraconazole) แต่หากไม่ได้ผลคุณหมออาจจ่ายยาไอโซเทรติโนอิน (Isotretinoin) ให้
  • การใช้ผลิตภัณฑ์ต้านเชื้อราในรูปแบบครีมหรือยาทา เช่น ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) บิวทีนาฟีน (Butenafine) โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ซึ่งใช้รักษาโรคเกี่ยวกับเชื้อราอื่น ๆ อย่างน้ำกัดเท้าหรือสังคัง
  • ทั้งนี้ เมื่อเป็นสิวยีสต์ไม่ควรบีบหรือเกาบริเวณที่เป็นสิว เพราะอาจทำให้เชื้อราแพร่กระจายหรืออาการแย่ลงได้

    สิว ยีสต์ป้องกันอย่างไร

    การป้องกันสิวยีสต์ รวมถึงการดูแลตัวเองเพื่อให้สิวยีสต์หายเร็วขึ้น อาจปฏิบัติตัวตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

    • อาบน้ำและล้างหน้าเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้งและเช็ดผิวให้แห้ง โดยเฉพาะหลังจากเลิกงานหรือหลังออกกำลังกาย เพื่อกำจัดเชื้อราบนผิวหนังที่อาจกำลังเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วเนื่องจากความชื้น
    • เลือกทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะด้วยแชมพูกำจัดรังแค และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่มีตัวยาซิงค์ ไพริไธโอน (Zinc Pyrithione) หรือซีลีเนียม ซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) เป็นส่วนผสม เนื่องจากซิงค์ ไพริไธโอนมีคุณสมบัติยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อราและแบคทีเรีย ขณะที่ซีลีเนียม ซัลไฟด์มีสรรพคุณป้องกันและชะลอการเจริญเติบโตของเชื้อรา
    • เลือกสวมเสื้อผ้าที่เบาสบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป หรือทอจากเส้นใยธรรมชาติอย่างผ้าฝ้าย เพื่อช่วยลดความอับชื้นจากเหงื่อเมื่อเล่นกีฬาหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงที่อากาศร้อน
    • รับประทานอาหารให้หลากหลาย เนื่องจากการรับประทานอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง ส่งผลต่อการเพิ่มจำนวนของเชื้อราบนผิวหนังในผู้ป่วยบางราย ดังนั้น เพื่อป้องกันการเพิ่มจำนวนของเชื้อรา จึงควรรับประทานอาหารให้หลากหลาย ทั้งผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ และบริโภคอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตให้น้อยลง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา