backup og meta

ผิวหนังอักเสบ (Eczema หรือ Dermatitis) สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 26/09/2022

    ผิวหนังอักเสบ (Eczema หรือ Dermatitis) สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

    ผิวหนังอักเสบ (Eczema หรือ Dermatitis) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่พบได้บ่อย เกิดจากการอักเสบหรือการระคายเคืองที่พบบ่อย ได้แก่  โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังหรือโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (Atopic dermatitis หรือ Atopic eczema) เนื่องจากผิวหนังสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นหรือสารก่อภูมิแพ้ เช่น สารเคมี ร่วมกับเกิดจากกรรมพันธุ์ อาการของโรคผิวหนังอักเสบที่พบมักแตกต่างกันไปตามสาเหตุ แต่ที่พบได้ทั่วไป เช่น มีผื่นแดง มีตุ่มใส ผิวแห้ง คันผิวหนัง โดยทั่วไปสามารถบรรเทาอาการของโรคผิวหนังอักเสบได้ด้วยการทายาเพื่อลดผดผื่นและอาการคัน แม้โรคนี้จะไม่ใช่โรคติดต่อและส่วนใหญ่สามารถบรรเทาอาการเองได้ แต่ก็ควรให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงในการโรค ทั้งนี้ หากรักษาด้วยยาแล้วอาการยังไม่ทุเลาหรือรุนแรงกว่าเดิม ควรเข้ารับการรักษากับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญโดยเร็วที่สุด

    ผิวหนังอักเสบ คืออะไร

    โรคผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema หรือ Dermatitis) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในเด็ก มักทำให้เกิดผื่นแดง ตุ่มนูนพอง หรือตุ่มน้ำที่ผิวหนัง ผิวหนังบริเวณที่อักเสบเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือน้ำตาลเข้ม รู้สึกระคายเคืองเมื่อสัมผัส และอาจแห้งลอก บวมแดง หรือคัน โดยเฉพาะตามข้อพับของร่างกายและผิวหนังบริเวณที่เสียดสีบ่อย ๆ เช่น คอ ข้อพับแขน ข้อพับขา รักแร้ ร่องก้น

    โรคผิวหนังอักเสบมีด้วยกันหลายชนิด ที่พบบ่อย เช่น โรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) โรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใส (Dyshidrosis) โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) โรคผื่นแพ้สัมผัส (Contact dermatitis) โดยทั่วไป ระดับความรุนแรงของโรคอาจมีทั้งแบบไม่แสดงอาการ แสดงอาการน้อย ไปจนถึงอาการรุนแรง ผื่นผิวหนังอักเสบลุกลามมาก โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสสิ่งกระตุ้น เช่น สภาพอากาศ สารเคมี ควันบุหรี่

    ผิวหนังอักเสบเกิดจากอะไร

    แม้จะยังไม่สามารถระบุสาเหตุของผิวหนังอักเสบที่แน่ชัดได้ แต่โรคนี้อาจเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้

    • ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรือสิ่งที่ระคายเคืองผิวหนัง
    • ผิวหนังของผู้ป่วยไวต่อสภาพแวดล้อมรอบตัว เช่น ความเย็น ความร้อน ฝุ่น ควันบุหรี่
    • สมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นภูมิแพ้หรือผิวหนังอักเสบ (กรรมพันธุ์)

    ทั้งนี้ หากมีสภาวะต่อไปนี้ อาจกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคผื่นผิวหนังอักเสบได้มากขึ้น

    • สวมใส่เสื้อผ้าเนื้อหยาบหรือสากผิว จนผิวระคายเคือง
    • เผชิญสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ร้อนหรือหนาวมากเกินไป
    • สัมผัสสารเคมีในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ ยาสระผม น้ำยาล้างจาน
    • สัมผัสขนของสัตว์บางชนิด
    • ติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจหรือเป็นไข้หวัด ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
    • เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น วิตกกังวล เครียด
    • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

    การรักษาผิวหนังอักเสบ

    วิธีการรักษา ผิวหนังอักเสบ อาจมีดังนี้

    • การใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่มีส่วนผสมของสารให้ความชุ่มชื้น เช่น กลีเซอรีน (Glycerin) กรดแลคติก (Lactic acid) ยูเรีย (Urea) ทาผิวหนังบริเวณที่อักเสบเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว เนื่องจากผิวบริเวณนั้นจะแห้งและระคายเคืองเป็นพิเศษ
    • การใช้สเตียรอยด์ (Topical Steriod) และยาแก้แพ้ชนิดรับประทาน (Antihistamine) เพื่อบรรเทาอาการระคายเคือง บวมแดงของผิวหนัง และอาจช่วยลดอาการคันได้ สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ยาทุกครั้ง
    • การทาคาลาไมน์เพื่อลดอาการระคายเคืองและคันบริเวณผิวหนังในกรณีที่ผิวหนังอักเสบลุกลาม คุณหมอหรือเภสัชกรอาจแนะนำให้ประคบผิวด้วยผ้าชุบน้ำเย็นหรือถุงประคบเย็น น้ำเย็นจะช่วยลดอาการคันและช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังช่วยให้ครีมหรือยาทาผิวมีประสิทธิภาพดีขึ้น

    วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็น ผิวหนังอักเสบ

    วิธีดูแลตัวเองเมื่อผิวหนังอักเสบ อาจมีดังนี้

    • ทาครีมหรือใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่เหมาะกับสภาพผิว เพื่อช่วยให้ผิวชุ่มชื้น
    • งดเกาผิวบริเวณที่คันหรืออักเสบ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ เกิดแผล หรืออาการลุกลาม
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งเร้าหรือสารก่อภูมิแพ้ เช่น เหงื่อ สบู่ ผงซักฟอก ฝุ่น ละอองเกสร
    • อาการผื่นผิวหนังอักเสบอาจเกิดจากภาวะเครียดหรือวิตกกังวล จึงควรหาวิธีคลายเครียด โดยอาจปรึกษาคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้วิธีที่เหมาะสมและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    ทาครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ 50 ขึ้นไป ก่อนออกไปข้างนอกอย่างน้อย 15 นาทีและทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะเมื่อแดดจัด เหงื่อออกมาก หรือเปียกน้ำ และพยายามอยู่ในที่ร่ม เนื่องจากแสงแดดอาจทำให้ผิวที่อักเสบระคายเคืองได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 26/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา