backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ อาการ สาเหตุ และการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 11/10/2022

ผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ อาการ สาเหตุ และการรักษา

ผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ เป็นโรคผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่อาจพบได้มากในเด็ก ผิวหนังอักเสบภูมิแพ้อาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่ไวต่อสิ่งกระตุ้นมากเกินไป ส่งผลทำให้ผิวเปลี่ยนเป็นสีแดง และมีอาการคัน โดยบริเวณที่อาจเกิดผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ ได้แก่ ใบหน้า ด้านในของศอก หลังหัวเข่า

คำจำกัดความ

ผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ คืออะไร

ผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (Atopic Dermatitis) เป็นโรคผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากระบบภูมิคุ้มกัน ที่ไวต่อสิ่งกระตุ้นมากเกินไป ซึ่งทำให้ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดง และมีอาการคัน โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ด้านในข้อศอกและหลังหัวเข่า

ผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ พบได้บ่อยเพียงใด

ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอาจเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย แต่อาจพบได้มากในเด็ก โปรดปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของผิวหนังอักเสบภูมิแพ้

อาการของผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ อาจมีดังนี้

  • อาการคันจากน้อยถึงมาก โดยเฉพาะตอนกลางคืน
  • มีรอยสีแดงจนถึงสีน้ำตาลปนเทา โดยเฉพาะที่มือ เท้า ข้อเท้า ข้อมือ คอ หน้าอกส่วนบน หนังตา ข้อศอก และหัวเข่าด้านใน สำหรับในเด็กทารกอาจพบได้ที่ใบหน้าและหนังศีรษะ
  • ก้อนเนื้อนูนขนาดเล็ก ซึ่งอาจมีของเหลวไหลออกมา และเป็นขุยเมื่อถูกขีดข่วน
  • ผิวหนังหนาขึ้น มีรอยแตก แห้ง และตกสะเก็ด
  • ผิวหนังอักเสบ ไวต่อสิ่งกระตุ้น และบวมจากการขีดข่วน

ควรไปพบหมอเมื่อใด

ควรไปพบหมอหากมีอาการดังต่อไปนี้

  • รู้สึกไม่สบาย นอนไม่หลับ หรือไม่มีสมาธิในทำกิจวัตรประจำวัน เนื่องจากความผิดปกติ
  • อาการปวดบริเวณผิวหนัง
  • อาการติดเชื้อที่ผิวหนัง เช่น รอยแดง มีหนอง มีสะเก็ดสีเหลือง
  • ลองรักษาด้วยตัวเองแต่ไม่ได้ผล
  • อาการผิดปกติที่ดวงตาหรือการมองเห็นที่เกิดจากสภาพผิวหนัง

ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์และระดับความรุนแรงของคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของผิวหนังอักเสบภูมิแพ้

สำหรับสาเหตุในการเกิดผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น

  • ผิวแห้งและระคายเคือง ซึ่งอาจลดความสามารถของผิวหนังในการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ
  • การแปรผันของยีนที่อาจส่งผลต่อหน้าที่การทำงานในการป้องกันตัวเองของผิวหนัง
  • ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน
  • เชื้อแบคทีเรีย เช่น สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) บนผิวหนัง ซึ่งอาจสร้างชั้นบาง ๆ ขึ้นมาเพื่อปิดกั้นต่อมเหงื่อ
  • สภาวะสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษ ฝุ่นละออง

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของผิวหนังอักเสบภูมิแพ้

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ อาจมีดังนี้

  • ประวัติส่วนตัวหรือครอบครัวเคยเป็นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ ภูมิแพ้ ไข้ละอองฟาง หรือหอบหืด
  • เป็นผู้ทำงานด้านการดูแลสุขภาพ ซึ่งสัมพันธ์กับผิวหนังที่มีการอักเสบ
  • เป็นโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder หรือ ADHD)

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลที่นำเสนอมิได้ใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยผิวหนังอักเสบภูมิแพ้

คุณหมออาจวินิจฉัยโรคผิวหนังอับเสบภูมิแพ้จากการซักถามประวัติเกี่ยวกับสุขภาพและอาจทำการทดสอบผิวหนังหรือการทดสอบอื่น ๆ โดยอาจวินิจฉันร่วมกับโรคผิวหนังอื่น ๆ เพื่อระบุอาการที่เกิดขึ้นพร้อมกับผิวหนังอักเสบภูมิแพ้

การรักษาผิวหนังอักเสบภูมิแพ้

โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้อาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่คุณหมออาจใช้ยาบางตัว เพื่อลดความรู้สึกไม่สบายที่เกิดจากอาการผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ซึ่งอาจมีดังนี้

  • ยาทาที่ควบคุมอาการคันและอักเสบ
  • ยาทาที่ช่วยซ่อมแซมผิวหนัง จำพวกยาในกลุ่มที่ยับยั้งแคลซินูริน (Calcineurin Inhibitor) ซึ่งเป็นยากดภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่ง เช่น ยาทาโครลิมัส (Tacrolimus) อย่างโปรโทพิค (Protopic) และยาพิเมโครลิมัส (Pimecrolimus) อย่างอีไลเดล (Elidel)
  • ยารักษาอาการติดเชื้อ
  • ยารักษาอาการคันชนิดรับประทาน
  • ยารับประทานหรือยาฉีดที่รักษาอาการอักเสบ

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่ช่วยรับมือกับผิวหนังอักเสบภูมิแพ้

การปรับพฤติกรรมบางอย่าง อาจช่วยให้โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ดีขึ้นได้ โดยวิธีต่าง ๆ อาจมีดังนี้

  • การอาบน้ำคลอรีน (Bleach Bath)
  • ทาครีมให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว 2 ครั้ง/วัน
  • หลีกเลี่ยงการเกาผิว เพราะอาจทำให้ผิวหนังเกิดแผลจนเกิดอาการติดเชื้อได้
  • ประคบเย็น เพื่อบรรเทาอาการระคายเคือง และอาการอักเสบ
  • อาบน้ำอุ่น
  • ใช้สบู่สูตรอ่อนโยน ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และน้ำหอม
  • ใช้เครื่องทำความชื้น
  • สวมใส่เสื้อผ้าสามารถระบายอากาศได้และเนื้อนุ่ม เช่น ผ้าฝ้าย รวมถึงไม่ควรใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวหนังเสียดสีกับเนื้อผ้าจนเกิดความระคายเคือง
  • จัดการกับความเครียดและความกังวล ด้วยการหากิจกรรมที่ชอบทำ เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 11/10/2022

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา