backup og meta

ผื่นผิวหนังในช่วงฤดูร้อน ควรดูแลอย่างไรไม่ให้ลุกลาม

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 29/03/2022

    ผื่นผิวหนังในช่วงฤดูร้อน ควรดูแลอย่างไรไม่ให้ลุกลาม

    ผื่นผิวหนังในช่วงฤดูร้อน คืออาการผิวหนังอักเสบที่เกิดขึ้นจากความร้อน เหงื่อ สภาพอากาศและสภาพแวดล้อมในช่วงที่อากาศร้อนจัด ทำให้ผิวหนังมีอาการระคายเคือง คัน อักเสบ บวมแดง มีทั้งลักษณะเป็นผดผื่นเล็ก ๆ ทั่วร่างกาย หรือปื้นแดงขนาดใหญ่ ทั้งนี้ ผื่นผิวหนังในช่วงฤดูร้อน สามารถจำแนกเป็นหลายชนิดด้วยกัน และควรหาวิธีดูแลเพื่อไม่ให้ลุกลามกลายเป็นโรคผิวหนังที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

    ทำความรู้จักกับ ผื่นผิวหนังในช่วงฤดูร้อน

    ผื่นผิวหนังในช่วงฤดูร้อน เกิดจากการที่ผิวหนังได้รับผลกระทบจากอากาศร้อน รวมทั้งเหงื่อที่หมักหมม จนกลายเป็นสาเหตุของผิวหนังอักเสบ ทำให้รู้สึกคัน ผิวหนังบวมแดง ผดผื่นขึ้นทั่วร่างกาย หรืออาจถึงขั้นกลายเป็นแผลพุพอง จนติดเชื้อและกลายเป็นโรคผิวหนังได้ ทั้งนี้ ผื่นผิวหนังในช่วงฤดูร้อนนั้นแบ่งออกเป็นหลายชนิด ดังนี้

    ผื่นดำแพ้แสง  

    ผื่นดำแพ้แสงแดด หรือบางครั้งจะถูกเรียกว่า “โรคผิวหนังมาร์การิต้า” เกิดขึ้นได้เมื่อสารประกอบในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทาลงบนผิวมีส่วนผสมของมะนาว หรือสารประกอบเคมีฟูโรคูมาริน (Furocoumarin) ซึ่งพบได้ในผลไม้รสเปรี้ยวและพืชอื่นๆ ถูกกระตุ้นด้วยรังสียูวีเอ (UVA) ทำให้เกิดผื่นไหม้บนผิวหนัง

    อาจเกิดแผลพุพอง หรือผื่นแดงคันบริเวณผิวหนัง โดยอาการแย่ที่สุดจะเกิดขึ้นภายใน 2-3 วัน ผื่นแพ้อาจปรากฏเป็นรูปหยดน้ำ เป็นริ้ว หรือรูปแบบที่ผิดปกติอื่น ๆ อาจรักษาด้วยการประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการปวด เมื่อแผลหายดีแล้ว ผิวหนังบริเวณดังกล่าวอาจมีสีเข้มขึ้น หรือมีรอยด่างดำ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะหายไป หากกังวลเรื่องรอยแผลเป็น ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการใช้ครีมสเตียรอยด์เฉพาะที่

    ผื่นแพ้ทะเล  

    ผื่นแพ้ทะเลมักเกิดขึ้นหลังจากที่แช่ตัวอยู่ในทะเล ซึ่งผื่นชนิดนี้มักจะรู้จักกันโดยทั่วไปว่าเกิดจาก “แตนทะเล” แต่จริง ๆ แล้ว เกิดขึ้นจากแมงกะพรุน หรือดอกไม้ทะเลมาติดที่ชุดว่ายน้ำแล้วปล่อยสารพิษออกมาจนทำให้เกิดอาการแพ้ที่ผิวหนัง ซึ่งมักจะรู้สึกเจ็บแปลบที่ผิวหนังขณะว่ายน้ำ หลังจากนั้นประมาณ 4-24 ชั่วโมง จะมีตุ่มแดง ตุ่มคัน ที่ดูเหมือนแมลงกัดต่อย หรือลมพิษปรากฏขึ้นบนผิวหนังบริเวณใต้ร่มผ้า

    วิธีแก้ คือเมื่อรู้สึกแสบร้อนขณะว่ายน้ำ ให้รีบขึ้นจากน้ำ ถอดชุดว่ายน้ำ และอาบน้ำทันที ล้างชุดว่ายน้ำให้สะอาดในน้ำร้อน เพื่อกำจัดสิ่งมีชีวิตที่อาจจะหลงเหลืออยู่ นอกจากนั้น ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการใช้ยาต้านฮีสตามีนหรือคอร์ติโซนเฉพาะที่ เพื่อบรรเทาอาการคัน แต่หากเป็นเด็ก ควรปรึกษาคุณหมอและใช้ยาด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการใช้ครีมบริเวณขาหนีบและใบหน้าเพราะผิวหนังค่อนข้างบอบบางอาจแพ้ยาได้

    ผื่นหอยคัน  

    ผื่นหอยคันนี้จะเกิดขึ้นกับผู้ที่ชอบเล่นตามแหล่งน้ำจืดธรรมชาติ ผื่นมักจะเกิดขึ้นในนอกร่มผ้า มักมีสาเหตุมาจากปรสิตที่อยู่บนหอยทาก การติดเชื้อนั้นสามารถติดได้จากน้ำอุ่น น้ำบ่อ น้ำในทะเลสาบ น้ำในลำธาร อาการแพ้จะปรากฏเป็นรอยแดงเล็ก ๆ หรือรอยแดงขนาดใหญ่ขึ้นอยู่กับสภาพผิวหนังแต่ละคน

    สำหรับการบรรเทาอาการคัน สามารถทำได้ด้วยการอาบน้ำด้วยดีเกลือ (Epsom Salt) ข้าวโอ๊ตบด ทาเบกกิ้งโซดา หรือประคบเย็นลงบนผิวหนังที่ได้รับเป็นผื่น แต่หากพยายามรักษาด้วยตนเองแล้วอาการคันไม่หายไปควรพบคุณหมอ เพื่อปรึกษาถึงตัวยาและวิธีรักษา หรืออาจปรึกษาเภสัชกรถึงยาต้านฮีสตามีนหรือคอร์ติโซนตามร้านขายยาทั่วไป สำหรับใช้ทาเฉพาะบริเวณที่เกิดอาการว่ามีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง

    วิธีหลีกเลี่ยงผื่นหอยคันสามารถทำได้โดยพยายามอยู่ห่างจากบริเวณที่มีหอยทากอาศัยอยู่ หรือหากรู้สึกแสบคันเมื่อลงไปเล่นน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ รีบขึ้นจากน้ำ แล้วใช้ผ้าขนหนูถูผิวบริเวณที่แสบคันทันที จากนั้นถอดชุดว่ายน้ำ และอาบน้ำโดยเร็วที่สุด

    ผื่นในอ่างน้ำร้อน หรือ รูขุมขนอักเสบ  

    เมื่อแช่ในน้ำที่ปนเปื้อนด้วยแบคทีเรียซูโดโมแนส ออรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) หลังจากนั้น 1-2 วัน อาจจะมีผื่นเกิดขึ้นที่ผิวหนังซึ่งเรียกว่า “รูขุมขนอักเสบในอ่างน้ำร้อน” ซึ่งพบได้บ่อยหลังจากอาบน้ำในสระอุ่น เนื่องจากน้ำร้อนหรือน้ำอุ่นจะสลายคลอรีนที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย อย่างไรก็ตาม ผื่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้หากว่ายน้ำในสระที่ไม่ได้รับการดูแล

    อาการของผื่นในอ่างน้ำร้อน ได้แก่ ผื่นแดงคัน มีขนาดเล็ก โดยจะสังเกตเห็นผื่นคันรอบ ๆ รูขุมขนหากเกิดอาการแพ้ แม้ว่าผื่นชนิดนี้จะสามารถหายได้เอง แต่ควรไปพบคุณหมอ หากไม่หายไปภายใน 2-3 วัน โดยคุณหมออาจจะสั่งยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานให้เพื่อรักษาอาการแพ้ดังกล่าว

    ผื่นร้อน

    ผื่นร้อน หรือผด เกิดขึ้นเมื่อเหงื่อเข้าไปอุดตันในรูขุมขนและสะสมใต้ผิวหนัง มักจะพบบ่อยในเด็กทารก แต่จริง ๆ แล้วเกิดขึ้นได้กับทุกวัย โดยเฉพาะเมื่อต้องออกไปเผชิญอากาศที่ร้อนจัดและชื้น โดยลักษณะของผื่นร้อนนั้นจะปรากฏเป็นตุ่มแดงเล็ก ๆ หรือตุ่มใสที่แตกได้ง่าย มีแนวโน้มที่จะเกิดได้มากที่สุดในบริเวณผิวหนังที่มีการเสียดสี เช่น รักแร้ ข้อศอก ขาหนีบ ผื่นร้อนมักจะหายไปเอง แต่สามารถบรรเทาอาการคันได้ด้วยการทำให้ผิวหนังเย็นลง ถอดเสื้อผ้าที่ใส่อยู่หากรัดแน่นเกินไป และพยายามหาทางลดอาการเหงื่อออก

    นอกจากนั้น ผื่นร้อนยังป้องกันได้ด้วยวิธีเหล่านี้ เช่น สวมเสื้อผ้าฝ้ายที่มีน้ำหนักเบา ใส่พอดีตัวไม่คับจนเกินไป ใช้มอยส์เจอไรเซอร์ โลชั่น แทนที่จะใช้ครีมหรือขี้ผึ้งเพื่อทาบำรุงผิว พยายามอยู่ในที่ร่มหรืออาคารที่มีเครื่องปรับอากาศ และหลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดโดยเฉพาะช่วงเวลากลางวัน

    ผื่นหลายรูปแบบจากแสงแดด 

    ผู้ที่มีความไวต่อแสงแดดเมื่อสัมผัสกับรังสียูวีที่เข้มข้น อาจทำให้เกิดผื่นที่แตกออกเป็นก้อนคล้ายกับรังผึ้ง หรือที่เรียกว่า “ผื่นหลายรูปแบบจากแสงแดด” โดยผื่นจะปรากฏบริเวณหน้าอก คอ แขน และใบหน้า พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงและผู้ที่มีผิวขาว โดยจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในแต่ละฤดู

    เพื่อบรรเทาอาการคันและผื่นแพ้ ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการรับประทานยาแก้แพ้ หรือทาครีมแก้คัน ในกรณีที่รุนแรงคุณหมออาจจะสั่งยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่ การป้องกันการเกิดผื่นหลายรูปแบบจากแสงแดดทำได้โดยพยายามอยู่ในที่ร่มให้มากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงเวลา 10.00-14.00 น. เนื่องจากรังสียูวีเอ (UVA) สามารถทำให้เกิดผื่นหลายรูปแบบจากแสงแดดได้ หรือหากจำเป็นต้องอยู่ข้างนอกให้คลุมผิวด้วยเสื้อผ้าสีอ่อน และทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30+ ในบริเวณที่ต้องสัมผัสกับแสงแดด

    ผื่นแผลพุพอง  

    แผลพุพองคือการติดเชื้อไวรัสของแผลที่เต็มไปด้วยของเหลวขนาดเล็ก มักเกิดขึ้นรอบบริเวณริมฝีปาก หากเคยเป็นผื่นแผลชนิดนี้แล้วมักเป็นซ้ำบ่อยขึ้นเมื่อถึงฤดูร้อน เนื่องจากแสงแดดเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดแผลพุพองได้ง่าย

    เพื่อป้องกันการเกิดผื่นแผลพุพองและกลับเป็นซ้ำ ควรทาครีมกันแดดบนริมฝีปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีประวัติเป็นโรคเริม และถ้ารู้สึกว่ามีไข้ร่วมด้วย ควรไปพบคุณหมอ เพราะอาจจำเป็นต้องรับปรทานยาต้านไวรัสภายใน 24-36 ชั่วโมงแรกหลังเริ่มมีอาหาร เพื่อช่วยป้องกันหรือชะลอการเกิดแผลพุพองได้

    วิธีการดูแลตัวเองเมื่อเกิด ผื่นผิวหนังในช่วงฤดูร้อน

    ผื่นผิวหนังในช่วงฤดูร้อนส่วนใหญ่มักไม่เป็นอันตรายและจะหายไปเองหลังจากผ่านไป 2-3 วัน ผื่นส่วนใหญ่ดูแลและรักษาได้ด้วยตัวเอง โดยสามารถทำตามขั้นตอนเหล่านี้ ได้แก่

    • สวมเสื้อผ้าบาง ๆ นุ่ม ๆ หลวม ๆ ที่ไม่กักความร้อนและความชื้น เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าธรรมชาติดีที่สุด เช่น ผ้าฝ้าย
    • ใช้เวลาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เย็น มีเครื่องปรับอากาศ หรือมีอากาศถ่ายเทสะดวก
    • อาบน้ำเย็น หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนจัด
    • ถามคุณหมอหรือเภสัชกรว่ามีครีมหรือยาเม็ดที่จะช่วยบรรเทาอาการผื่นได้หรือไม่
    • อย่าเกาบริเวณที่รู้สึกคันหรือระคายเคือง เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงและติดเชื้อได้
    • ดื่มน้ำให้มาก ๆ
    • หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดให้ได้มากที่สุด และทาครีมกันแดดทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 29/03/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา