backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ชันนะตุ อาการ สาเหตุ และการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 18/08/2023

ชันนะตุ อาการ สาเหตุ และการรักษา

ชันนะตุ เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อราบนหนังศีรษะ อาจพบได้บ่อยในเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน สามารถแพร่กระจายได้จากการสัมผัสกับคน สัตว์ สิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ มักทำให้มีอาการคัน ผิวหนังตกสะเก็ด อักเสบ มีหนอง และอาจทำให้ผมร่วง

คำจำกัดความ

ชันนะตุ คือ อะไร

ชันนะตุ คือ การติดเชื้อราบนหนังศีรษะ ส่วนใหญ่มักพบในเด็กเล็กหรือเด็กวัยเรียน โดยเฉพาะเด็กอายุ 3-7 ปี ทั้งยังเกิดได้ในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น การติดเชื้อเอชไอวี โรคแพ้ภูมิตัวเอง ชันนะตุสามารถแพร่กระจายได้ง่ายจากการสัมผัสกับคน สัตว์ หรือสิ่งของที่ติดเชื้อรา มักทำให้มีอาการคัน รอยแดง ตกสะเก็ด ผมขาดหลุดร่วง อาจรักษาได้ด้วยการรับประทานยาฆ่าเชื้อราและใช้แชมพูฆ่าเชื้อราเพื่อป้องกันการแพร่กระจายไปยังผู้อื่น

อาการ

อาการชันนะตุ

อาการชันนะตุที่พบบ่อย มีดังนี้

  • ผิวหนังตกสะเก็ดหรืออักเสบเป็นหย่อม ๆ
  • ผมเปราะ ขาดง่าย และผมร่วงบริเวณที่ผิวหนังตกสะเก็ดหรืออักเสบ
  • แผ่นสะเก็ดจะค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นและมีจุดสีดำบริเวณที่ผมหลุดร่วง
  • มีอาการเจ็บปวด คัน บริเวณหนังศีรษะ
  • อาจมีก้อนหนอง

หากมีอาการคันเรื้อรังมากขึ้น แผ่นสะเก็ดหรือการอักเสบจะลุกลามบนหนังศีรษะมากขึ้น อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ผมร่วงถาวร ผิวหนังบวมและมีหนอง เกิดแผลเป็น หัวล้านเป็นหย่อม ๆ ดังนั้น ควรรีบเข้าพบคุณหมอและทำการรักษา เพื่อบรรเทาอาการและป้องกันไม่ให้ชันนะตุลุกลาม

สาเหตุ

สาเหตุชันนะตุ

ชันนะตุเกิดจากเชื้อราที่เข้าทำลายผิวหนังบนหนังศีรษะและเส้นผม โดยแพร่กระจายผ่านการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง ส่งผลให้เกิดการอักเสบ ตกสะเก็ดและผมขาดหลุดร่วง ซึ่งเชื้อราที่ทำให้เกิดชันนะตุสามารถแพร่กระจายได้จากสิ่งต่อไปนี้

  • แพร่กระจายจากสัตว์สู่คน เช่น สุนัข แมว คนสามารถรับเชื้อราได้จากสัตว์ที่เป็นกลาก เกลื้อน ซึ่งการสัมผัสกับผิวหนังของสัตว์โดยตรงอาจเพิ่มโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อราได้
  • แพร่กระจายจากคนสู่คน การสัมผัสผิวหนังโดยตรงกับผู้ป่วยชันนะตุสามารถทำให้เชื้อแพร่กระจายได้
  • การแพร่กระจายจากวัตถุสู่คน การสัมผัสวัตถุที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น เสื้อผ้า เครื่องนอน ผ้าขนหนู หวี สามารถทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อสู่คนได้

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงชันนะตุ

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดชันนะตุ มีดังนี้

  • อายุ ชันนะตุอาจพบบ่อยในเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน เพราะเด็กวัยนี้มักชอบสัมผัสกับวัตถุ สัตว์ หรือคน ซึ่งอาจทำให้ติดเชื้อได้ง่าย
  • สัตว์เลี้ยง การสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงที่มีเชื้อรา หรือการสัมผัสกับสัตว์นอกบ้าน อาจเพิ่มความเสี่ยงได้
  • การสัมผัสกับเด็กคนอื่น ๆ เด็กเล็กที่ถึงวัยเข้าโรงเรียนอาจเริ่มเล่นและสัมผัสกับเด็กคนอื่น ๆ มากขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงแพร่เชื้อได้

การวินิจฉัยและการรักษา

การวินิจฉัยชันนะตุ

คุณหมออาจวินิจฉัยโรคชันนะตุด้วยการตรวจผิวหนัง สอบถามประวัติและอาการของโรค หรือคุณหมออาจขอเก็บตัวอย่างผิวหนังหรือผมบางส่วนและทำการทดสอบในห้องปฏิบัติการ เพื่อดูว่ามีการติดเชื้อราหรือไม่

การรักษาชันนะตุ

การรักษาโรคชันนะตุ คุณหมอจะให้ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทานกริซีโอฟูลวิน (Griseofulvin) ที่ต้องสั่งโดยคุณหมอเท่านั้น แต่หากมีอาการแพ้หรือยาไม่ออกฤทธิ์รักษา คุณหมออาจให้ยาทางเลือกอื่น ๆ เช่น เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) อิทราโคนาโซล (Itraconazole) ฟลูโคนาโซล (Fluconazole) อาจต้องใช้ยาเหล่านี้ในการรักษาอย่างน้อย 6 สัปดาห์ หรือจนกว่าผิวหนังจะหายเป็นปกติและมีผมงอกขึ้นใหม่

คุณหมออาจสั่งแชมพูต้านเชื้อราเพื่อกำจัดสปอร์ของเชื้อราที่ยังค้างอยู่และช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อราด้วย

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับชันนะตุ

ชันนะตุอาจป้องกันได้ด้วยการดูแลตัวเองและเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด ดังนี้

  • สระผมด้วยแชมพูอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะหลังจากตัดผม หรืออาจใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยป้องกันชันนะตุ เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันใส่ผมที่มีซิลิเนียม ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและอาจช่วยต้านเชื้อได้
  • อาจใช้แชมพูที่ใช้รักษาโรคชันนะตุสำหรับเด็ก ควรใช้ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ ติดต่อกันประมาณ 6 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการเกิดโรคซ้ำ
  • ควรทำให้ผิวสะอาดและแห้งอยู่เสมอ ด้วยการอาบน้ำอย่างสม่ำเสมอ และเช็ดตัวให้แห้งทุกครั้งหลังอาบน้ำ ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดแน่น เพราะอาจทำให้ระบายอากาศได้ไม่ดีจนเกิดการอับชื้น
  • ควรให้เด็กล้างมือทุกครั้งหลังจากสัมผัสกับสิ่งของ สัตว์ หรือใช้พื้นที่ส่วนกลาง เช่น โรงยิม โรงเรียน ห้องล็อกเกอร์ ศูนย์เด็กเล็ก
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน เช่น หวี หมวก ผ้าขนหนู เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
  • ควรทำความสะอาดหวีบ่อย ๆ โดยแช่หวีในสารฟอกขาวครึ่งส่วนผสมกับน้ำครึ่งส่วน วันละ 1 ชั่วโมง เพื่อฆ่าเชื้อที่อาจปนเปื้อนอยู่ในหวี
  • ควรซักผ้าขนหนูบ่อย ๆ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ ควรพาสัตว์เลี้ยงไปตรวจสุขภาพโดยสัตวแพทย์เป็นประจำ หากพบว่าสัตว์เลี้ยงในบ้านติดเชื้อ ควรแยกตัวและรีบรักษา

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 18/08/2023

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา