backup og meta

แพ้เหงื่อตัวเอง โรคผิวหนังที่เกิดจากความร้อน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/05/2022

    แพ้เหงื่อตัวเอง โรคผิวหนังที่เกิดจากความร้อน

    แพ้เหงื่อตัวเอง เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่งที่เกิดจากความร้อน เมื่อทำกิจกรรมที่ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น เช่น ออกกำลังกาย รับประทานอาหารเผ็ดร้อน แล้วมีเหงื่อไหล ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะตอบสนองต่อส่วนประกอบของเหงื่อและกระตุ้นให้เกิดเป็นตุ่มนูนแดง ตุ่มใส หรือผื่นนูนแดงกระจายเป็นวงกลม ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับผิวหนังทุกที่ที่มีรูขุมขุน แต่อาจพบบ่อยบริเวณลำคอ ต้นแขน และซอกพับผิวหนัง โดยทั่วไป ภาวะแพ้เหงื่อตัวเอง สามารถหายเองได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง แต่หากมีผื่นหรือตุ่มรุนแรงขึ้น และมีอาการอื่น เช่น หายใจไม่สะดวก ปากบวม ตาบวม ปวดท้องร่วมด้วย อาจต้องไปพบคุณหมอโดยเร็ว

    แพ้เหงื่อตัวเอง เกิดจากอะไร

    แพ้เหงื่อตัวเอง เป็นภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อความร้อนเมื่อได้รับความร้อนมากเกินไป เมื่อเจออากาศร้อนจัดจนทำให้เหงื่อออก สารประกอบในเหงื่ออาจกระตุ้นให้ผิวหนังระคายเคือง อีกทั้งเหงื่อยังอาจทำให้ผิวหนังอับชื้นและเสียดสีกันมากขึ้น และกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราบนผิวหนัง จนทำให้เกิดผื่นคันได้ทุกบริเวณของร่างกาย แต่อาจพบมากที่ใบหน้า ลำคอ หน้าอก แขนขา ซอกพับผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณที่มีเหงื่อออกมาก ผู้มีอาการแพ้เหงื่อตัวเองจะมีปฏิกิริยาต่อเหงื่อไวกว่าปกติ จึงอาจทำให้เกิดอาการคันหรือผดผื่นซ้ำได้เมื่อมีเหงื่อออก

    อาการของภาวะ แพ้เหงื่อตัวเอง

    อาการที่พบได้ทั่วไป อาจมีดังนี้

    • มีผื่นแดง ตุ่มใส ขึ้นในบริเวณที่เหงื่อออก โดยเฉพาะใบหน้า ซอกคอ ซอกพับผิวหนัง ๆ
    • รู้สึกคันมากเมื่อเหงื่อออก
    • ใบหน้า ลิ้น หรือแขนขาบวมแดง
    • ปวดศีรษะ หรือวิงเวียนศีรษะ
    • หายใจลำบาก
    • ปวดท้อง

    การวินิจฉัย ภาวะแพ้เหงื่อตัวเอง

    ในเบื้องต้น คุณหมอจะวินิจฉัยด้วยการสอบถามเกี่ยวกับประวัติโรคภูมิแพ้ต่าง ๆ  เช่น โรคผิวหนังอักเสบ โรคภูมิแพ้อากาศ โรคหอบหืดเนื่องจากเป็นอาการที่พบได้ในผู้ที่มีประวัติเป็นภูมิแพ้มาก่อน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงเกิดโรคแพ้เหงื่อตัวเองได้ง่ายกว่าคนทั่วไป และอาจสอบถามเกี่ยวกับลักษณะของผื่นคันและอาการร่วมอื่น ๆ นอกจากนี้ คุณหมออาจตรวจดูผื่นคันด้วยตาเปล่า และแนะนำวิธีการดูแลตัวเองในเบื้องต้น เช่น แนะนำให้เลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดเหงื่อ แต่หากไปพบคุณหมอในขณะที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรงมาก คุณหมออาจให้ลองทดสอบปั่นจักรยานอยู่กับที่เป็นเวลาประมาณ 15 นาที หรือฉีดยาเมธาโคลีน (Methacholine) ที่ทำให้หลอดลมหด เพื่อดูอาการที่อาจเกิดขึ้น

    วิธีรักษาภาวะแพ้เหงื่อตัวเอง

    ภาวะแพ้เหงื่อตัวเอง อาจรักษาได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • ใช้ยาแก้แพ้ (Antihistamine) เป็นยารักษาภูมิแพ้หรือยาต้านฮีสตามีน เช่น ยาเซทิริซีน (Cetirizine) ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ยาไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine) ยาเฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) ยาลอราทาดีน (Loratadine) สำหรับอาการแพ้ที่ไม่รุนแรงมาก อาจช่วยบรรเทาอาการคันและผื่นคันที่เกิดขึ้นได้
    • ฉีดยาอะดรีนาลีน (Adrenaline) เป็นยาที่ใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น ยาเอพิเนฟรีน (Epinephrine) สำหรับอาการแพ้ที่รุนแรงและเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิต ยาจะช่วยขยายช่องทางเดินหายใจเมื่อมีอาการหายใจไม่ออก กระตุ้นความดันโลหิต และลดอาการบวมบริเวณใบหน้า

    วิธีป้องกันและดูแลตัวเองเมื่อ แพ้เหงื่อตัวเอง

    การป้องกันและวิธีดูแลตัวเอง อาจทำได้ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดเหงื่อและผื่นคัน
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักที่ทำให้เหงื่อออก โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน
  • ใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน และควรเลือกเสื้อผ้าไม่รัดแน่นจนเกินไป เพื่อลดการเสียดสีของผิวหนังและการระคายเคือง
  • ลดการรับประทานอาหารเผ็ดร้อน เพราะอาจกระตุ้นให้เหงื่อออกง่ายขึ้น
  • งดอาบน้ำอุ่น เพราะอาจทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้น และกระตุ้นให้เหงื่อออก
  • หลีกเลี่ยงการออกแดดหรืออยู่ในสถานที่ที่อากาศร้อนอบอ้าว
  • ไม่ปล่อยให้มีเหงื่ออยู่บนร่างกายนาน ควรอาบน้ำทันทีหลังทำกิจกรรม และซับตัวให้แห้งสนิทหลังอาบน้ำ
  • ทำให้พื้นที่ภายในบ้านมีอากาศถ่ายเท ระบายอากาศได้ดี เพื่อไม่ให้บ้านร้อนจนเหงื่อออกง่าย
  • ซักทำความสะอาดปลอกหมอนและเครื่องนอนเป็นประจำ เพื่อป้องกันไม่ให้ที่นอนเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคเพราะมีคราบเหงื่อ หรือคราบน้ำลายสะสม จนอาจทำให้เกิดผื่นคัน หรือผิวหนังติดเชื้อได้
  • เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    โดยทั่วไป อาการแพ้เหงื่อตัวเองมักไม่รุนแรงมากนัก ผื่นคันและรอยแดงต่าง ๆ อาจยุบตัวและหายไปได้เองภายใน 30 นาที – 1 ชั่วโมง หรืออาจนานถึง 24 ชั่วโมง หากดูแลตัวเองเบื้องต้นด้วยแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรืออาการยิ่งแย่ลง อาจต้องไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำแนะนำและรับการรักษาอย่างถูกวิธี

    อาการที่ควรไปพบคุณหมอ อาจมีดังนี้

    • ผิวหนังบริเวณที่อักเสบบวมขึ้นจนรู้สึกเจ็บ สัมผัสแล้วรู้สึกอุ่นหรือร้อน ผิวหนังแดง มีหนองไหลจากตุ่มหรือผื่น อาจไปพบเภสัชกรตามร้านขายยาหรือไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรับยารับประทานหรือยาทาภายนอกเพื่อบรรเทาอาการ
    • มีอาการตาบวม ปากบวม แน่นหน้าอก หายใจลำบาก และปวดท้องร่วมด้วย ซึ่งมักเป็นอาการของภาวะแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาแพ้ที่เกิดขึ้นรุงแรงและฉับพลัน ควรไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา